‘ธนาคารกรุงเทพ’ ปักหมุดเครือข่ายต่างประเทศแห่งที่ 26 พร้อมเปิดสาขาย่อยสุราบายา เป็นแห่งที่ 2 ในอินโดนีเซีย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 3, 2012 18:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 เม.ย.--ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงเทพ ดำเนินบทบาทความเป็นผู้นำในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยและอาเซียน พร้อมยกระดับความสามารถทางการแข่งขันอีกขั้นด้วยการเปิดสาขาย่อยสุราบายา ประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ในวันพฤหัสบดีที่ 29 มีนาคม 2555 นับเป็นเครือข่ายต่างประเทศแห่งที่ 26 และเป็นแห่งที่ 2 ของประเทศนี้ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่ง เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้านักธุรกิจ ในการเชื่อมโยงทางการค้าและการลงทุนที่กำลังเกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชีย นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า นับเป็นความยินดีอย่างยิ่งที่ธนาคารกรุงเทพได้รับอนุมัติจากธนาคารกลางประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ให้สามารถเปิดสาขาย่อยสุราบายา ณ เมืองสุราบายา เมืองใหญ่อันดับที่ 2 ของประเทศ และเป็นเมืองหลวงของจังหวัดชวาตะวันออก โดยสาขาย่อยสุราบายานับเป็นสาขาแห่งที่ 2 ของธนาคารกรุงเทพในประเทศอินโดนีเซียต่อจากสาขาจาการ์ตาที่ได้เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2511 ทั้ง 2 สาขาจะอยู่ภายใต้การบริหารงานของนายชลิต เตชัสอนันต์ ผู้จัดการทั่วไป สำหรับพิธีเปิดสาขาอย่างเป็นทางการจะมีขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 29 มีนาคม 2555 ‘เมืองสุราบายาเป็นหนึ่งในเมืองสำคัญที่กำลังพัฒนาของอินโดนีเซีย นับเป็นโอกาสอันดีที่ธนาคารกรุงเทพได้รับอนุญาตในการขยายเครือข่ายเพื่อรองรับกลุ่มลูกค้านักธุรกิจผู้ประกอบการ ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศในการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ครบวงจร โดยเฉพาะบริการเพื่อธุรกรรมต่างประเทศและสินเชื่อเพื่อการลงทุน ในขณะเดียวกันด้วยประสบการณ์ความรู้ที่ได้สั่งสมมาอย่างยาวนานหลายทศวรรษของผู้บริหารสาขาที่ได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น นับเป็นจุดเด่นของบริการและปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธนาคารกรุงเทพสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้านักธุรกิจที่มีความสนใจและกำลังศึกษาลู่ทางการลงทุน โดยเฉพาะบริการให้คำปรึกษาแนะนำเรื่องธุรกิจในตลาดท้องถิ่น ข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการจัดตั้งกิจการ ระบบภาษี สิ่งแวดล้อมทางธุรกิจ ตลอดจนแนวโน้มเศรษฐกิจทั้งในระดับมหภาคและในระดับอุตสาหกรรมของประเทศต่างๆ ในอาเซียนและเอเชียตะวันออกที่เครือข่ายของธนาคารครอบคลุม เพื่อให้ลูกค้าของธนาคารได้รับข้อมูลและปัจจัยในการตัดสินใจที่จะเป็นประโยชน์สูงสุด’ นายชาติศิริ กล่าวเพิ่มเติมว่า ธนาคารยังคงดำเนินบทบาทธนาคารผู้นำในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน ตลอดจนการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ทางธุรกิจระหว่างประเทศกับผู้ประกอบการในเขตเศรษฐกิจสำคัญของโลกทั้งจีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร การที่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ ASEAN Economic Community (AEC) จะมีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบในปีพ.ศ.2558 หรืออีก 3 ปีข้างหน้า จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในภูมิภาค นักธุรกิจผู้ประกอบการในประเทศไทยทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กต่างเตรียมพร้อมสำหรับตลาดที่กำลังขยายตัว ซึ่งเป็นโอกาสที่เปิดกว้างและนำมาซึ่งการแข่งขันที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยขณะนี้ผู้ประกอบการจำนวนมากเริ่มปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทางธุรกิจ ส่วนหนึ่งมีความตื่นตัวมากขึ้นในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันและหันไปพิจารณาการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น ทั้งที่เป็นการกระจายฐานการผลิต การหาลู่ทางส่งสินค้าออกสู่ประเทศเพื่อนบ้าน หรือแสดงความสนใจที่จะไปตั้งสำนักงานเพื่อดำเนินการด้านการตลาดและการขายในภูมิภาคอาเซียนด้วย ในขณะเดียวกันนักลงทุนต่างชาติได้เตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงที่จะทวีความเข้มแข็ง และเชื่อมโยงถึงกันมากขึ้นด้วยการเข้าไปลงทุนโดยตรงในทุกประเทศทั่วภูมิภาคในปริมาณที่สูงขึ้น โดยปัจจัยดังกล่าวล้วนมีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจและการให้บริการของธนาคารกรุงเทพ หนึ่งในธนาคารชั้นนำของภูมิภาคอาเซียนที่ให้ความสำคัญ และมีจุดแข็งความพร้อมสำหรับการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศมาอย่างยาวนาน ที่สามารถให้การสนับสนุนช่วยเหลือลูกค้าผ่านเครือข่ายต่างประเทศได้เป็นอย่างดี ธนาคารกรุงเทพ นับเป็นธนาคารพาณิชย์ของไทยเพียงแห่งเดียวที่มีเครือข่ายต่างประเทศที่กว้างขวางมากถึง 26 แห่ง กระจายอยู่ใน 13 เขตเศรษฐกิจสำคัญทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ซึ่งเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลกในอีกหลายปีข้างหน้า โดยเครือข่ายของธนาคารมีทั้งในรูปแบบธนาคารท้องถิ่นที่อยู่ในประเทศจีน และมาเลเซีย สาขาของธนาคารในประเทศญี่ปุ่น ฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ลาว และยังมีสาขาอยู่ในศูนย์กลางทางการเงินของโลกทั้งในนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และลอนดอน สหราชอาณาจักร อีกทั้งสำนักงานตัวแทนในย่างกุ้ง ประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า ด้วยเครือข่ายสาขาที่กว้างขวางและมั่นคงนี้ทำให้ธนาคารกรุงเทพเป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของภูมิภาคที่มีความพร้อมสูงสุดสำหรับรองรับการหลอมรวมกันทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน และการดำเนินบทบาทในฐานะผู้นำของเอเชียในทศวรรษต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