กรุงเทพฯ--5 เม.ย.--สหมงคลฟิล์ม
อะไรคือแรงบันดาลใจในการทำภาพยนตร์เรื่องนี้
หลังจากหนังรักแห่งสยามเสร็จก็คือได้ทำหนังสั้น ทำไปทั่วเรื่อยๆ กันไป แล้วตอนนี้เราอายุ 30 แล้ว ถ้าเป็นทั่วๆ ไปในชีวิตการทำงานเขาคงเรียกว่าเป็นแบบครึ่งชีวิตแล้ว มันเหมือนกับว่ามันมีเรื่องราวเยอะที่เราอยากจะเล่า โดยปกติเราจะชอบเขียนบันทึก เขียนอะไรแบบเรื่องของคนนั้นคนนี้ที่เราได้เจอมาในชีวิตเหมือนเป็นเรื่องสั้นเอาไว้ แต่พอดีเราไม่ใช่นักเขียน เราเป็นคนทำหนัง ซึ่งในแต่ละเรื่องมันคือบทบันทึกที่เราจดจำ เราพูดถึงผู้คน เหตุการณ์ สถานที่ที่เราจดจำได้ในชีวิตเราที่เราไม่ลืม หลายคนได้จากเราไป หลายคนยังมีชีวิตอยู่ แล้วก็ยังอยู่กับเราอยู่ตอนนี้ ดังนั้นมันจึงเป็นบทบันทึกที่เราทำเพื่อให้เขาได้รู่ว่าชีวิตเราผ่านอะไรมาและทำให้เรามีวันนี้ได้ก็เพราะว่าคนเหล่านี้
อย่างนั้นเรื่องนี้ก็เหมือนเป็นเรื่องราวของส่วนหนึ่งในชีวิตจริงของมะเดี่ยวเลยหรือเปล่า
ค่อนข้างจะเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตจริง หนังที่ทำมาทุกเรื่องก็มีแบบแรงบันดาลใจที่เราไปเจอมาในชีวิตจริง เพียงแต่ว่าตอนเป็นรักแห่งสยาม คล้ายกับว่ามันเป็น fiction มีความเป็นนิยาย มีความประโลมโลกอยู่เยอะ แต่อันนี้จะมีส่วนผสมของความที่เรียกว่ามันจริง realistic แล้วก็เป็นในส่วนของกวีไปเลย แต่ว่าไม่ใช่ว่าแบบจะดูแล้วไม่สนุก เอาความจริงก่อน realistic มันคืออะไร realistic คือพอเราโตขึ้นความเพ้อฝันความโรแมนติก ที่มันเคยอยู่ในชีวิตเรามันก็จะน้อยลง เราจะมองโลกในแง่ของความจริงมากขึ้น ในแง่ที่มันเกิดขึ้นเพราะเหตุใด สิ่งที่มันมากระทบชีวิตเรามันมีเหตุและผล และมันนำพาเราไปสู่สิ่งนั้นสิ่งนี้
ส่วนกวีที่ว่ามันคือความงาม มันไม่ได้แปลว่าดูไม่รู้เรื่องเหมือนเป็นหนังเมืองคานส์อะไรประเภทนั้น มันคือความงานในชีวิต ความงานของความโศกเศร้า ความสุข ความสิ้นหวัง ทุกสิ่งทุกอย่างมันมีความงามอยู่ในนั้น การพลัดพรากจากลาแม้มันจะดูเศร้าสร้อย แต่ว่าเราถ่ายทอดออกมาให้มันดูงดงาม อย่างในชีวิตเราตอนปี 2009-2010 คุณพ่อเสีย... แม่ก็ได้เขียนบทกลอน คือ เราจะเห็นหลายๆ คนที่เสียไป ในงานศพจะมีหนังสือกลอนที่รำพึงรำพันถึงคนที่จากไป แล้วเราก็อ่านกลอนบทนั้นเรารู้สึกว่าความพลัดพรากความเศร้าโศกมันเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เราทำสิ่งสวยงามได้เหมือนกัน นี้ก็คือสิ่งที่บอกว่ามันคือความงาม
ทำไมถึงเลือกเอาความทรงจำเหล่านี้มาทำเป็นบทภาพยนตร์ครั้งนี้?
จริงๆ ที่ทำมันไม่ใช่ชีวิตตัวเองซะทั้งหมด แต่มันเป็นชีวิตของคนอื่นที่เราไปเจอมา บางจังหวะอาจจะมาจากประสบการณ์ชีวิตของเรา เป็นเพราะเรามาถึงเลข 30 มันเหมือนหลักไมล์ในชีวิตที่เราต้องจดบันทึกเอาไว้ว่านี่คือครึ่งชีวิตของเรา สิ่งที่เราเจอมา สิ่งที่เป็นประสบการณ์ที่ย้อนกลับไปตั้งแต่อยู่สมัยมัธยม สมัยเริ่มจดบันทึกอะไรได้ ย้อนกลับไปอีกตั้งแต่วัยเด็กที่มันมีความทรงจำอะไรแบบพร่าเลือนอยู่ ทุกอย่างมันใส่ไว้ในหนังเรื่องนี้ เราคิดว่าเหมือนทำให้ตัวเองมากกว่า (หัวเราะ) แต่ว่ามันไม่ใช่ทำให้ตัวเองโดยที่ไม่ได้จะเป็นหนังที่คนจะดูไม่รู้เรื่อง เราว่าทุกคนมีประสบการณ์ร่วมในสิ่งต่างๆ ที่เราได้เจอมาเหมือนกัน มันไม่ใช่ประสบการณ์ที่ส่วนตัวอะไรมากมาย เราพูดถึงความรัก พูดถึงการสูญเสีย ความพลัดพราก เราผ่านความเลวร้ายในชีวิตมาเยอะแยะมากมาย ความฝัน ความหวังที่มันแตกพัง เราทุกคนต่างเคยเจอ แล้วเราก็แบบเหมือนเคยมีประสบการณ์ที่ค่อยๆ เก็บเศษที่มันแตกร้าวต่างๆ พยายามต่อกันใหม่ให้มันเป็นความหวังครั้งใหม่ แล้วดำเนินชีวิตต่อไป ทุกคนต้องผ่านเหตุการณ์แบบนี้มาทั้งนั้น เช่นกันนี้คือส่วนของเหตุการณ์ในชีวิตที่เราคิดว่ามันสอดคล้องกับผู้คน มันไม่ได้เป็นประสบการณ์ส่วนตัวที่ใครเข้าไม่ถึงอย่างที่เข้าใจว่าจะเป็นแบบนั้น...ไม่ใช่
