กรุงเทพฯ--4 เม.ย.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
มจธ.ดึงผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมอาหารจากทั่วโลก จัดเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ จับคู่นักวิจัย-นักธุรกิจ แชร์ประสบการณ์การพัฒนาด้านวิศวกรรมอาหารและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องชี้การปฏิวัติจีโนมทำให้มนุษย์เข้าใจความสำคัญในการผลิตอาหารปลอดภัย คุณภาพสูง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ด้านผู้บริหารเบทาโกรเชื่อเทคโนโลยีคือปัจจัยสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร
รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวตอนหนึ่งในปาฐกถาพิเศษเรื่อง “Impact of Genomic Revolution on Food Engineering for the Greener and Healthier Food Industry” ในการประชุมนานาชาติด้านวิศวกรรมอาหารและเทคโนโลยี International Congress on Food Engineering and Technology (IFET 2012)ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกระหว่างวันที่ 28-30 มีนาคม ที่ผ่านมา ณ อาคารคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์อิมแพค เมืองทองธานี ว่า วิวัฒนาการและความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับจีโนมในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาทำให้มนุษย์มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตมากขึ้น และสามารถนำความรู้ที่ได้มาใช้ประโยชน์ในการผลิตอาหารและสารอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์และนำมาซึ่งความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างจุลินทรีย์ อาหารและคน นำไปสู่การผลิตอาหารเพื่อสุขภาพของมนุษย์ได้หลากหลาย และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ตลอดจนสามารถลดต้นทุนการผลิตและช่องว่างทางสังคมได้ อย่างไรก็ตามจำเป็นต้องประสานความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์คู่กับชีววิทยาเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่สอดคล้องและนำไปใช้ประโยชน์ต่อมนุษย์และภาคอุตสาหกรรมการผลิตอาหารได้จริง จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ต้องเดินไปสู่การปฏิวัติจีโนม
ด้านนายวนัส แต้ไพสิฐพงษ์กรรมการผู้จัดการใหญ่ เครือเบทาโกร ได้กล่าวถึงความท้าทายและการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรมอาหารของโลกว่า เทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร ที่ผ่านมาเบทาโกรและมจธ. ร่วมมือกันส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีโดยนักวิจัยชาวไทย เพื่อให้ได้ผลงานที่สามารถนำมาใช้พัฒนาอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรของประเทศให้มีศักยภาพสูงขึ้นมาตั้งแต่ปี 2548 อย่างไรก็ตามท่ามกลางการเติบโตของประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นทุกๆ ปี อาหารถือเป็นเรื่องสำคัญ ตนเห็นด้วยกับ ดร.ศักรินทร์ ที่ว่าภาคอุตสาหกรรมต้องหาวิธีที่จะทำให้กระบวนการผลิตอาหารไม่เกิดปัญหากับสิ่งแวดล้อม
ด้านรศ.ดร.สักกมน เทพหัสดิน ณ อยุธยา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ประธานการจัดการประชุม กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้มีเป้าหมายสำคัญคือการพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมอาหารเพื่อให้พร้อมสำหรับการแข่งขันในศตวรรษที่ 21 ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องแข่งขันทั้งในเรื่องการพัฒนาคุณภาพอาหารให้มีความปลอดภัยและมีคุณภาพสูงมากขึ้น ในฐานะที่ มจธ. เป็นมหาวิทยาลัยที่ทำงานวิจัยสร้างความรู้และส่งต่อความรู้ไปยังภาคอุตสาหกรรม ทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ มาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน จึงเล็งเห็นความสำคัญในการสร้างความรู้และการส่งต่อความรู้ให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง การประชุมครั้งนี้จึงเกิดขึ้น โดยเชิญผู้ที่มีชื่อเสียงระดับโลก ทั้งที่เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย และผู้เชี่ยวชาญจากภาคเอกชน จากประเทศต่างๆ อาทิ ออสเตรเลีย แคนาดา จีน เยอรมัน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา มาแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ที่ได้ศึกษามายาวนานกับผู้เข้าร่วมประชุมชาวไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม
“ความรู้ที่เกิดขึ้นจากงานวิจัยมีหลายระดับ ทั้งความรู้พื้นฐาน และความรู้เชิงประยุกต์ จึงจำเป็นต้องจัดเวทีเพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมและมหาวิทยาลัยได้มาพบปะ แลกเปลี่ยนความรู้และปัญหาต่างๆ ที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการให้นักวิจัยเข้าไปช่วยเหลือ รวมถึงภาคอุตสาหกรรมเองก็ต้องมาเรียนรู้ว่ามหาวิทยาลัยหรือนักวิจัยมีความรู้ความชำนาญด้านไหนบ้าง เพื่อให้การทำงานร่วมกันมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาประเทศ”