กรุงเทพฯ--3 เม.ย.--สสวท.
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก เป็นปัญหาที่มนุษย์ทั้งโลกกำลังเผชิญร่วมกัน สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้มีการจัดประชุมวิชาการ การนำเสนอผลงานวิจัย วิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบ ระดับโรงเรียน ครั้งที่ 4 ขึ้น เมื่อวันที่ 20-23 มีนาคมที่ผ่านมา ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี โดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) โดยมีการคัดเลือกผลงานวิจัยเด่นกว่า 60 เข้ามานำเสนอในการประชุมวิชาการครั้งนี้ พร้อมการประชุมปฏิบัติการจากนักวิทยาศาสตร์องค์การนาซ่า เพื่อกระตุ้นเด็กไทยสืบเสาะความรู้ทางวิทยาศาสตร์ นำมาสู่แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น
รางวัลชนะเลิศ แบบบรรยาย คัดเลือกจาก จาก 20 งานวิจัย คือ ผลงาน เรื่อง “การเพิ่มผลผลิตข้าวพันธุ์ชัยนาท 1 โดยการเพิ่มธาตุอาหารไนโตรเจนในดินด้วยแหนแดง” จากโรงเรียนจตุคามวิทยาคม และรางวัลชนะเลิศ แบบโปสเตอร์ คัดเลือกจาก 42 ผลงานวิจัย คือ ผลงานเรื่อง “การศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพ และการชี้วัดคุณภาพอากาศในเขตป่าเต็งรังของไลเคน” จากโรงเรียนดอนจานวิทยาคม
โครงการ GLOBE นั้น มีเป้าหมายส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้สิ่งแวดล้อมในลักษณะความเป็นวิทยาศาสตร์ เพื่อให้มองเห็นความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่างๆของโลก คือ ดิน น้ำ บรรยากาศ และสิ่งปกคุมดิน ที่มีความเชื่อมโยงกัน และนำไปสู่การเปลี่ยนสมดุลต่างๆของโลกได้ โดยเริ่มต้นการศึกษาจากชุมชนของตนเอง
อาจารย์ปาริฉัตร พวงมณี หัวหน้าโครงการ GLOBE สสวท. เปิดเผยว่า ประเทศไทยเข้าร่วมกับโครงการ GLOBE ตั้งแต่ปี 1999 โดยมีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบที่ผ่านมา เช่น การฝึกเด็กนักเรียนออกไปสำรวจสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นของตัวเอง เพื่อฝึกการสังเกต ตั้งคำถามเพื่อนำมาสู่กระบวนการวิจัยเพื่อหาความสัมพันธ์ขององค์ประกอบเหล่านี้ และที่ผ่านมาได้มีการจัดทำหลักสูตรรายวิชาวิทยาศาสตร์เพิ่มเติมให้แก่โรงเรียนที่สนใจเข้าร่วมโครงการ จนนำมาสู่ผลงานวิจัยกว่า 60 เรื่องในปีนี้
“ปีนี้มีการนำผลงานวิจัยของนักเรียนอินเดียในโครงการ GLOBE มาแลกเปลี่ยนกับนักเรียนไทย และนักเรียนไทยเองก็มีโอกาสนำเสนอผลงานวิจัยในต่างประเทศด้วย เพราะโครงการ GLOBE ให้โอกาสเด็กเข้าสู่เวทีสากล เป็นการเปิดกว้างให้กับเด็กๆทุกคน”
Dr. Dixon Matlock Butler ในฐานะ Former GLOBE Chief และนักวิทยาศาสตร์องค์การ NASA ซึ่งเดินทางมาร่วม Workshop ให้กับเด็กนักเรียนไทยในครั้งนี้ บอกว่าการทำวิจัยด้าน Earth Science สิ่งสำคัญที่เด็กๆต้องเริ่มต้นฝึกฝนคือ การเก็บข้อมูล การอ่านข้อมูล การเชื่อมโยงข้อมูล การวิเคราะห์และตีความข้อมูล เพราะการวิจัยวิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบนั้น เรากำลังวิจัยโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การเก็บข้อมูลจึงเป็นเรื่องสำคัญ
“งานวิจัยที่เด็กไทยนำมาเสนอครั้งนี้ น่าประทับใจมาก เพราะสะท้อนให้เห็นถึงการทำงานที่เข้มข้น นำมาสู่การตั้งคำถามในงานวิจัย วิธีการทดลอง และปัจจัยที่ต้องการตรวจวัด บางอย่างโรงเรียนต่างๆทั่วโลกยังไม่เคยทำ แต่เด็กไทยได้ทำแล้ว และเห็นบุคลิกที่มีความเชื่อมั่นในการนำเสนองานวิจัยของนักเรียนไทย”
Dr.Dixon แสดงความเห็นว่า การที่โครงการ GLOBE ให้ความสำคัญในการฝึกฝนให้เด็กเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบ เพราะ เรื่องของสิ่งแวดล้อมเราควรปลูกฝังตั้งแต่ยังเด็ก การที่โครงการ GLOBEทำงานกับเด็ก เพราะต้องการให้เด็กสามารถพัฒนาคุณสมบัติของการเป็นนักวิทยาศาสตร์ เรื่องของสิ่งแวดล้อมเด็กทุกคนสามารถตรวจวัดได้ เด็กได้ฝึกการสังเกต การวิเคราะห์ ทำการทดลอง และเห็นผลการทดลองด้วยตัวเอง สิ่งเหล่านี้จะติดตัวเขาไปตลอดเมื่อโตขึ้น