เรื่องนี้มันเป็นเสี้ยวหนึ่งในประสบการณ์ของมะเดี่ยวที่รู้สึกว่าประทับใจที่สุดตลอดระยะ 30 ปีนี้หรือยัง
30 ปีที่ผ่านมานี้คงเป็นเรื่องของคนที่เราไม่ลืม มันก็มีเป็นเรื่องของคนที่เราเคยรัก คนที่เคยจากเราไป มันมีทั้งคนที่เราเคยรักที่ยังอยู่แต่ก็ไม่ใช่คนในอดีตที่เราเคยรู้จัก เหมือนเราเคยชอบใครตอนอยู่มัธยมเมื่อ10ปีก่อนวันเวลาก็พลัดพรากพวกเราจากกันไป กลับมาเจอกันทุกวันนี้มันก็ไม่ใช่คนเดิมที่เราเคยชอบแล้ว เพียงแต่ว่าเราก็คิดถึงคนๆ นั้นที่เราจดจำมันได้ในวัยของเรา แล้วก็มีประสบการณ์ที่มีความตาย การสูญเสียบุคคลที่เป็นที่รักแล้วก็ต้องพยายามดำเนินชีวิตต่อไป แม้แต่การแต่งงานมันเป็นการเฉลิมฉลองนะ แต่จริงๆ แล้วส่วนหนึ่ง อีกด้านหนึ่งมันคือการโบกมือลาอดีตต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้น โบกมือลาชีวิตเก่าๆ เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ ในความสุขของการแต่งงาน มันมีด้านที่เราจะต้องบ๊ายบายชีวิตคนโสด ชีวิตสนุกสนาน หรืออดีตที่ฝังใจเพื่อเริ่มอะไรใหม่ๆ นี้แหละมันก็รวมๆ แล้วมันเรียกได้ว่าเป็น 3 เหตุการณ์ที่ตกผลึกมากกว่า คือเราก็ครุ่นคิดถามว่าแบบ 30 ปีเราเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับชีวิตเกี่ยวกับความรัก เกี่ยวกับการเติบโตมาบ้าง มันก็ออกมากลายเป็นเรื่องนี้
โลเกชั่นที่เลือกถ่ายทำภาพยนตร์ครั้งนี้ คือ บ้าน ของมะเดี่ยวเอง
เราถ่ายทำเรื่อง “Home ความรัก ความสุข ความทรงจำ” ที่เชียงใหม่ทั้งเรื่องเลย 100% ไม่มีถ่ายที่อื่นเลย อย่างที่บอกคือมันเป็นบ้านของเรา ของมะเดี่ยวเอง มันเป็นเรื่องของความทรงจำที่อยู่ที่นั่น ดังนั้นมันไม่มีที่ไหนดีไปกว่าเชียงใหม่แล้วแหละ แล้วมันก็จะไม่เหมือนหนังที่ถ่ายที่เชียงใหม่เรื่องอื่น ที่ใช้landmark จริงๆ เชียงใหม่เป็นเมืองที่สวย มีเสน่ห์ มีศิลปะ มีความโรแมนติกอะไรอยู่ในนั้น แต่เราไม่ได้เสนอเชียงใหม่ในด้านนั้น แต่เรื่องนี้เราพูดถึงคน คนในเชียงใหม่ จิตวิญญาณของผู้คนที่อยู่ที่นั่น เป็นสิ่งที่เราเห็นและเติบโตมาตรงนั้น เป็นเรื่องของผู้คน บรรยากาศ ภาษาพูด แต่อย่าเข้าใจว่าพูดภาษาเหนือแล้วจะไม่เข้าใจ ภาษาเหนือเป็นภาษาที่เข้าใจง่าย มีซับขึ้นให้ (หัวเราะ) มันไม่ได้เข้าใจยากถึงขั้นไม่รู้เรื่อง สำหรับเราเองมันเป็นภาษาที่มีเสน่ห์ ถ้าเป็นเพลงก็เหมือนมีเมโลดี้ที่สวย แล้วก็มีความนุ่นนวลอ่อนหวานอยู่ในนั้น ต้องลองไปดู
ภาษาที่ใช้เหนือล้วนๆ เลยด้วยหรือเปล่า
ใช่ แต่อาจจะไม่ใช่ทุกตอน ต้องมีเทรนกันในเรื่องของภาษาพอสมควร อย่างนุ่นเขาอยู่ลำปางสำเนียงจะไม่ใช่คนเชียงใหม่แล้ว แล้วก็มาอยู่กรุงเทพฯ นานจะมีเพี้ยนบ้าง ต้องเอาให้เป๊ะให้ดูเป็นคนเชียงใหม่จริงๆ แต่ในหนังก็จะมีเป็นคนลำปาง คนเชียงรายบ้าง เขาพูดสำเนียงของเขาไปเพื่อความสมจริง อย่างพี่ต่ายก็มาอยู่กรุงเทพฯนาน พอแป๊ปเดียวพี่ต่ายก็จูนกันไวเหมือนมีคีย์อยู่ในหัวแล้ว คำบางคำหรือไวยากรณ์ที่มันเป็นภาษาเหนือๆ ก็ต้องรื้อฟื้นเอามาพูดกัน ให้รู้สึกว่าคนเหนือคนเมืองอู้กันจริงๆ แต่ทั้งหมดฟังไม่ยาก เข้าใจได้ง่ายมาก
เล่าเรื่องราวให้ฟังหน่อยว่าเกี่ยวกับอะไร
