กรุงเทพฯ--3 เม.ย.--ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย
เนื่องในวโรกาส สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สภานายิกาสภากาชาดไทย ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษาในวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2555 จึงเป็นโอกาสอันดีที่ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย เชิญชวนประชาชนชาวไทย รวมใจแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะ ให้ได้ผู้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะจำนวน 80,000 ราย เพื่อน้อมนำให้คนไทยร่วมแสดงความจงรักภักดีต่อแม่ของแผ่นดินในโอกาสอันเป็นมหามงคลยิ่งใหญ่
นายแพทย์วิศิษฏ์ ฐิตวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย กล่าวว่า ปัจจุบัน มีผู้ป่วยที่รอคอยการปลูกถ่ายอวัยวะมากถึง 3,166 ราย ในปี 2554 มีผู้ป่วยได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะเพียง 276 คน จากผู้บริจาคอวัยวะจำนวน 113 ราย โดยมีผู้เสียชีวิตระหว่างรอรับบริจาคอวัยวะ ซึ่งโดยเฉลี่ยใน 1 สัปดาห์ จะมีผู้ป่วยเสียชีวิตจากการรอคอยอวัยวะบริจาค ประมาณ 3 ราย เนื่องจากอุปสรรคและข้อจำกัดหลายประการ อาทิ การขาดความรู้ ความเข้าใจ และทัศนคติที่ดีต่อการบริจาคอวัยวะ ตลอดจนกระบวนการ และขั้นตอนที่ซับซ้อน อีกทั้งต้องแข่งกับเวลาในการนำอวัยวะที่ได้รับบริจาคไปสู่การปลูกถ่ายแก่ผู้ป่วย นอกจากนี้ยังมีอวัยวะที่สำคัญอีกก็คือ ตับ และหัวใจ หากไม่ได้รับการปลูกถ่าย ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ในเวลาอันรวดเร็ว เพราะการปลูกถ่ายอวัยวะเป็นการรักษาผู้ป่วยในระยะสุดท้ายที่ไม่สามารถจะรักษาด้วยวิธีใดได้แล้ว โดยเฉพาะ อย่างยิ่ง “โรคไต” ซึ่งเป็นโรคที่คนไทยเป็นกันมาก และต้องเสียค่าใช้จ่ายในการฟอกไตเป็นจำนวนมาก ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วย และญาติ ต้องสูญเสียทั้งเวลา และการดูแลรักษา หากผู้ป่วย ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะจากผู้เสียชีวิตนั้น จะทำให้ผู้ป่วยกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ที่ผ่านมายังคงมีประชาชนสับสนระหว่าง การบริจาคอวัยวะ และการบริจาคร่างกาย โดยการบริจาคร่างกายนั้น เป็นการนำร่างผู้อุทิศร่างกายให้นักศึกษาแพทย์ได้ศึกษา ส่วนการบริจาคอวัยวะเพื่อการปลูกถ่าย คือ การนำอวัยวะบางส่วน เช่น หัวใจ ปอด ตับ ไต ฯลฯ ไปเปลี่ยนให้กับผู้ป่วยที่อวัยวะนั้น ๆ เสื่อมสภาพ เพื่อให้มีชีวิตใหม่ที่ดีขึ้น ซึ่งผู้บริจาคต้องเสียชีวิตเนื่องจาก สมองตายเท่านั้น ส่วนสมองตายคือ ภาวะที่แกนสมองถูกทำลายจนสูญเสี่ยการทำงานโดยสิ้นเชิง และถาวร ถึงแม้จะกระตุ้นด้วยวิธีใดๆ ก็จะไม่ตอบสนอง ไม่มีการไอ จาม ไม่สามารถหายใจด้วยตนเอง และแม้จะใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือยากระตุ้นใดๆ ก็ไม่สามารถเยียวยารักษาให้กลับมาฟื้นคืนชีวิตได้อีก ถือได้ว่าผู้นั้นเสียชีวิตแล้ว
อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ ยังมีข้อโต้แย้งว่า สมองตาย...ตายจริงหรือ ? ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานฉบับปัจจุบัน ได้ให้ความหมายของ “ตาย” ว่า ตาย ๑ ก. สิ้นใจ, สิ้นชีวิต, ไม่เป็นอยู่ต่อไป, สิ้นสภาพของการมีชีวิต, เช่น สภาวะสมองตาย; เคลื่อนไหวไม่ได้ ในพ.ศ. ๒๕๕๑ แพทยสภาจึงได้ออกข้อบังคับแพทยสภา ฯ เพื่อระบุความหมายการตายของบุคคลให้ชัดเจนขึ้นว่า การตายของบุคคล หมายถึง “บุคคลอยู่ในสภาวะที่ระบบการไหลเวียนเลือด และระบบการหายใจหยุดทำงาน โดยไม่สามารถกลับคืนได้อีก หรืออยู่ในสภาวะสมองตาย คือ การที่แกนสมองถูกทำลายจนสิ้นสุดการทำงานโดยสิ้นเชิงตลอดไป” และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๖ ตอนพิเศษ ๗๐ หน้า ๓๙ ลงวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๕๒ เพื่อประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน (โดยสามารถดูรายละเอียดเรื่องสมองตาย ได้ที่หนังสือวันศูนย์ หน้า 52 เรื่อง คลายสงสัย : ภาวะสมองตายกับการปลูกถ่ายอวัยวะ )
