กรุงเทพฯ--3 เม.ย.--เวิรฟ
- ดึง 3 มาตรการสกัดกั้นสู่ความสำเร็จสูงสุด ลดขบวนการมิจฉาชีพและอาชญากรรมเป็น “ศูนย์”
- โชว์หัวใจหลักแห่งความสำเร็จกับระบบ Ratchaprasong Integrated Security System ผ่านสุดยอดหน่วยรักษาความปลอดภัยที่แข็งแกร่งทั้งวิเคราะห์ ประเมิน เฝ้าสังเกต และลงมือปฎิบัติการ พร้อมเทคโนโลยีล้ำสมัยที่เชื่อมโยง CCTV กว่า 1,300 ตัว
สมาคมผู้ประกอบวิสาหกิจในย่านราชประสงค์ (RSTA) ย่านศูนย์การค้าชั้นนำและศูนย์กลางโรงแรมระดับไฮเอ็นด์ผนึก 12 อาคาร ตอกย้ำภาพลักษณ์ “เดอะ ฮาร์ท ออฟ แบงค็อก” หัวใจแห่งย่านเศรษฐกิจการค้าใจกลางกรุงเทพมหานครที่ปลอดภัยและสะดวกสบายที่สุด โชว์ศักยภาพทีมรักษาความปลอดภัยสมบูรณ์แบบสูงสุด เสริมทัพด้วยเทคโนโลยีและ CCTV กว่า 1,300 ตัวสุดล้ำสมัย เชื่อมโยงศูนย์การค้าและโรงแรม 12 อาคาร มูลค่าลงทุนรวมกว่า 50 ล้านบาท พร้อมวางมาตรการป้องกันและการรองรับสำหรับทุกเหตุการณ์ ตลอดจนผสานความร่วมมือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อสานต่อความสำเร็จยอดการปราบปราม ลดขบวนการมิจฉาชีพและอาชญากรรมภายในย่านฯเป็น “ศูนย์” มั่นใจเป็นฮับในการรองรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติจากทั่วโลก
นายชาย ศรีวิกรม์ นายกสมาคมผู้ประกอบวิสาหกิจในย่านราชประสงค์ (RSTA) เปิดเผยว่า “ย่านราชประสงค์นับเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญทั้งในด้านแหล่งช้อปปิ้งที่มีชื่อเสียง โรงแรมที่พักระดับพรีเมี่ยม ภัตตาคารและร้านอาหาร รวมทั้งเป็นแหล่งรวมอาคารสำนักงานที่สำคัญๆ โดยได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาใช้บริการในย่านฯเป็นจำนวนมาก โดยในปี 2554 มีจำนวนนักท่องเที่ยวและผู้สัญจรในย่านฯ มากกว่า 200,000 คนต่อวัน ทำให้เรื่องความปลอดภัยเป็นประเด็นสำคัญอันดับต้นๆ ของการบริหารจัดการ ซึ่งที่ผ่านมาย่านราชประสงค์ได้สร้างเครือข่ายการรักษาความปลอดภัยร่วมกับผู้ประกอบการ 12 อาคาร ได้แก่ ศูนย์การค้าเกษร, ศูนย์การค้าอัมรินทร์พลาซ่า, ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์, เอราวัณ แบงค็อก, โรงแรมแกรนด์ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ, โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ, โรงแรมฮอลิเดย์อินน์ กรุงเทพฯ, โรงแรมโฟซีซั่นส์ กรุงเทพฯ, โรงแรมเรเนซองซ์ กรุงเทพ ราชประสงค์, มณียาเซ็นเตอร์ ,เพรสิเด้นท์ ทาวเวอร์ อาเขต และศาลท่านท้าวมหาพรหม เพื่อตอกย้ำภาพลักษณ์ “เดอะ ฮาร์ท ออฟ แบงค็อก” หัวใจแห่งย่านเศรษฐกิจการค้าใจกลางกรุงเทพมหานครที่ปลอดภัยและสะดวกสบายที่สุด”
“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาสมาคมผู้ประกอบวิสาหกิจในย่านราชประสงค์ได้ร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการวางระบบรักษาความปลอดภัยผ่าน 3 กลยุทธ์สำคัญ ได้แก่ เทคโนโลยี บุคคลากร และมาตรการป้องกันและการรองรับ มารวมเป็นระบบรักษาความปลอดภัยที่มีรูปแบบเฉพาะตัวและประสิทธิภาพสูงสุดที่เรียกว่า “ระบบรักษาความปลอดภัยแบบบูรณาการย่านราชประสงค์ (Ratchaprasong Integrated Security System)”
- เทคโนโลยี : สมาคมผู้ประกอบวิสาหกิจในย่านราชประสงค์มีศูนย์กลางด้านความปลอดภัยที่เรียกว่า “ศูนย์รักษาความปลอดภัยราชประสงค์” ประกอบด้วยระบบเทคโนโลยี CCTV ที่มีความสามารถเชื่อมโยงสัญญาณภาพจากกล้อง CCTV บนพื้นที่สาธารณะรอบย่านฯ ทั้งหมด 79 ตัว โดยทำการติดตั้งรอบย่านฯ ขอบถนน และ Skywalk พร้อมเชื่อมสัญญาณเข้ากับกล้อง CCTV ของสมาชิกภายในย่านฯ 1,300 ตัว โดยเชื่อมโยงผ่านระบบ LAN ด้วย Fiber Optic ทั้งนี้กล้อง CCTV ประกอบด้วยกล้อง CCTV ระบบแลน (LAN) ความละเอียดสูงสุดสี่ล้านพิกเซลที่ให้ภาพคมชัดเป็นประโยชน์ต่อการเก็บรูปพรรณสัณฐานของคนร้าย และกล้อง CCTV ระบบไวร์เลส (Wireless) ที่สามารถเคลื่อนย้ายไปยังจุดเฝ้าระวังที่สำคัญได้ตลอดเวลา โดยทำการติดตั้งรอบย่านฯ ขอบถนน และ Skywalk