มีหลากหลายเรื่องราวของความรัก เริ่มจากเรื่องของเด็กมัธยม 2 คน คนหนึ่งอยู่ม.6 ที่กำลังจะจบ อีกคนอยู่ม.3 ที่กำลังจะจบการศึกษาเหมือนกัน คือทุกคนมีสถานะที่จะต้องจากโรงเรียนนี้ไปเหมือนกัน ไอ้คนที่อยู่ม.6 มาถ่ายรูปโรงเรียนตอนกลางคืนเพื่อเอาไปทำหนังสือรุ่น คือมีไอเดียว่าโรงเรียนตอนมีคนอยู่มันไม่ขลัง แต่ตอนไม่มีคนอยู่มันขลัง มันเหมือนเฟรมเปล่าๆ ที่ให้คนสามารถใส่เรื่องราวตัวเองไปได้ ก็เลยมาถ่ายรูปที่โรงเรียนตอนกลางคืน อีกคนหนึ่งเป็นนักบาส เด็กม.3 ที่ย้ายโรงเรียนมาตลอด แล้วก็มาจบม.3 ที่นี้แล้วก็ต้องย้ายไปเรียนที่กรุงเทพฯ อีก ทั้งสองคนมาเจอกัน ทั้งคู่ก็เดินถ่ายรูปในโรงเรียน ได้คุยกันเรื่องชีวิตที่ผ่านมาในโรงเรียนนี้ มันก็เป็นการพูดถึงอดีต แล้วมันก็มีบ้างอย่างที่เชื่อมถึงกันเกิดขึ้น เรื่องนี้เราพูดถึงช่วงชีวิตที่เรามีเพื่อนมีชีวิตของวัยเรียนที่น่าจดจำ มีมิตรภาพที่เกิดขึ้นดีๆ ในเวลาอันสั้นของวัยเรียน 2 คน
นักแสดงหน้าใหม่ทั้ง น้องแจ๊คและน้องมาร์ช ทั้งสองคนนี้เป็นยังไงบ้าง
นักแสดงใหม่ของเราผ่านการคัดเลือกมาจากนักแสดงนับร้อยนับพัน แต่ทุกครั้งที่เราทำหนัง คือถ้าเกิดเป็นนักแสดงใหม่ก็ต้องแคสติ้งแบบหนักหนาสาหัสอยู่แล้ว เพื่อที่จะได้คนที่มันดูแล้วใช่ แล้วยิ่งเป็นคนที่มีความใกล้เคียงกับเนื้อเรื่องเราก็ว่าน่าสนใจ แล้วเราเลือกคนที่มีการแสดงที่เป็นธรรมชาติมากที่สุด มีเสน่ห์มากที่สุดเท่าที่เราจะหาได้ ซึ่งน้องทั้ง 2 คนกว่าจะผ่านการแคสติ้งเข้ามาจากหลายๆ รอบได้ก็ไม่ง่ายเท่าไหร่นัก พอผ่านมาแล้วก็ต้องมีการ workshop และหนังเรื่องนี้ไม่มีอะไรเลย นอกจากเด็ก 2 คนนี้ ย้ำ! ว่าทั้งเรื่อง ถ้าเกิดทั้งสองคนเล่นไม่ดีจะเอาไม่อยู่ เพราะต้องมีบทพูดที่ยาวมาก แล้วก็ต้องเป็นตัวตนของคนๆ นั้นด้วย คือมันไม่สามารถจะท่องแต่บทได้ มันต้องเอาตัวตนไปเป็นคนๆนั้นจริง แล้วเหมือนพูดเรื่องของตัวเอง มันใช้เวลาทำงานด้วยกันค่อนข้างนาน กว่าจะได้ออกมาขนาดนี้ ซึ่ง 2 คนนี้เข้าขากันมาก พวกเราทำการบ้านด้วยกันมาอย่างหนักหนาสาหัสกว่าเราจะได้เห็นสองคนนี้เล่นด้วยกัน
เห็นจุดเด่นอะไรของน้องแจ็ค และของน้องมาร์ชจับทั้งคู่มาเล่นด้วยกัน
ตัวละครตัวแรก คือ “เน” นำแสดงโดย “น้องมาร์ช” จุฑาวุฒิ ภัทรกำพล น้องมาร์ชตามคาแรกเตอร์ต้องเป็นคนถ่ายรูปเก่งมีความสามารถ มีความมั่นใจสูง ไม่เอาใคร ไม่เอาเพื่อนอะไรสักคนเลย จนหลายๆ คนทั้งโรงเรียนหมั่นไส้ ไม่มีสังคม ถึงแม้ว่าเนจะมีความมั่นใจสูงแต่ลึกๆ เขามีความเบาะบางอยู่ มาร์ชนี้มีอะไรที่เป็นคนแบบนั้น มีการพูดจาที่ดูว่าเย่อหยิ่งจองหองได้ แต่ว่าในขณะเดียวกันก็เป็นคนที่ดูมีความอ่อนไหว แล้วเป็นหนังที่ต้องเล่นด้วยความรู้สึกลึกๆ ข้างใน ก็ค่อนข้างจะยากสำหรับเด็กใหม่ แต่ว่ามาร์ชก็อดทนและสามารถทำในสิ่งที่เราต้องการได้แม้จะใช้เวลานานมากก็ตาม
ส่วน “แจ็ค” กิตติศักดิ์ ปฐมบูรณะ เล่นเป็น “บีม” เป็นเด็กม.3 ที่ชั่งพูดชั่งเจรจา ซุกซนตามประสาเด็กม.ต้นทั่วไป เป็นนักกีฬาด้วย อันดับแรกพื้นฐานเลยแจ็คเป็นนักกีฬาบาสอยู่แล้ว ดังนั้นไม่มีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือของแอคติ้งเวลาเล่นบาส เขาดูเป็นนักกีฬาได้จริงไม่เสแสร้ง แต่ปัญหาอยู่ตรงที่ว่าแจ็คไม่ใช่คนพูดมากเหมือนในเรื่อง ในเรื่องนี้พูดน้ำไหลไฟดับเลย แต่แจ็คก็ทำได้และผ่านมันไปได้ด้วยดี
อีกอย่างหนึ่งคือตัวละครอย่างบีม คือมันดูเหมือนไม่มีที่มาที่ไป มันจะค่อยๆ เฉลย ค่อยๆ บอกว่าไอ้นี่เป็นใครมาจากไหน การเล่นแบบอมพะนำคาแรกเตอร์ของตัวเองว่าจะเป็นใครก็ไม่รู้ อะไรยังไงก็ตามแต่ ดังนั้นมันต้องใช้ความกะล่อนของการเล่น คือมันเป็นเสน่ห์ของละครตัวนี้ การแสดงที่ต้องหว่านเสน่ห์ โปรยเสน่ห์ กวนนิดๆ ซึ่งถ้าเป็นเด็กธรรมดาทั่วไปบทยังนี้จะยากมาก คือมันไม่ใช่การเก็กหล่อมันไม่ได้เป็นคนหล่อแต่มันต้องหว่านเสน่ห์ แล้วยิ่งเด็กม.ปลาย เด็กอายุเท่านี้จะไม่ค่อยเข้าใจการหว่านเสน่ห์ การทำหน้ากรุ้มกริ่ม การเล่นออกมาจากอินเนอร์ จะยากมากสำหรับบทอย่างนี้แต่แจ็คก็ทำได้
