กรุงเทพฯ--4 เม.ย.--อพท.
วันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๕๕ สำนักงานพื้นที่พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร (สพพ.๔) จัดงานเปิดตัวโครงการจัดทำแผนแม่บทบูรณาการการบริหารการพัฒนาพื้นทื่พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร ณ เวทีกลางแจ้งหน้าวัดมหาธาตุ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย จังหวัดสุโขทัย โดยมีวัตถุประสงค์ในการประชาสัมพันธ์โครงการจัดทำแผนแม่บทและถือโอกาสแนะนำทีมงานผู้ปฏิบัติงานของ สพพ.๔ ต่อหน่วยงานในพื้นที่เพื่อที่จะได้ประสานงานร่วมกันในการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
การเปิดตัวครั้งนี้ สพพ.๔ ดำเนินการในช่วงเวลา ๑๖.๐๐ - ๒๑.๐๐ น. โดยมีวัตถุประสงค์ให้ผู้ร่วมงานได้สัมผัสบรรยากาศยามเย็นของอุทยานประวัติศาสตร์ และรับชมแสงอาทิตย์อัสดงที่งดงามที่สุดของอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยร่วมกัน โดยภายในงานได้มีการนำกิจกรรมทางวัฒนธรรมพื้นถิ่นที่น่าสนใจมานำเสนอด้วย คือ การแสดงผลงานและผลิตภัณฑ์ของชุมชนในพื้นที่ที่มีความโดดเด่นและมีเอกลักษณ์เฉพาะพื้นถิ่น เช่น ข้าวเปิ๊บ ผ้าหมักโคลน ขนมไทยโบราณ ปลาตะเพียนใบลาน และเครื่องถ้วยชามสังคโลก ซึ่งอาหารและเครื่องดื่มในงานจะใส่ในภาชนะที่สามารถนำกลับมาเติมและใช้ซ้ำได้ใหม่ เพื่อลดขยะและช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังจัดแสดงบอร์ดนิทรรศการที่เกี่ยวข้องกับ อพท. และการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ซึ่งได้รับความสนใจจากแขกที่มาร่วมงานเป็นจำนวนมาก
ช่วงเวลา ๑๖.๓๐ น. นายดำรงค์ แสงกวีเลิศ รองผู้อำนวยการ อพท. ได้กล่าวรายงานสรุปโครงการจัดทำแผนแม่บทฯ จากนั้นนายปิติ แก้วสลับสี รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย ได้ให้เกียรติกล่าวเปิดงาน ต่อจากนั้นมีการเสวนาร่วมกันเกี่ยวกับองค์ประกอบในแผนแม่บทฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ประเด็นการร่วมสร้างสรรค์กิจกรรมการท่องเที่ยวในพื้นที่ สพพ.๔ ประกอบด้วย ๑) กิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ได้แก่ การปั้นถ้วยชามสังคโลกและการทำทองสุโขทัยที่อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย การทำพระพิมพ์ที่ตำบลนครชุม จังหวัดกำแพงเพชร ๒) การรับรองแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งขณะนี้สำนักท่องเที่ยวโดยชุมชนของ อพท. อยู่ระหว่างลงพื้นที่ประเมินศักยภาพชุมชนและรับรองมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ๓) การจัดการองค์ความรู้ ดำเนินการจัดทำชุดความรู้ ๒ ประเด็น คือ สมบัติทางวัฒนธรรม มิติมรดกโลกและวัฒนธรรม และกระบวนการจัดทำแผนแม่บทบูรณาการการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร
ในวงการเสวนามีการพูดถึงการเปิด-ปิดเวลาทำการของอุทยานประวัติศาสตร์ทั้ง ๓ แห่งว่าจะมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่อาจจะกำหนดเวลาปิดอุทยานประวัติศาสตร์ให้ช้าลงอีกนิด เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสภาพบรรยากาศอุทยานประวัติศาสตร์ยามเย็นบ้าง และจะทำอย่างไรที่จะจัดกิจกรรมดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ครบทั้ง ๑๒ เดือน มีพูดถึงแนวคิดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม และแสดงความห่วงใยถึงชุมชนในเขตโบราณสถานและชุมชนโดยรอบว่าจะมีการอนุรักษ์โบราณสถานและพัฒนาชุมชนไปพร้อมกันอย่างไรจึงจะเกิดความยั่งยืน
