กรุงเทพฯ--4 เม.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)โดย ฯพณฯ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี และนายกสภาสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และรองศาสตราจารย์ ศิริวัฒน์ โพธิเวชกุล รองอธิการบดี ประธานโครงการศูนย์ช่วยเหลือและฟื้นฟูทางด้านวิศวกรรม ผู้ประสบอุทกภัยของรัฐบาล (ระยะสั้น) ร่วมทำพิธีส่งมอบพื้นที่ฟื้นฟูและปิดโครงการศูนย์ช่วยเหลือและฟื้นฟูทางด้านวิศวกรรม ผู้ประสบอุทกภัยของรัฐบาล ณ โรงเรียนวัดเวฬุวนาราม จังหวัดนครปฐมซึ่งเป็นที่สุดท้ายของโครงการฯจาก 24 แห่ง รวมพื้นที่ 7 จังหวัด ในการนี้ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้นำเสนอแนวทางการป้องกันมหาอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นผ่านงานวิจัยทางเทคโนโลยี อาทิ หมุดปักมวลน้ำ น้ำโอโซน ข้าวนาโน เป็นต้น โดยกิจกรรมส่งมอบพื้นที่ฟื้นฟูนี้ ได้จัดขึ้นในวันที่ 28 มีนาคม 2555 โดยมีข้าราชการและอาสาสมัคร ตลอดจนประชาชนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก
รองศาสตราจารย์ ศิริวัฒน์ โพธิเวชกุล รองอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และประธานโครงการศูนย์ช่วยเหลือและฟื้นฟูทางด้านวิศวกรรม ผู้ประสบอุทกภัยของรัฐบาล (ระยะสั้น)กล่าวว่า สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้รับมอบหมายให้จัดทำโครงการศุนย์ช่วยเหลือและฟื้นฟูทางด้านวิศวกรรม ผู้ประสบอุทกภัยของรัฐบาล ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล ให้คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนักศึกษาของสถาบัน ตลอดจนอาสาสมัครจิตอาสาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ออกไปช่วยฟื้นฟูโรงเรียน ศาสนสถาน รวมถึงสถานพยาบาลที่ประสบอุทกภัยในปี 2554 ทั้งในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมทั้งสิ้น 7 จังหวัดได้แก่ กรุงเทพฯ ฉะเชิงเทรา นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา และสมุทรสาครโดยมีอาสาสมัครฟื้นฟูทางด้านวิศวกรรมเข้าร่วมโครงการมากกว่า 500 คน โดยอาสาสมัครเหล่านี้ได้แยกย้ายเข้าไปฟื้นฟูตามสถานที่ต่างๆตามนโยบายการจัดตั้งโครงการฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจที่สถาบันฯมีทั้งบุคลากรผู้เชี่ยวชาญทางวิศวกรรมในด้านต่างๆ อีกทั้งยังมีจิตอาสาในการเข้ามาช่วยเหลือสังคมด้วยความเต็มใจทำให้ประชาชนมากกว่า 1 ล้านคนที่ประสบความเดือดร้อนจากมหาอุทกภัยได้รับความช่วยเหลืออย่างเต็มที่
รองศาสตราจารย์ ศิริวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า รายละเอียดของการฟื้นฟูทางด้านวิศวกรรมครั้งนี้ ทางศูนย์ฯ มุ่งเน้นการฟื้นฟูในเรื่องระบบโครงสร้างสาธารณูปโภค การซ่อมแซมโครงสร้างอาคาร การวางระบบคอมพิวเตอร์ให้กับโรงเรียนต่างๆ การติดตั้งระบบไฟฟ้าที่ป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร การฟื้นฟูพื้นที่เกษตรกรรม ฯลฯ ทำให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนได้รับการฟื้นฟูเยียวยาให้มีความพร้อมในการกลับมาดำรงชีวิตในสภาพปกติโดยเร็ว เช่น การรักษาพยาบาลหลังประสบอุทกภัย เยาวชนสามารถเข้าเรียนหนังสือได้ตามปกติหลังน้ำลด ศาสนสถานสามารถใช้ประกอบศาสนพิธีได้ ซึ่งการดำเนินโครงการดังกล่าวสามารถประสบความสำเร็จได้ เนื่องจากทางสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังมีผู้เชี่ยวชาญทางวิศวกรรมในทุกด้าน อาทิ วิศวกรรมโยธา วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมไฟฟ้า ฯลฯ ซึ่งสามารถนำความรู้มาวิเคราะห์ปัญหาในพื้นที่เพื่อฟื้นฟูได้อย่างรวดเร็วและแก้ปัญหาได้ตรงจุด
ทั้งนี้ การเตรียมตัวรับมือกับมหาอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ทางสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้มีการพัฒนางานวิจัยทางเทคโนโลยี เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องกันอันตรายจากมหาอุทกภัย รวมไปถึงเทคโนโลยีที่ช่วยฟื้นฟูสังคมหลังจากที่มหาอุทกภัยได้ผ่านพ้นไป อาทิ
1. เทคโนโลยีหมุดปักมวลน้ำ ที่สามารถวัดระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นได้อย่างแม่นยำ พร้อมระบบ GIS รายงานน้ำท่วม
2. การผลิตน้ำโอโซนให้กับเขตพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย เพื่อให้มีน้ำดื่ม น้ำใช้ที่สะอาดไม่มีสารปนเปื้อน
3. เป็ดน้อยวัดกระแสไฟรั่ว
4. ระบบการเก็บข้อมูลความเสียหาย เพื่อลงเว็บไซต์ที่จะทำให้การช่วยเหลือเป็นระบบและเข้าถึงได้ง่ายยิ่งขึ้น
5. ข้าวสวยกระป๋องยังชีพ
6. สเปรย์ป้องกันแมลง ผลงานวิจัยด้านเทคโนโลยีการเกษตร
7. นาโนแก้น้ำเสีย
8. เครื่องไมโครเวฟสำหรับอุ่นดิน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร
9. เครื่องไมโครเวฟวัดความชื้นในดินฯลฯ
ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ ทางสถาบันฯ ได้สร้างสรรค์มาเพื่อประชาชนผู้ประสบอุทกภัย เป็นดั่งหน้าที่ความรับผิดชอบหลักของสถาบันฯ ที่ไม่เพียงผลิตนักศึกษาระดับชั้นแนวหน้าของประเทศ เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน แต่ยังคงผลิตนักศึกษาที่มีจิตอาสา พร้อมรับใช้สังคมตามแนวทางการพัฒนานักศึกษาของสถาบันฯให้เป็นคน “ใฝ่รู้ สู้งาน” รองศาสตราจารย์ ศิริวัฒน์ กล่าว