ฉากที่ประทับใจของความรักของ เน และ บีม
มีเยอะนะ แต่ลืมพูดถึงตัวละครอีกตัวหนึ่งในหนังเรื่องนี้คือ “โรงเรียน” โรงเรียนเหมือนกับเป็นตัวละครอีกตัวหนึ่งเป็นโรงเรียนที่เราเรียนอยู่จริงคือ โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย ในหนังเราจะเห็นภาพกว้างเยอะมาก เห็น landscape ของโรงเรียนที่สวยมาก แต่อีกอย่างหนึ่งคือเราพูดถึงโรงเรียนในแง่ของความทรงจำ ในแง่พื้นที่ที่มีความทรงจำของผู้คนอยู่ในนั้นเต็มไปหมดกี่รุ่น กี่ยุค กี่สมัย ผ่านมาและจากไป คือมันเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของโรงเรียน แล้วโรงเรียนก็เหมือนโอบล้อม 2 คนเอาไว้ให้เหลือตัวเล็กนิดเดียว ให้มันเข้าใกล้กัน นี่เป็นตัวละครอีกตัวสำหรับหนังเรื่องนี้ โรงเรียนก็เหมือนบ้านที่สอง รู้สึกว่าเป็นฉากถึงตอนเช้า ใกล้สว่างแล้วน้องเขาก็นั่งคุยกันว่าอนาคตจะทำอะไร คือทั้งคู่เล่นดี บรรยากาศมันดีจริงๆ ถ่ายให้เป็นตอนเช้า แต่ถ่าย 2 วันเลยนะฉากนี้ มันต้องเอาช่วงเวลาที่แสงมันก้ำกึ่งจะเช้าจะเย็น มันไม่ได้แบบกลางวันสว่างๆ ซึ่งแสงออกมาสวยมาก ทั้งคู่นั่งคุยกันแล้วแบบโลกพึ่งตื่น โรงเรียนพึ่งจะตื่น ผู้คนเริ่มออกมา แต่ 2 คนนี้ยังเหมือนอยู่ในโลกของตัวเองอยู่ มันสวยงามดีฉากนี้เป็นฉากประทับใจเลย
เรื่องราวความรักที่พี่ต่าย เพ็ญพักตร์ ถ่ายทอดในภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นอย่างไร
เรื่องก็มีอยู่ว่า พี่ต่าย (เพ็ญพักตร์ ศิริกุล) เล่นเป็น “บัวจัน” เป็นแม่หม้ายสามีตาย สามีเป็นโรคมะเร็งในกล่องเสียงแล้วเขาต้องผ่าเอากล่องเสียงออก ดังนั้นช่วงเวลา 2 ปีก่อนที่สามีจะตายสื่อสารกันด้วยการเขียน เขียนส่งเขียนถาม-ตอบกัน เลยกลายเป็นว่าพอตายไปแล้วไอ้จดหมายก็ยังกองอยู่เต็มบ้านเลย เธอก็มีชีวิตอยู่ท่ามกลางความทรงจำที่เหลืออยู่ แล้วคนรอบตัวแต่ละคนก็มีแต่จะสร้างความปวดหัวให้แก่นาง ไม่ว่าจะหลานที่อยู่ด้วย ลูกที่ไปทำงานที่อื่น แล้วก็พวกคนที่ทำงานด้วยกัน การมีชีวิตอยู่ต่อไปมันอยู่ในระหว่างความทรงจำที่เหลืออยู่กับเก็บทุกอย่างแล้วเริ่มต้นใหม่ อันนี้แหละเป็นสิ่งที่เธอกำลังต่อสู้อยู่ แล้วมันก็มีความห่วงหาอาวรณ์คนที่ตายจากไป บางทีก็รู้สึกเหมือนกับว่าเขาไม่ได้จากไปไหน เขาอยู่ในอีกโลกหนึ่งที่เรามองไม่เห็น หรือว่ายังวนเวียนอยู่ใกล้ๆ ตัวเรา
ผู้หญิงคนนี้อยู่ระหว่างทางเลือกในชีวิตที่ว่ามีชีวิตอยู่ต่อไป เดินต่อไปข้างหน้า หรือการที่จมอยู่กับอดีต...คอยฝันถึงคนรักครั้งแล้วครั้งเล่า แล้วความทุกข์ก็จะกลับมาเยือนทุกครั้ง จู่โจมโดยไม่รู้ตัว คือเหมือนกับว่ายังตัดไม่ขาด แต่ในการตัดไม่ขาดก็มีความสุขของนางอยู่ เพราะนางก็จะรู้สึกว่าคนรักยังไม่ไปไหน
คาแรกเตอร์จริงๆ ของ “บัวจัน” เป็นยังไง
พี่ต่าย เพ็ญพักตร์ ศิริกุล เล่นเป็น “บัวจัน” เป็นผู้จัดการรีสอร์ท เป็นหญิงหม้ายวัยเกือบปลายคนแล้ว เป็นคนที่เข้มแข็ง ภายนอกเหมือนจะเข้มแข็งแต่ในใจมันมีความโดดเดี่ยวอยู่ ความรู้สึกที่เคยมีคนอยู่ด้วยกันมาตลอดชีวิตแล้ววันหนึ่งมันไม่มีอีกแล้ว ก็ต้องทำแบบไม่มีอะไรเกิดขึ้น ยิ่งนานไปมันก็เริ่มมีความรู้สึกในเรื่องของความเชื่อ ยิ่งนานไปยิ่งคิดอะไรได้ขึ้นมาเรื่อยๆ คิดถึงการกลับมาของสามีในรูปแบบต่างๆ บัวจันก็จะจินตนาการไปแล้วก็กลายเป็นคนยืดติดกับสิ่งๆ นี้