อัตราการบริจาคอวัยวะในแต่ละประเทศนั้นมีความแตกต่างกันอย่างมากในหลายๆ ประเทศ โดยขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ อาทิ การศึกษา ทัศนคติ ความเชื่อ ค่านิยม และกฎหมาย ในบางประเทศประสบผลสำเร็จอย่างมากในการเพิ่มจำนวนผู้บริจาคอวัยวะ เช่น ประเทศสเปนที่อัตราการบริจาคอวัยวะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผลจากรัฐบาลให้การสนับสนุนประชาชนให้เข้าใจ และเข้าถึงสิทธิการรักษาและการปลูกถ่ายอวัยวะอย่างเต็มที่ รวมทั้งยังมีแพทย์เพียงพอที่จะทำหน้าที่ในการขอรับบริจาคอวัยวะเหล่านั้นกับญาติผู้เสียชีวิต ทำให้ประชาชนในประเทศนั้นๆ ตระหนักและเห็นความสำคัญต่อการบริจาคอวัยวะอย่างมาก สำหรับในประเทศไทยเพิ่งจะเริ่มต้นไม่นาน อีกทั้งประเทศไทยนับถือศาสนาพุทธยังคงมีความเชื่อในเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด ทำให้ประชาชนกลัวการเกิดมาในชาติหน้ามีอวัยวะไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ นอกจากนี้ แม้ท่านเองจะเป็นผู้แสดงความจำนงในการบริจาค แต่ญาติหรือคนในครอบครัวเดียวกันไม่อนุญาต การบริจาคอวัยวะก็ถือว่าไม่สมบูรณ์ เพราะท้ายที่สุดแล้วเมื่อผู้บริจาคเสียชีวิต ญาติก็ต้องเป็นผู้เซ็นยินยอมก่อนนำเอาอวัยวะไปปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วย
ตลอดระยะเวลา 18 ปี ที่ผ่านมานั้น ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย ได้ดำเนินบทบาทในฐานะศูนย์กลางการรับบริจาคอวัยวะและประสานงานเพื่อนำไปจัดสรรให้แก่ผู้ป่วยที่ลงทะเบียนขอรับบริจาคอย่างเป็นธรรม เสมอภาค โปร่งใส เพื่อให้ชีวิตใหม่และช่วยเหลือผู้ป่วยให้ได้กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพื่อประโยชน์ต่อครอบครัวและสังคม โดยมีผู้แจ้งความจำนงในการบริจาคอวัยวะไว้ทั้งสิ้นกว่า 631,467 คน จากประชากรกว่า 60 ล้านคน ทั่วประเทศ ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขที่น่าเป็นห่วงมาก อัตราส่วนที่เพียงพอหรือเหมาะสม ควรจะมีผู้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะอยู่ที่ราวๆ 20 ล้านคนทั่วประเทศ
สุดท้ายนี้ นายแพทย์วิศิษฏ์ ฐิตวัฒน์ กล่าวปิดท้ายว่า “เนื่องในวโรกาส สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สภานายิกาสภากาชาดไทย ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษาในวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2555 จึงเป็นโอกาสอันดีที่ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย เชิญชวนประชาชนชาวไทย ร่วมแสดงความจงรักภักดีต่อแม่ของแผ่นดินบริจาคอวัยวะ จำนวน 80,000 ราย อันจะเป็นการสร้างกุศลอันยิ่งใหญ่ และสูงสุดในการให้การรักษา และช่วยชีวิตผู้ป่วยที่ต้องการปลูกถ่ายอวัยวะ อีกทั้งยังช่วยสร้างทัศนคติที่ดีต่อการบริจาคอวัยวะ ซึ่งไม่เพียงเฉพาะแต่ผู้บริจาคเท่านั้น แต่รวมไปถึงครอบครัวของผู้บริจาคอีกด้วย”
การให้ที่สมบูรณ์แบบที่สุด คือ การให้โดยไม่หวังผลตอบแทน ซึ่งผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะจะสามารถมีชีวิตอยู่เพื่อที่จะสร้างคุณงามความดี ให้กับสังคม อวัยวะ ซื้อขายไม่ได้ แต่สามารถให้กันได้ด้วยใจ ด้วยการแสดงความจำนงในการบริจาคอวัยวะ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.organdonate.in.th หรือ สายด่วนศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย โทร. 1666
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
นพรัตน์ เงาอำพันไพฑูรย์
เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย
โทร 02 256 4045 -6 ต่อ 2512 หรือ 087 352 3097