Mr. Bryan (Rick) Switzer ผู้อำนวยการใหญ่ด้านสิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสุขภาพ ในประเทศแถบเอเชียแปซิฟิก สถานทูตสหรัฐอเมริกา องค์กรที่ให้การสนับสนุนต่อโครงการนี้ แสดงความเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลกส่วนใหญ่มาจากกิจกรรมที่มนุษย์สร้างขึ้น ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคน ทุกฝ่ายและรัฐบาลทุกประเทศที่จะร่วมมือกัน โครงการ GLOBE เป็นโครงการความร่วมมือ โดยมีการสอนเด็กๆให้ศึกษา และสังเกตสิ่งแวดล้อมที่กำลังเปลี่ยนแปลง ให้รู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าของโลกใบนี้ และ ปัญหานี้เป็นปัญหาของทุกคน
“โครงการ GLOBE เป็นความร่วมมือกันในการสร้างพฤติกรรมที่จะช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน เรากำลังสร้างคนรุ่นใหม่ให้ห่วงใยสิ่งแวดล้อม ผมอยากเห็นประเทศไทยในฐานะผู้นำในการให้ความรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมศึกษากับประชาชน และนักเรียน สิ่งที่สำคัญคือ การเป็นผู้นำของประเทศไทยในแถบเอเชียด้วย”
ด้าน Dr.Teresa J. Kennedy ผู้อำนวยการฝ่ายต่างประเทศ โครงการ GLOBE ประเทศสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า การดำเนินการของโครงการ GLOBE ในประเทศเอเชียแปซิฟิค จำนวน 16 ประเทศ ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีผลสัมฤทธิ์มากที่สุด เพราะได้ลงมือทำงานเรื่องนี้อย่างจริงจัง และกลายเป็นตัวอย่างให้ประเทศอื่นมาเรียนรู้กิจกรรมตามโครงการ GLOBE ได้ เพราะมีการนำไปใช้ในการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในทุกด้าน มีเครือข่ายกิจกรรม GLOBE ได้กว้างขวางทั่วประเทศ
“ปีนี้โครงการ GLOBE มีอายุ 17 ปี จากการตรวจวัดสภาพสิ่งแวดล้อมต่างๆจากทั่วโลกที่ส่งมา มีจำนวน 23 ล้านข้อมูล เฉพาะประเทศแถบเอเชียแปซิฟิค มีจำนวนเกือบ 2 ล้านข้อมูล และในภูมิภาคนี้ประเทศไทย เป็นประเทศที่ส่งข้อมูลการตรวจวัดให้มากที่สุด จึงทำให้เห็นว่า โครงการ GLOBE ประสบความสำเร็จ”
สำหรับผลงานวิจัยของนักเรียนนั้น Dr Teresa แสดงความเห็นว่า มีความเข้มข้นมาก สะท้อนถึงความเข้าใจข้อมูล และความลึกซึ้งกับข้อมูลที่เด็กได้ตรวจวัด และข้อมูลเหล่านี้ยังได้แบ่งปันกับทั่วโลกได้ หวังว่างานวิจัยของเด็กจะทำให้ประชาชนเข้าใจลึกซึ้งถึงสภาพปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ ทำให้สามารถตัดสินใจแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ดียิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ในการประชุมครั้งนี้ มีนักเรียน และครู จากประเทศอินเดีย ซึ่งนำงานวิจัยวิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบเข้าร่วมนำเสนอด้วยจำนวน 2 เรื่อง หนึ่งในนั้นคือ Garima Aggarwal บอกว่า โครงการนี้เปิดโอกาสให้ตนเองได้เรียนรู้การตรวจวัดข้อมูล องค์ประกอบของสิ่งแวดล้อมต่างๆ ได้รู้จักการใช้อุปกรณ์ง่ายๆในการตรวจวัดความสูงของต้นไม้ ซึ่งทำให้รู้สึกตื่นเต้นมาก ที่อุปกรณ์ง่ายๆเหล่านี้ใช้วัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้
“การเข้าร่วมกับโครงการ GLOBE ช่วยเปิดโลกทัศน์ใหม่ในการเข้าร่วมนำเสนองานวิจัยทำให้ได้มีโอกาสนำผลงานของตนเองสู่ระดับนานาชาติ” Garima กล่าว
ด้าน Mamta Agranral หนึ่งในอาจารย์ที่ปรึกษาผลงานวิจัยของนักเรียนอินเดีย บอกว่า โครงการ GLOBE ช่วยให้นักเรียนศึกษา ค้นคว้า และตอบคำถามเกี่ยวกับท้องถิ่นของตนเอง และยังกระตุ้นให้นักเรียนมีความตระหนักต่อปัญหาสภาวะโลกร้อน การสูญเสียโอโซน มากขึ้น ทำให้เราในฐานะประชากรของโลก ควรคิดหาวิธีทำในสิ่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มีการแชร์ความรู้กัน ทำให้ทุกคนได้มีโอกาสรู้จักโลกใบนี้มากขึ้น และตระหนักว่าเป็นหน้าที่ร่วมกันในรักษาโลกให้กับลูกหลานสืบไป