บัวจันกับสามีเคยทำอะไรมาด้วยกันตลอดในชีวิตนี้ มีงานทำก็เหมือนมีส่วนร่วมในกันและกันมาโดยตลอด แต่เวลาผ่านไปบางอย่างมันก็หลงลืมไปบ้างในส่วนงานเก่าๆ ของสามี บางครั้งบัวจันก็คิดว่าคิดว่าตัวเองเข้มแข็งมากพอแล้ว บางทีความรู้สึกอย่างนี้เราจะไม่เข้าใจจนกว่าเราจะได้เห็นการสูญเสียจริงๆ ไป
เคยได้ยินคำว่าอยู่ด้วยกันจนวันตายไหม แต่สุดท้ายมันไม่ใช่ มันอยู่ด้วยกันจนใครสักคนตายจากเราไป แล้วหลังจากนั้นมันต้องอยู่ให้ได้ อันนี้มันคืออะไรที่เป็นความจริงมาก มันไม่ใช่ความโรแมนติกแต่มันก็มีความสุขในความเศร้านะ
มะเดี่ยวเคยร่วมงานกับพี่ต่ายมาแล้ว พอมาเรื่องนี้เป็นยังไงบ้าง
พี่ต่ายเคยร่วมงานกับเราตอนหนังเรื่อง 12 ซึ่งเป็นภาคก่อนหน้า 13 เกมสยอง ก็ชอบพอกันมาตั้งแต่ตอนนั้นแล้วแหละ มีโอกาสก็จะหาหนังแล้วก็ทำงานด้วยกัน แต่คราวนี้ได้ทำงานกับแบบเต็มๆ พี่ต่ายเขาเก่งประทับใจแกน่ารัก ทุกครั้งที่แกแสดงเราก็จะเห็นการแสดงดีๆ ดูหนังเรื่องนี้ดูการแสดงก็คุ้มแล้วนะ (หัวเราะ)
สิ่งที่ประทับใจมีเยอะนะ อย่างเรื่องนี้เป็นหนังที่พูดภาษาเหนือทั้งเรื่องเลย ภาษาล้านนา-เชียงใหม่ —เชียงรายด้วย คืออย่างที่บอก “Home” คือพูดถึงบ้าน เราก็รู้สึกว่าหนังเรื่องนี้มันพูดถึงที่ๆ เราเติบโตมาทั้งชีวิต มันก็คือเชียงใหม่ แล้วคนในความทรงจำของเราก็พูดจากันแบบนี้ เรื่องนี้เลยให้พูดภาษาเหนือกันไป เป็น 10 กว่าปีแล้วมั้ง ที่ไม่มีหนังที่พูดภาษาเหนือกันล้วนๆ ขนาดนี้มาก่อน
แล้วก็มีความประทับใจอยู่หลายอย่างนะมีอยู่ฉากนึงเกี่ยวกับฉากที่พี่ต่ายนั่งรำพึงรำพันถึงอดีตที่ผ่านมาแล้วก็วอนขอให้สามีจากไป ที่มาที่ไปของฉากนี้มันก็คือ ในห้วงเวลาที่สามีแกกำลังจะสิ้นลม มีเครื่องช่วยหายใจ มีกราฟมีอะไรพะรุงพะรัง และในช่วงเวลานั้นบัวจันก็จะต้องไป-กลับที่บ้านเคยอยู่ ไปทุกที่ๆ มีความทรงจำตรงนั้นอยู่ ซึ่งเป็นความเจ็บปวดนะ...คนเคยอยู่กันมาทั้งชีวิต พอเขาไปแล้วตัวเองก็อยู่อย่างอาลัยอาวรณ์ ฉากนี้คือฉากที่ประทับใจมากๆ ร้องไห้เลย
เราก็จะได้เห็นพี่ต่ายเล่นดราม่าหนักๆ ในเรื่องนี้กันอีกครั้งใช่ไหม?
ใช่ เรื่องดราม่าของพี่ต่ายนี่ไม่ต้องพูดถึงเลย มืออาชีพมาก วิธีการเล่าเรื่องที่ตัดสลับไม่ได้เรียงเวลา ตัดสลับโลกความจริง- ความฝัน ห้วงของความทรงจำมาอยู่ในนั้น เป็นหลายเลเยอร์เป็นวิธีการเล่าเรื่องอีกแบบหนึ่ง เป็นรสชาติใหม่ๆ ที่อยากให้ลองเข้าไปดู หนังเรื่องนี้มีความเป็นกวีอยู่สูงมาก อย่างที่บอกเหมือนเรานั่งดูร้อยกรอง ดังนั้นคิดว่าจะได้ดื่มด่ำกับความงามของมัน เหมือนดูห้วงอารมณ์ รู้อารมณ์รู้ห้วงความทรงจำของคน
อีกเรื่องราวความรักที่จะปรากฎในภาพยนตร์เรื่องนี้ล่ะ
อีกมุมของความรัก เป็นเรื่องของผู้หญิงคนหนึ่งในวัย 30ต้นช่วงวัยนี้กำลังฮิต วัยที่กำลังแต่งงานและพูดถึงจุดที่จะต้องแต่งงาน ในเรื่องนุ่น ศิรพันธ์ วัฒนจินดา เธอมารับบทในชื่อ “ปรียา” เป็นคนเชียงใหม่แต่ไปทำงานที่กรุงเทพ ได้ไปเจอกับเสี่ยหนุ่มจากภูเก็ต ก็คือ “เสี่ยเล้ง” แสดงโดย “เจมส์ เรืองศักดิ์ ลอยชูศักดิ์ แล้วก็ลงหลักปักฐานที่จะแต่งงาน โดยจะขึ้นมาแต่งงานที่เชียงใหม่ ในก่อนที่จะแต่งงานปรียาก็ต้องไปเจอเพื่อนเก่า เจอชีวิตเก่าๆ หลายๆ อย่าง เหมือนกับว่ามาสั่งลาชีวิตโสดทุกอย่างก่อนแต่งงาน ไปปาร์ตี้กับเพื่อน เหตุการณ์เหมือนทั่วๆ ไป แล้วก็ไปเจอกับอดีตรุ่นพี่ที่เคยกรี๊ดในวัยมัธยม ทุกคนจะต้องมีแบบรุ่นพี่ที่เราชอบอะไรอยู่แล้ว แต่ปรียาก็พบว่าทุกคนมีชีวิตคู่ที่ล้มเหลวหมดเลย รวมทั้งไอ้พี่คนนั้นด้วย ชื่อ “พี่เป็ก” แสดงโดยพี่ลิฟท์ สุพจน์ จันทร์เจริญ