จากนั้นจึงเข้าสู่การเสวนาในประเด็น “การมีส่วนร่วมเพื่ออุทยานประวัติศาสตร์สู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” โดยได้รับเกียรติจาก ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุโขทัย นายณรงค์ศักดิ์ คูบุญญอารักษ์ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสุโขทัย และนางสาวสรัสวดี อาสาสรรพกิจ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานจังหวัดสุโขทัย ซึ่งในวงเสวนานี้ มีการหยิบยกปัญหาจำนวนนักท่องเที่ยวและจำนวนวันท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง
จากข้อมูลของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุว่าในปี ๒๕๕๔ มียอดนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจังหวัดสุโขทัยประมาณ ๗๐๐,๐๐๐ คน นักท่องเที่ยวชาวไทยใช้เวลาเที่ยวในจังหวัดสุโขทัย ประมาณ ๑.๗ วัน มีการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวประมาณ ๑,๐๐๐-๑,๑๐๐ บาท/คน/คืน ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติใช้เวลา ๒ วันในการท่องเที่ยว ใช้จ่ายประมาณ ๑,๓๐๐-๑,๔๐๐ บาท/คน/คืน มีเงินสะพัดในปี ๒๕๕๕ จากการท่องเที่ยวในจังหวัดประมาณกว่า ๑,๔๐๐ ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางมาท่องเที่ยว (นักท่องเที่ยวชาวไทยร้อยละ ๗๐ และต่างชาติร้อยละ ๓๐)
ขณะที่การท่องเที่ยวในจังหวัดกำแพงเพชร ถือว่าคึกคักว่าที่จังหวัดสุโขทัยมาก โดยเฉพาะในช่วงเกิดอุทกภัยมีบริษัททัวร์หลายแห่งเปลี่ยนสถานที่ท่องเที่ยวจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยามาที่จังหวัดกำแพงเพชรแทน กลุ่มคนไทยที่นิยมเดินทางมาเที่ยวคือ กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มอาชีพต่าง ๆ และกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ซึ่ง ททท. ตั้งใจจะทำการตลาดในปี ๒๕๕๖ อย่างจริงจังด้วยการจัดทำแพคเกจกลุ่มนักเรียนมัธยมศึกษา นักศึกษา โดยจะเสนอขายแพคเกจนี้เจาะกลุ่มนักเรียนและนักศึกษาในโรงเรียนซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ และมหาวิทยาลัยนานาชาติให้มากขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มครอบครัวที่ชื่นชอบการขับรถยนต์ส่วนตัวท่องเที่ยวซึ่งเป็นเทรนใหม่ ถ้ามีการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารกับคนกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่อง เช่น มีการเล่าเป็นข่าววิทยุอยู่เป็นประจำ มีเว็บไซต์ที่ลงข้อมูลเกี่ยวกับอุทยานประวัติศาสตร์ทั้ง ๓ แห่งอย่างต่อเนื่องและหลากหลายเพียงพอ ก็จะดึงให้คนกลุ่มนี้มาท่องเที่ยวแบบซ้ำ ๆ บ่อย ๆ ได้มากขึ้น รวมทั้ง ททท. ยังมีแผนจะชักชวนให้คนเวียดนามเดินทางมาท่องเที่ยวจังหวัดสุโขทัยและกำแพงเพชรให้มากขึ้น
หลังจากนั้นผู้เข้าร่วมงานทั้งหมดได้รับประทานอาหารร่วมกัน พร้อมรับชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมจากวิทยาลัยนาฏศิลป์สุโขทัยที่ร่ายรำด้วยความอ่อนช้อยงดงามยิ่งโดยมีฉากหลังเป็นวัดมหาธาตุภายในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ซึ่งผู้ร่วมงานทุกท่านประทับใจในการแสดงที่แสนงดงามจนกระทั่งถึงเวลา ๒๐.๓๐ น. ก็เข้าสู่พิธีปิดงานเปิดตัวโครงการ และต่อจากนี้ก็จะเข้าสู่กระบวนการจัดทำแผนแม่บทฯ ซึ่งทาง สพพ.๔ จะรายงานความคืบหน้าให้ทราบในโอกาสต่อไป
ติดต่อ:
เขียนโดย นายกมลรัตน์ เสราดี เจ้าหน้าที่ สพพ.๔
ติดต่อสอบถามได้ที่ นางสาวชมพูนุท ธาราสิทธิโชค เจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กร อพท.
Chompunuth.t@dasta.or.th และ Chomphunut981@gmail.com