- บุคคลากร : สมาคมผู้ประกอบวิสาหกิจในย่านราชประสงค์ให้ความสำคัญด้านทักษะความเชี่ยวชาญของบุคคลากรทั้งภายในและรอบอาคาร 1,000 คน ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สมาคมฯ ได้พัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรทั้งในด้านความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย และหลักสูตรพิเศษต่างๆ อาทิ การสังเกตพฤติกรรมคนร้าย การกดดันออกจากพื้นที่ การเข้าชาร์จตัวเพื่อจับกุม ความชำนาญด้านการใช้งานเทคโนโลยี และการประสานงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเจ้าหน้าที่ตำรวจ นอกจากนี้ยังได้มีการวิเคราะห์และทบทวนความรู้รอบตัวของผู้ปฏิบัติหน้าที่ ตามระยะเวลาที่เหมาะสมอยู่เสมอ
- มาตรการป้องกันและการรองรับ : สมาคมผู้ประกอบวิสาหกิจในย่านราชประสงค์มีการกำหนดมาตรการป้องกันและรองรับเหตุการณ์ต่างๆ ไว้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน ทั้งในด้านการประสานการข่าวจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ทำให้ได้รับข้อมูลกลุ่มแก๊งค์มิจฉาชีพต่างๆ อย่างแม่นยำ และทันต่อเหตุการณ์ การเฝ้าระวังและรายงานความเคลื่อนไหวต่างๆ ตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน ของเจ้าหน้าที่บนพื้นที่และที่สังเกตการณ์อยู่ที่จอภาพ CCTV รวมถึงการเชื่อมต่อสัญญาณและข้อมูลแบบเรียลไทม์ไปยังศูนย์รับแจ้งเหตุนครบาล 5 เพื่อสนับสนุนการสังเกตการณ์อีกทาง พร้อมรับแจ้งเหตุได้ทันทีและสามารถส่งเจ้าหน้าที่มายังพื้นที่ราชประสงค์ได้ในเวลาอันรวดเร็ว
นายชาย กล่าวต่อไปว่า “จากการสร้างระบบ “ระบบรักษาความปลอดภัยแบบบูรณาการย่านราชประสงค์” ทำให้สถิติการเกิดอาชญากรรมในพื้นที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยก่อนหน้านี้จนถึงปี 2550 พบเห็นแก๊งลักทรัพย์มิจฉาชีพก่อเหตุในพื้นที่ทั้งปี 52 ครั้ง แต่เมื่อเริ่มมีการป้องกันตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา พบว่าสถิติลดลงเหลือประมาณ 20% และลดลงอย่างต่อเนื่องจนในปี 2554 บริเวณย่านราชประสงค์มีเหตุการณ์จากแก๊งอาชญากรรมกลายเป็น 0%”
พันตำรวจเอก เสรี ไขรัศมี ผู้ควบคุมดูแลและให้คำปรึกษาด้านระบบรักษาความปลอดภัยภายในย่านราชประสงค์ กล่าวว่า “ในด้านบุคลากรย่านราชประสงค์และสมาชิกสมาคมฯ ทั้งภายในและรอบอาคาร รวมแล้วประมาณ 1,000 คน จัดได้เป็น 2 กลุ่ม คือ 1) กลุ่ม รปภ. ภายในและรอบอาคารของแต่ละสมาชิก (Security) ประมาณ 900 นาย 2) กลุ่ม รปภ. พื้นที่รอบอาคารของย่านฯ ประมาณ 100 นาย โดยในกลุ่มนี้ จะมีสายตรวจเดินเท้าในพื้นที่สาธารณะของย่านฯ (Patrol) ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่พิเศษ จำนวน 6 นาย รวมอยู่ด้วย รปภ. ทั้ง 2 กลุ่มนี้ จะทำหน้าที่ดูแลและรักษาความปลอดภัยของสมาชิกบริเวณพื้นที่ทั่วย่านฯ ตามบริเวณจุดเชื่อมและพื้นที่เสี่ยงต่างๆ โดยทำงานประสานกันระหว่างซิเคียวริตี้ภายในอาคารของย่านฯและสายตรวจเดินเท้า อีกทั้งยังสามารถให้ข้อมูลการท่องเที่ยวหรือการเดินทางเบื้องต้นแก่ลูกค้าและนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาใช้บริการภายในย่านฯ เพื่อเพิ่มความมั่นใจสูงสุดให้กับลูกค้า”