ในวัยเด็กเราจะมีความทรงจำที่สนุกสนานหลายอย่าง รวมทั้งคำสัญญาที่เราเคยให้ไว้ตอนเด็กๆ พอกลับมาอยู่ในวันคืนชีวิตเก่าๆ แล้วมันมีความสุข แต่กับชีวิตใหม่ก็เกิดความไม่แน่ใจว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันจะดีไหม แล้วจะเลือกทางไหน มันก็เลยกลายเป็นว่าไม่มีความมั่นคงในความคิด
ปรียา กับ เลี่ยม (พิช วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล) พี่น้องสองคนนี้อยู่กัน 2 คน แล้วน้องก็อยากให้พี่สาวมีความสุข อยากทำงานแต่งงานนี้ให้ดีเลิศสมบูรณ์แบบที่สุด แต่ปรากฏว่ามันมีเหตุการณ์เกิดขึ้น..โอ้โหไปกันใหญ่ แถมมีอาตุ๊ยตุ่ย พุทธชาต พงศ์สุชาติ ที่เป็นน้า “น้าอร” ที่เหมือนกับเป็นแม่งานอีกคน เป็นผู้ใหญ่คนเดียวที่มีอยู่ ณ เวลานั้นก็ต้องมาช่วยกัน เหตุการณ์อลหม่านงานแต่งก็เลยเกิดขึ้น หนังเรื่องนี้เป็นหนังที่เขาเรียกได้ว่า romantic comedy ที่สุด สนุกดูเองยังชอบเลย แล้วอย่างหนึ่งในหนังเรื่องนี้นะ คือการแสดงของทุกคนเฉือดเฉือนกันแบบอู้หู้ประทับใจเลยทีเดียว เวลาเราเจอดาราเยอะๆ มาเล่นด้วยกัน แล้วทุกคนต่างเป็นมืออาชีพที่มีประสบการณ์ กำกับก็สนุก ตัดออกมาก็ดูสนุก คุ้มแล้วแหละดูเรื่องนี้เรื่องเดียวพอ (หัวเราะ) อลังการมาก
คาแรกเตอร์ของแต่ละคนในเรื่องเป็นยังไง
เริ่มจาก นุ่น ศิรพันธ์ วัฒนจินดา เราเคยทำงานร่วมกันในงานเฉลิมพระเกียรติตอนนั้นเป็นหนังสั้น แล้วนุ่นเป็นเพื่อนที่รู้จักกันมาในแวดวงอยู่แล้ว ด้วยความเป็นเพื่อนด้วยความสนิทกันด้วยอะไรหลายๆ อย่างก็ทำงานกันง่ายอยู่แล้ว แล้วก็เป็นนักแสดงฝีมือดีมากๆ คนหนึ่งในทั่วฟ้าเมืองไทย นุ่นเล่นเป็น “ปรียา” เป็นผู้หญิงที่หัวอ่อน คิดมาก ขี้นอย เป็นผู้หญิงที่คิดไปเรื่อยว่า “ฉันรักเขาหรือแค่ต้องการความมั่นคงในชีวิต” “เอ๊ะไอ้นั่นก็ดี ไอ้นี้ก็ใช่” คือใครลากไปไหนจูงไปไหนไปอยู่ในสังคมไหนก็เป็นแบบนั้นหมด แต่เธอก็พอใจที่ชีวิตเป็นแบบนี้
ส่วน “เสี่ยเล้ง” แสดงโดยพี่เจมส์ เรืองศักดิ์ เป็นเถ้าแก่น้อยเป็นเศรษฐีหนุ่ม มีความเป็นผู้นำสูง นิ่ง คิดอะไรทำอะไรที่เรียกว่าไม่รู้ว่าคิดอะไรอยู่ เป็นนายคน คาแรกเตอร์ของคนใต้ จะห้วน สั้น เด็ดขาด เรื่องนี้เราจะเห็นพี่เจมส์แลงใต้ คือเป็นคนเหนือกับคนใต้มาเจอกัน ในขณะที่คาแรกเตอร์ของคนเหนือคือคิดเยอะกว่าจะพูดอะไรต้องประดิษฐ์ถ้อยคำ คิดว่าถ้าพูดออกไปแล้วเขาจะคิดยังไง มันก็เลยกลายเป็นว่าวิธีการพูดวิธีการคิดมันจะซับซ้อน เยอะสิ่งกว่าจะแปลความหมายได้ว่าไม่หรือใช่ แต่สำหรับคนใต้ที่เราไปเจอเด็ดขาด ตรง กระชับ ได้ใจความ สื่อสารกันแบบไม่รู้เขาจะคิดยังไง ซึ่งเป็นคาแรกเตอร์ที่มีเสน่ห์ของคนพื้นที่ที่พอเจอกันแล้วมันสนุก
น้องพิช วิชญ์วิสิฐ ก็มารับบทเป็น “เลี่ยม” เป็นน้องชายของปรียา ซึ่งก็เวิ่นเว้อไม่แพ้กัน จริงๆ แล้วเลี่ยมมีชื่อจริงว่า มอส แต่เลี่ยมเป็นฉายา เลี่ยมภาษาเหนือแปลว่าคนสอดรู้อยู่แล้ว เป็นคนสอดรู้พูดมาก รู้อะไรก็จะพูดไปหมด เป็นคนจัดการนู่นนี้นั่น สนิทกับพี่สาวมาก รักพี่สาวมาก
พี่ลิฟท์ สุพจน์ มารับบทเป็น “พี่เป็ก” รุ่นพี่ที่โรงเรียนเก่า พี่ลิฟท์นี่รู้จักกันมาอยู่แล้ว แล้วรู้สึกว่าพี่เค้าเล่นดี เลยอยากทำงานด้วยกันอยู่แล้ว พี่เป็กเป็นพี่ชายในวัยมัธยมที่สาวๆ คลั่งไคล้ แล้วรู้สึกว่าแต่ละคนที่เราเลือกล้วนเป็นไอดอลยุค 90 (หัวเราะ) อย่างพี่เจมส์ ทุกวันนี้ก็ยังไอดอลอยู่ (หัวเราะ) ไอดอลอย่างพี่เจมส์และพี่ลิฟท์มันหวนให้คนดูรู้สึกถึงพี่ชายในวัยเด็กที่เราชื่นชอบ แล้วรู้สึกว่าเป็นการแคสติ้งที่ใช่มากๆ ถูกต้องที่สุดแล้ว พี่ลิฟท์เล่นเป็นพี่เป็กผู้สิ้นหวังในชีวิตเหมือนกัน มันเหมือนเรามองใครสักคนตอนเด็ก โตมาพี่เขาต้องมีแฟนสวยๆ มีลูกมีครอบครัวที่มีความสุขแน่เลย แต่ความเป็นจริงมันไม่ใช่เป็นแบบนั้น ทุกคนมีโอกาสที่จะล้มเหลวได้ทุกเมื่อ ซี่งในเรื่องพี่เป็กเองก็ล้มเหลวกับชีวิตครอบครัว
