สสค.หนุนครูใช้ศิลปะ-การเขียน…ดึงเด็กสนุกคิดวิชาคณิตศาสตร์

ข่าวทั่วไป Thursday April 5, 2012 19:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 เม.ย.--สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน สามเพื่อนครูคณิตศาสตร์จับมือเปิดห้องเรียนแนวใหม่ ใช้วิชาศิลปะและการเขียนเชิงสร้างสรรค์เป็นเครื่องมือให้นักเรียนรู้จักคิด สนุกกับการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ การเรียนการสอนคณิตศาสตร์ไม่ใช่สิ่งที่น่าเบื่อสำหรับเด็กนักเรียนอีกต่อไป เมื่อนายปรีชากร ภาชนะ อาจารย์โรงเรียนบ้านแท่นวิทยา อ.บ้านแท่น จ.ชัยภูมิ พร้อมเพื่อนครูอีก 2 คน คือ นายชัชวาล นามปรีดา อาจารย์โรงเรียนนาจานศึกษา อ.สีชมพู จ.ขอนแก่น และนางรุ่งนภา อารยธรรมโสภณ อาจารย์โรงเรียนชุมแพศึกษา อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น ร่วมกันสร้างเครือข่ายนำวิชาศิลปะและการเล่าเรื่องมาเป็นสื่อให้นักเรียนรู้จักคิดวิเคราะห์ สร้างความเข้าใจและสนใจวิชาคณิตศาสตร์ ส่งผลให้การเรียนดีขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) องค์กรผู้ให้การสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต ภายใต้โครงการนวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1/255 นายปรีชากร ภาชนะ ผู้ได้รับทุนสนับสนุนจาก สสค. เจ้าของโครงการระเบิดชั้นเรียน : คณิตศาสตร์ไม่ยากอย่างที่คิดด้วยเรื่องวิธีการเรื่องราวและแผนภาพ (Amazing Teaching : Mathematics make it easy by SDM approach) ซึ่งใช้ "ศิลปะ" เข้ามาสร้างความเข้าใจ "คณิตศาสตร์" 4 โดยต่อยอดมาจากงานวิจัยของ ผศ.ดร.ปสาสน์ กงตาล แห่งคณะศึกษาศาสตร์ ม.ขอนแก่น นำมาปรับใช้ในห้องเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 5/2 ที่สอนอยู่ เปลี่ยนแปลงวิธีการเรียนการสอนแบบเดิมที่มีครูเป็นศูนย์กลางเปลี่ยนไปให้นักเรียนได้คิดและลงมือทำเพื่อสร้างความเข้าใจด้วยตัวเอง “ครูเป็นเพียงผู้กำหนดเนื้อหา และทำหน้าที่บอกวิธีการ ช่วยให้นักเรียนให้เข้าใจเรื่องที่จะเรียนได้ง่ายขึ้น นักเรียนดูการ์ตูนเรื่องไหนมาแล้วชอบ ก็สามารถนำเอาตัวการ์ตูนมาวาด พร้อมเชื่อมโยงเล่าเรื่องสำหรับวิชาเรขาคณิต หรือวิชาคณิตศาสตร์ก็ได้” อาจารย์ปรีชากร กล่าว อาจารย์ปรีชากล่าวด้วยว่าผลการเรียนการสอนคณิตศาสตร์โดยวิธีเล่าเรื่องและใช้ภาพวาด ทำให้ผู้เรียนมีความสุขจากการเรียนคณิตศาสตร์ มีเวลาให้กับนักเรียนอยู่กับชิ้นงาน รู้จักการทำงานแบบเป็นทีม สร้างวินัยในการรักษาเวลา สร้างความมั่นใจให้นักเรียนกล้าพูดกล้านำเสนอ ทำให้ผลการเรียนคณิตศาสตร์ดีขึ้น “ดูจากที่ประเมินชิ้นงานของเด็ก จะเห็นพฤติกรรมการเรียนของเด็กสนุกสนาน มีความมั่นใจในตัวเอง ผลการเรียนดีขึ้น คนที่เรียนดีอยู่แล้วก็รักษาระดับ คนที่ด้อยกว่าก็ดีขึ้นและไปช่วยเพื่อนที่เรียนวิชาคณิตศาสตร์ไม่ดีให้ดีขึ้นอีก บรรยากาศนี้เชื่อว่าจะทำให้นำไปสู่การเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคตได้” อาจารย์ปรีชากล่าว ขณะที่ อาจารย์ชัชวาล ครูคณิตศาสตร์จากโรงเรียนนาจานศึกษา อ.สีชมพู จ.ขอนแก่น กล่าวว่าการสอนคณิตศาสตร์แบบเรื่องราวและแผนภาพ ครูจะลดบทบาทลง นักเรียนจะได้วิธีคิด ครูเป็นเพียงผู้แนะนำกระบวนการคิด สร้างบรรยากาศให้นักเรียนได้คุ้นเคย ค่อยๆปรับวัฒนธรรมการเรียน เพราะมีหลายวิธีที่จะหาคำตอบได้ นักเรียนไม่ได้เป็นผู้รอรับอย่างเดียวเหมือนที่ผ่านมา ด้าน รศ.ดร.จิราภรณ์ ศิริทวี ที่ปรึกษาโครงการส่งเสริมนวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้ สสค. กล่าวว่าการใช้ศิลปะและการเล่าเรื่องมาปรับใช้กับการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์เป็นแนวคิดที่น่าสนใจ หากเกิดผลดีกับผู้เรียนควรได้รับการสนับสนุนให้สามารถนำไปขยายผลต่อไปในสถานศึกษาอื่นๆได้ เพราะส่วนใหญ่การการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ส่วนใหญ่เป็นการท่องจำ แต่ตอนนี้คณิตศาสตร์เป็นสิ่งใกล้ตัว ต้องทำการเรียนการสอนให้สนุกเชื่อมโยงกับชีวิตจริงให้ได้มากกว่าเรียนเพื่อใช้สอบ ความคิดสำคัญกว่าการที่นักเรียนสามารถคิดคณิตศาสตร์ได้ ติดต่อ: กนกวรรณ กลินณศักดิ์ นักวิชาการ สสค. baitong@qlf.or.th 084-124-4426

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