“นอกจากนี้ ยังได้จัดโครงการและหลักสูตรการฝึกอบรมให้กับบุคลากรในพื้นที่ส่วนกลางและบุคลากรสมาชิกย่านฯ เพื่อสร้างความเข้าใจถึงขั้นตอนในการปฏิบัติงานของพนักงานอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์สถานการณ์ การสังเกตพฤติกรรมคนร้าย วิธีกดดันและให้การคุ้มครองนักท่องเที่ยว การตรวจสอบวัตถุต้องสงสัยต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่ และการบริหารจัดการด้านภัยพิบัติ รวมถึงความพร้อมเกี่ยวกับปัญหาการจารจรหากเกิดภาวะไม่ปกติ ที่มีความจำเป็นต้องใช้เส้นทางการจราจรผ่านในอาคาร เพื่อบรรเทาพื้นที่ปัญหาบนถนนสาธารณะ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นแผนที่ต้องเตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ให้พร้อมรับสถานการณ์ไว้อยู่เสมอ”
ด้านพลตำรวจตรี อนันต์ ศรีหิรัญ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้แสวงหาความร่วมมือจากภาคเอกชนในการดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว ซึ่งกลุ่มผู้ประกอบวิสาหกิจในย่านราชประสงค์เป็นเอกชนที่มีระบบรักษาความปลอดภัยที่แข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพสูงรวมทั้งสามารถร่วมกันทำได้ทั้งย่านฯ โดยได้ร่วมกับกองบังคับการตำรวจนครบาล 5 ก่อตั้งศูนย์รักษาความปลอดภัยราชประสงค์ขึ้นเมื่อปี 2550 และได้เชื่อมสัญญาณตรงไปยังศูนย์รับแจ้งเหตุนครบาล 5 เพื่อส่งข้อมูลและสังเกตการณ์ความปลอดภัยในย่านฯ รวมทั้งแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านข่าวและความเคลื่อนไหวของกลุ่มมิจฉาชีพที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่เพื่อเตรียมแผนป้องกันและเฝ้าระวังกลุ่มเหล่านี้เป็นพิเศษว่าจะเข้ามาก่อความวุ่นวายภายในย่านฯ หรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาจากการประสานงานกับย่านฯ สามารถจับกุมคนร้ายและสามารถใช้วิธีกดดันคนร้ายให้ออกจากพื้นที่ก่อนการก่อเหตุใดๆ ได้เป็นจำนวนมาก ด้วยการติดต่อแจ้งเหตุโดยตรงไปยังศูนย์รับแจ้งเหตุนครบาล 5 จึงทำให้เกิดความรวดเร็วในการติดตามคนร้ายอย่างทันท่วงที ทั้งนี้ย่านราชประสงค์นับเป็นกลุ่มภาคเอกชนกลุ่มแรกที่มีความพร้อมในการดำเนินงานร่วมกับภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งถือว่าเป็นการสนับสนุนการทำงานของตำรวจให้มีความสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
“ความสุขและความประทับใจ” ของนักท่องเที่ยวนั้นมาจากรากฐานของโครงสร้างระบบความปลอดภัยที่ได้มาตรฐาน ซึ่งย่านราชประสงค์นั้นได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งมาโดยตลอด จะเห็นได้จากอัตราการก่อเหตุที่ลดลงทุกปี จนในปีที่ผ่านมา บริเวณย่านฯ ไม่มีเหตุการณ์ก่ออาชญากรรมหรือนับเป็นศูนย์ ซึ่งเป็นบทพิสูจน์ว่า ราชประสงค์เป็นย่านการค้าที่มีโครงสร้างระบบรักษาความปลอดภัยที่สุดในประเทศไทย สมกับภาพลักษณ์ของความเป็น “เดอะ ฮาร์ท ออฟ แบงค็อก” หัวใจแห่งย่านเศรษฐกิจการค้าใจกลางกรุงเทพมหานครที่ปลอดภัยและสะดวกสบายที่สุด
จากขวา
คนที่ 1 - พันตำรวจเอก วราวุธ ทวีชัยการ (คนขวาสุด) รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 5 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
คนที่ 2 - นายชาย ศรีวิกรม์ นายกสมาคมผู้ประกอบวิสาหกิจในย่านราชประสงค์ (RSTA)
คนที่ 3 - พันตำรวจเอก เสรี ไขรัศมี (จากขวา คนที่ 3) ผู้ควบคุมดูแลและให้คำปรึกษาด้านระบบรักษาความปลอดภัยภายในย่านราชประสงค์