แล้วก็มีพี่แมว จารุณี บุญเสก เล่นเป็นเพื่อนสนิทของปรียา ชื่อสุ ตัวละครเยอะมากหนังเรื่องนี้ สุ เป็นคนใต้ที่มาอยู่เมืองเหนือเหมือนกัน ใช้ชีวิตมาจนกระทั่งมีสามี มีลูก สามีก็ทิ้งไปเหลืออยู่แต่ลูก เป็นหนึ่งตัวอย่างที่ทำให้ปรียารู้สึกว่าชีวิตคนรอบข้างล้วนล้มเหลว
แล้วก็มีน้าอร เล่นโดยอาตุ่ย พุทธชาต เป็นสาวแก่ ไม่มีสามี แต่นางก็ดูลั้นลากับชีวิตดี ทำตลกไปทั้งเรื่อง มีความรักความห่วงใยของสองพี่น้องนี้ เพราะเหมือนกับเป็นญาติผู้ใหญ่ที่สนิทสนมกันมากๆ เพียงคนเดียวที่คอยดูแลพี่น้องคู่นี้มาโดยตลอด
ประทับใจอะไรเป็นพิเศษบ้างไหม
ประทับใจหลายฉากมาก ฉากแต่งงานก็สวย มีความเป็นเหนือดี ชอบฉากที่นุ่นกลับมาง้อพี่เจมส์ หลังจากที่ทุกอย่างมันเข้ากันไม่ได้เลย เธอต้องมาฝืนมาง้อแล้วก็พยายามทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ซึ่งนั้นแหละเป็นการแสดงที่ยากมาก ทุกๆ ครั้งที่มีการแสดงอะไรก็ตามแต่ แบบฉากจูบกับพี่ลิฟท์ คือเล่นกันดี เล่นกันเอาตายไปเลย นี้คือรู้สึกว่ามันเป็นความสุข ความสนุก เวลาเรากำกับหนังแล้วเราได้เจอนักแสดงดีๆ เก่งๆ มารวมกัน เรื่องนี้มันเป็นงานที่มาดูการแสดงเถอะ สำหรับเด็กๆ สำหรับนักแสดงรุ่นใหม่ๆ ทุกคนปล่อยของ คิดว่ามาดูเอาไว้เป็นตัวอย่าง การตีความบทภาพยตร์ การตีความตัวละคร การตีความอารมณ์และการแสดงออก การถ่ายทอด การสื่อความหมายและการรับส่งของนักแสดงทุกคน มันแม่นมากแล้วมันดีมากๆ สำหรับภาพยนตร์
ครั้งนี้กลับมาร่วมงานกับพิชอีกครั้ง มองน้องคนนี้มีพัฒนาการยังไงบ้างจากเรื่องที่แล้ว
สำหรับ พิช คือทำงานมาด้วยกันตลอดแหละ ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ทั้งงานเพลงและงานหนัง พัฒนาการของพิชไปในทางที่ดีขึ้นมากๆ คือเป็นบทที่แม้แต่เหมือนบทสมทบแต่เขาก็ประคองหน้าที่นี้ได้ดี แล้วก็เช่นกันเป็นบทที่ต้องพูดเยอะพูดแยะ ในชีวิตจริงพิชก็ไม่ได้เป็นคนพูดเยอะอะไรขนาดนั้น ก็ต้องแสดงออกมา แล้วก็แสดงความรักความห่วงใยให้กับพี่สาวของตัวเอง รวมถึงการที่ต้องแสดงให้คลุมเครือว่าแบบมันรู้หรือไม่รู้ความจริงว่าเกิดอะไรขึ้น เขาก็ทำได้ดีมีความพยายาม ต้องไปดูเรื่องนี้แต่สนุกจริงๆ นะ เวลาที่ทุกคนปล่อยของ ไม่มีใครยอมกันเลยแม้กระทั่งน้องใหม่อย่างพิช
รวม ๆ แล้วเริ่มต้นและถ่ายทำเสร็จในการทำงานเรื่องนี้ ใช้เวลาไปนานแค่ไหน
โปรเจคนี้ใช้เวลาหลายปีอยู่นะ ไม่ได้คิดที่จะทำแต่แรก แต่เรื่องราวที่เราจดจำและเขียนเอาไว้ บันทึกมาเรื่อยๆ เราจำไม่ได้หรอกว่ามันนานแค่ไหนแล้ว ถ้าให้นับเวลาจากในสมุดบันทึกมันก็คงเป็นสิบๆ ปี นับเวลาตั้งแต่รวบรวมทุกสิ่งเพื่อทำโปรเจคนี้ ปีหนึ่งทำเรื่อง ปีหนึ่งถ่าย แต่ว่าถ่ายทำกันจริงๆ 2-3 เดือน แล้วก็ทำโพสทำอะไรอีกเพื่อที่ออกมาเป็นหนังเรื่องนี้
Home นำเสนอเรื่องราวความรักอย่างไร
อยากจะบอกว่าชีวิตคนมันไม่ได้มีแค่เรื่องโศกเศร้า ไม่ได้มีแค่เรื่องตลกสนุกสนาน นี้คือหนังที่รวมทุกสิ่งทุกอย่างเอาไว้ด้วยกัน มันก็ครบทุกรส มันก็มีทั้งแบบอบอุ่นใจ ร้องไห้เป็นเผาเต่า หัวเราะครื้นเครงมันอยู่ในนั้นหมด มันคือชีวิตประสบการณ์จากผู้คนรอบข้างที่ผ่านมาของเรามีทุกด้าน ทุกความรู้สึก เดี๋ยวดูไปจนจบก็จะรู้ว่ามันเกี่ยวกันยังไง เพียงแต่ว่าเราพูดถึง เวลาของคน เรารู้สึกว่ามันเปรียบเทียบเหมือนช่วงเวลามากกว่า “กลางคืน โพล้เพ้ล กลางวัน” เหมือนความรู้สึกของคน
นิยามของคำว่าบ้านในความรู้สึกของมะเดี่ยวคืออะไร?
