กรุงเทพฯ--11 พ.ค.--วช.
"คุณภาพน้ำ" นับเป็นสิ่งสำคัญต่อการอุปโภคและบริโภค หากน้ำมีความเป็นพิษจะส่งผลต่อสิ่งมีชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีสาหร่ายพิษเกิดขึ้นในแหล่งน้ำ ด้วยเหตุนี้สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงได้ให้ทุนอุดหนุนการวิจัยแก่ นางยุวดี พีรพรพิศาล และคณะ จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำการวิจัยเรื่อง "การศึกษาสาหร่าย Microcystis aeruginosa Kutz. ทางด้านนิเวศวิทยาและพิษวิทยาของบางแหล่งน้ำในภาคเหนือของประเทศไทย" โดยศึกษาจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ และกว๊านพะเยา จังหวัดพะเยา ซึ่งพบว่าสาหร่าย Microcystis มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในเขื่อนแม่กวงจะมีปริมาณค่อนข้างมากและช่วงการเจริญเติบโตจะยาวนานกว่ากว๊านพะเยาทั้งนี้เป็นผลมาจากปริมาณน้ำในเขื่อนมีมากกว่า ส่วนปริมาณสารพิษมีมากที่สุดคือ microcystin - RR รองลงมาคือ microcystin - LR และ microcystin - YR แต่ปริมาณสารพิษในแหล่งน้ำดังกล่าวมีปริมาณต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (ไม่เกิน 1 ไมโครกรัมต่อน้ำ 1 ลิตร) โดยเซลล์ของสาหร่ายพิษจะอยู่บริเวณผิวน้ำมากกว่าระดับลึกลงไป และในกว๊านพะเยาจะแตกต่างจากเขื่อนแม่กวง กล่าวคือ จะมีน้ำเสียจากแหล่งชุมชน น้ำเสียจากแหล่งเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมบางอย่างปนเปื้อนมา ซึ่งส่งผลต่อการเจริญเติบโตของสาหร่ายพิษ ดังนั้น จึงไม่ควรที่ขุดลอกพื้นท้องน้ำบ่อยนัก เพราะจะทำให้พืชน้ำประเภทสาหร่ายหางกระรอก สาหร่ายข้าวเหนียว สาหร่ายฉัตร และสาหร่ายพุงชะโด ลดลงเพราะพืชเหล่านี้จะดูดซับอาหารที่มากับน้ำเสียได้--จบ--
-นท-