กรุงเทพฯ--5 เม.ย.--วว.
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการสร้างภาคีในการผลิตบัณฑิตระดับปริญญาโท-เอก” มุ่งเน้นการทำวิทยานิพนธ์ที่เป็นประโยชน์โดยตรงต่อภาคอุตสาหกรรม และสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการของภาคเอกชน
ดร.อนุชา เล็กสกุลดิลก รองผู้ว่าการบริหาร รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ วว. ชี้แจงถึงวัตถุประสงค์ของความร่วมมือว่า เพื่อจะร่วมกันผลิตบัณฑิตระดับปริญญาโท-เอก ที่มีความรู้ความสามารถออกสู่สังคมเป็นกำลังแก่ภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชน ซึ่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีเป็นหนึ่งในจำนวนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่ง ที่เปิดการเรียนการสอนสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สามารถจัดการศึกษาสายวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง โดยเน้นหนักที่ภาคการปฏิบัติ ดังนั้นภาระหน้าที่หลักที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือการผลิตบัณฑิตเชิงคุณภาพ ทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโทและปริญญาเอก ออกสู่สังคมที่มีความหลากหลายเพื่อการพัฒนาประเทศ
“วว. เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีความพร้อมให้ความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการดำเนินงานโครงการทั้งด้านองค์ความรู้ทางวิชาการ การวิจัยและพัฒนา ทั้งภาคทฤษฎีและการปฏิบัติ ข้อมูลข่าวสาร ความพร้อมของบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ตลอดจนเครื่องมือ อุปกรณ์ พร้อมทั้งอาคารสถานที่ ห้องปฏิบัติการที่เป็นมาตรฐานสากล ดังนั้นการสร้างความสัมพันธ์ความร่วมมือเพื่อการวิจัยและพัฒนาที่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินโครงการ ซึ่ง วว. ได้ให้ความร่วมมือในโครงการภาคีบัณฑิตลักษณะนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 จนถึงปัจจุบัน โดยมีมหาวิทยาลัยต่างๆเข้าร่วมโครงการจำนวน 27 แห่ง และด้วยศักยภาพของ วว. กับ มทร. จะสามารถนำมาซึ่งการส่งเสริมสนับสนุนให้ความร่วมมือดังกล่าวสำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้” ดร.อนุชา เล็กสกุลดิลก กล่าว
รศ.ดร.นำยุทธ สงค์ธนาพิทักษ์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวว่า มทร. มีความมุ่งมั่นเพื่อเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำทางวิชาชีพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และด้วยบทบาทหน้าที่หลักที่สำคัญและวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งมหาวิทยาลัยนี้ สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการดำเนินโครงการการสร้างภาคีในการผลิตบัณฑิตระดับปริญญาโท-เอก ที่มุ่งเน้นการผลิตบัณฑิตเชิงคุณภาพและมีศักยภาพเพื่อการพัฒนาประเทศได้ในระดับหนึ่ง ความร่วมมือระหว่าง มทร.และ วว. ในครั้งนี้จะสามารถส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินโครงการได้สำเร็จบรรลุวัตถุประสงค์ ทักษะนอกห้องเรียน ประสบการณ์จริงโดยคณะนักวิจัย นักวิชาการ คณาจารย์ จาก วว. ที่ให้ความอนุเคราะห์แก่มหาวิทยาลัยต่างๆ รวมทั้ง มทร. ที่ได้เข้าร่วมโครงการ จึงเป็นนิมิตหมายอันดีในการสร้างหรือผลิตบัณฑิต ที่มีความรู้ความสามารถในการสร้างงานเพื่อการพัฒนาประเทศและเพื่อแข่งขันในระดับสากลได้ในอนาคตอันใกล้
“ปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างขวางด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่อาจกล่าวได้ว่า ไร้ขอบเขต ในขณะที่ความต้องการของตลาดแรงงานขั้นอุดมศึกษา ได้เปลี่ยนแปลงไปเพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมมากขึ้นโดยลำดับ ดังนั้นการเรียนการสอนพร้อมทั้งจุดประสงค์ของนักศึกษาจึงพัฒนาปรับปรุงมุ่งเน้นไปยังสายงานวิชาชีพในสัดส่วนที่มากขึ้นด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามด้วยข้อจำกัดต่างๆของมหาวิทยาลัยไม่ว่าจะเป็นอาคาร สถานที่ บุคลากร วัสดุอุปกรณ์ทางการศึกษาและงบประมาณ เพื่อการพัฒนาทางด้านการศึกษาอื่นๆ ทำให้นักศึกษาต้องใช้ระยะเวลาในการศึกษาที่ยาวนานกว่าในต่างประเทศและด้วยงบประมาณที่แพงกว่า อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผลิตบัณฑิตได้ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดแรงงาน” อธิการ มทร. กล่าว
อนึ่ง วว. ดำเนินโครงการสร้างภาคีในการผลิตบัณฑิตระดับปริญญาโท-เอก มาตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน โดยมี 27 สถาบันการศึกษาทั่วประเทศเข้าร่วมดำเนินงาน โดยมุ่งเน้นการทำวิทยานิพนธ์ที่เป็นประโยชน์โดยตรงต่อภาคอุตสาหกรรม และสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการของภาคเอกชน ด้วยการสร้างโอกาสให้แก่นักศึกษาได้ทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมโดยตรง โดยเฉพาะในด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งนี้ วว. ได้ดำเนินการรับนักศึกษาเข้ามาทำวิทยานิพนธ์กับ วว. และจัดให้มีนักวิชาการที่มีประสบการณ์และความรู้ความชำนาญช่วยให้คำปรึกษาแนะนำ และเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาร่วมในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรม รวมทั้งให้นักศึกษาสามารถเข้ามาใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ของ วว. ในระหว่างการทำวิจัย
ในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา วว. ได้สนับสนุนมหาวิทยาลัยของรัฐในการผลิตบัณฑิตระดับปริญญาโท-เอก มาแล้วไม่น้อยกว่า 100 คน โดยนักศึกษาได้เรียนรู้การทำงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างมีระบบ สามารถวิเคราะห์ผลร่วมกับนักวิชาการอาชีพ และทราบปัญหาที่แท้จริงของ ภาคการผลิต เนื่องจากพันธกิจของ วว. มุ่งเน้นการทำงานเคียงคู่กับภาคอุตสาหกรรมมาตลอด ทำให้นักศึกษาที่ได้ร่วมงานกับ วว. ได้รับการเตรียมความพร้อมในการเข้าไปทำงานและช่วยภาคอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการทำวิทยานิพนธ์ เป็นค่าวัสดุ อุปกรณ์ สารเคมี และค่าบริการวิเคราะห์ทดสอบ เป็นระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี นับจากเค้าโครงวิทยานิพนธ์ผ่านการอนุมัติสำหรับนักศึกษาในระดับปริญญาโท และไม่เกิน 4 ปี นับจากเค้าโครงวิทยานิพนธ์ผ่านการอนุมัติสำหรับนักศึกษาในระดับปริญญาเอก นักศึกษาสามารถใช้เครื่องมืออุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ของ วว. ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย นักศึกษาจะได้รับค่าตอบแทนในกรณีที่นักศึกษาทำวิทยานิพนธ์ในโครงการที่ วว. เป็นเจ้าของโครงการและดำเนินการวิจัยที่ วว. เป็นหลัก
สำหรับนักศึกษาที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ ศูนย์ประสานงานโครงการสร้างภาคีในการผลิตบัณฑิตระดับปริญญาโท-เอก โทร. 0 2577 9176 (ดร.โศรดา วัลภา) ในวันเวลาราชการหรือศึกษารายละเอียดที่ www.tistr.or.th/thesis