นิยามของคำว่า Home ถ้าเป็นภาษาไทยแปลว่าบ้าน แต่บ้านมันมี2ความหมาย คือ บ้านที่เป็นกายภาพ (house) กับความรู้สึกที่ได้อยู่ในบ้าน (home) ดังนั้นคำว่า home น่าจะในความหมายคือความรู้สึกที่ได้อยู่บ้าน ได้อยู่กับครอบครัว อยู่กับคนที่เรารัก ได้อยู่ในที่ๆ ปลอดภัย ทุกที่ในหนังทุกเรื่องหรือว่าผู้คนที่เราผูกพันในหนังเรื่องนี้ มันทำให้เรารู้สึกเหมือนได้กลับบ้าน มันคือคนที่ทำให้เรารู้สึกเหมือนอยู่บ้าน คนที่เรารัก เพื่อน หรือพ่อแม่ หรือพี่น้องอะไรต่างๆ นานา มันเป็นเรื่องของคนเหล่านี้ ซึ่งมันอาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับบ้าน แต่ว่าจริงๆ แล้วมันคือความรู้สึกเกี่ยวกับผู้คนที่ทำให้เรารู้สึกเหมือนได้อยู่ในบ้านมากกว่า
Home ต้องการสื่อเรื่องราวความรักถึงคนดูอย่างไรบ้าง
เป็นเมสเสจที่ง่ายมาก ถึงมันจะซับซ้อนดูยาวนานขนาดไหน แต่สิ่งที่ต้องการจะบอก อย่างตอนรักแห่งสยามคนกลับไปบอกว่า “มีความรักย่อมมีความหวัง” แต่เวลาผ่านไปเราก็รู้ว่าชีวิตเราบางความรู้สึกมันไม่มีทั้งความรักทั้งความหวัง แต่เราก็ต้องใช้ชีวิตมันต่อไป เราก็ต้องเดินมันต่อไป แต่เราไม่ได้เดินคนเดียวหรอก เรายังมีคนอีกตั้งเยอะที่ยังไม่มีความรักและความหวังอยู่ด้วย เราทุกคนผ่านช่วงเวลาแบบนี้กันมาทั้งนั้น แน่นอนมันโหดร้าย แล้วเราคิดว่ามีแต่เราคนเดียวที่เจอ เปล่า! จริงๆ แล้วมีอีกเยอะอีกแยะ มองไปข้างๆ สิ มีทั้งเพื่อน ทั้งพี่น้อง มีใครอีกตั้งหลายคนที่ยังอยู่กับเราอยู่ ณ เวลานี้
มันเหมือนกับว่าหนังเรื่องนี้มันผ่านความเป็นวัยรุ่นแบบรักแห่งสยามมาแล้ว นั่นทำตอนอายุ 25-26 ผ่านมา 5 ปี ก็ได้เจอความสูญเสีย เจอชีวิตมันเปลี่ยนแปลงอะไรไปมากมาย ดีที่สุดก็เจอ แย่ที่สุดก็เจอ แต่ทั้งหมดที่พูดว่า เราไม่ได้เจออยู่คนเดียว ชีวิตเราไม่ได้เดินไปลำพังนะ ยังมีคนที่อยู่กับเราอีกตั้งเยอะ ยังมีบ้านให้เราอยู่ ยังมีคนที่ทำให้เรารู้สึกว่าเราอยู่บ้าน เราอยู่กับเขาแล้ว อาจจะไม่ใช่แฟนก็ได้ อาจจะเป็นใครก็ได้ อาจจะเป็นเพื่อนที่สนิทมาก เป็นพี่เป็นน้องหรือเป็นคนในความทรงจำในอดีตที่เราแบบนึกถึงแล้วยังรู้สึกจริงมันยังอยู่กับเรา
รักแห่งสยามเราได้เพลงมาประกอบหนังซึ่งดังมากมาแล้ว มาเรื่องนี้มะเดี่ยวจับชิ้นงานเพลงอะไรให้คนดูอีกหรือเปล่า
เพลงประกอบของหนังเรื่องนี้มีหลากหลาย มีทั้งเพลงที่พิชแต่งเองชื่อเพลง “ผ่านเลยไป” แต่ขับร้องโดยวงเสือโคร่ง เพลงที่เล่าเรื่องของหนังเรื่องนี้ และที่พิเศษเป็นอันดับแรกคือเพลง “วันของเรา” ของวง soul after six ที่เอามาcoverใหม่โดยวงออกัส และก็พิเศษมากๆ คือมีเพลง “วันที่สวยงาม” เป็น original soundtrack ของหนังเรื่องนี้ที่พี่ป๊อด โมเดินร์ด็อกให้เกียรติมาแต่งให้กับเรา แล้วน้องพิชเป็นคนร้อง ซึ่งเราดีใจและภูมิใจมาก เพราะว่าพี่ป็อดเป็นไอดอลของเรามาตั้งแต่ไหนแต่ไร และก็ใฝ่ฝันจะร่วมงานกันมานาน แกก็ใช้เวลาเขียนเพลงนี้ประมาณ 4-5 วันเอง และก็ออกมาดีมากเลย เร็วๆ นี้ก็คงได้ฟังกันแล้ว
แนวเพลงประมาณไหนบ้าง
อย่างเรื่องนี้มันจะมีช่วงท้ายเรื่องที่เป็นสรุปหนัง มีเพลงร้องในงานแต่งที่เขียนขึ้นมาใหม่ แล้วทีแรกเขียนคล้ายๆ กับเป็นกลอนหรือเป็นร้อยแก้วก่อน แล้วก็ไปให้พิชดูว่าอยากได้เนื้อหาแบบนี้ๆ ลองไปแต่งดู พิชก็ไปแต่งมาก็เออๆ เพราะดี ก็ได้เป็นเพลงเอามาใช้ในหนัง อย่างเพลงพี่ป๊อด คืออยากได้แบบเพลง end credit เป็นเพลงที่โจ๊ะๆ หน่อย เอาไว้เต้นแด๊นซ์กันได้เป็นเพลงร้องในงานปาร์ตี้ก็ให้โจทย์นี้พี่ป๊อดไป ชอบแนวเพลงกันและกันของที่พี่แต่งอ่ะ ของโมเดิร์นด็อกมีกันและกัน 2 เพลง เพลงที่พี่แต่งเป็นแนว punk rockอยู่แล้ว เขาก็ใช้เวลา 5 วันแต่งแล้วเอามาให้ฟัง เพราะมาก
สุดท้ายแล้วคิดว่าอะไรที่จะทำให้คนต้องไปดูเรื่องนี้กัน
สิ่งที่พิเศษที่เราอยากจะให้คนไปดูหนังเรื่องนี้ อันดับแรกคือ การแสดง การรวมตัวกันของนักแสดงทั้งหน้าเก่า หน้าใหม่ ทุกเรื่องอยู่แล้วเราเข้มข้นมากในส่วนการแสดงตรงนี้ ดังนั้นดูก็คุ้มแล้ว อย่างที่สองก็คือว่า ไม่ได้ทำหนังมานาน เป็นหนังยาวในรอบ 4-5 ปี แล้วแหละที่ไม่ได้เจอ เลยเหมือนกับว่าเรื่องนี้จะได้กลับมาเจอกับแฟนหนังทุกคน
ฝากผลงานภาพยนตร์กับแฟนๆ ทิ้งท้ายนิดนึง
ฝากผลงาน “Home ความรัก ความสุข ความทรงจำ” 19 เมษายนนี้ในโรงภาพยนตร์ทุกโรงใกล้บ้านท่าน หนังดี ดูสนุก เพลงเพราะ จบประทับใจ จูงลูก จูงหลาน จูงแฟน จูงพ่อจูงแม่ ชวนกันไปดูหนังเรื่องนี้ไม่มีพิษไม่มีภัยดูกันได้ทั้งครอบครัว แล้วก็จะเข้าใจความรักกันมากขึ้น เข้าใจคนที่อยู่ใกล้เรามากขึ้น แล้วก็มีความเมตาเอื้ออาทรให้กันมากขึ้น ก็ขอให้ลองไปดูกันนะครับ ขอบคุณครับ