กรุงเทพฯ--10 เม.ย.--กบข.
กบข.เผยเริ่มจ้างตรงผู้จัดการกองทุนต่างประเทศ เพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างผลตอบแทน ลดขั้นตอนการซื้อขาย เข้าถึงข้อมูลของบริษัทที่ กบข.ลงทุนได้รวดเร็วขึ้น และลดค่าใช้จ่ายด้านการลงทุน ระบุปัจจุบันได้ผู้จัดการกองทุนระดับโลก 9 รายบริหารเงินลงทุนต่างประเทศกว่า 4.5 หมื่นล้านบาท แย้มในอนาคตอาจเพิ่มเพดานการลงทุนต่างประเทศ เพื่อกระจายความเสี่ยง และเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทน
นางสาวโสภาวดี เลิศมนัสชัย เลขาธิการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยว่า เดิม กบข.ลงทุนต่างประเทศผ่านกองทุนรวม (Mutual Fund) แต่ปัจจุบัน กบข. ได้จ้างตรงผู้จัดการกองทุนต่างประเทศ เพื่อบริหารเงินลงทุนต่างประเทศมูลค่า 45,000 ล้านบาท เพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างผลตอบแทนการลงทุนให้มีความคล่องตัวมากขึ้น ลดขั้นตอนในการติดต่อซื้อขาย รวมทั้งสามารถเข้าถึงข้อมูลของบริษัทที่ กบข.ลงทุนได้รวดเร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการลงทุนในปี 2554 ลงประมาณ 1.2%
ทั้งนี้ เงินลงทุนต่างประเทศทั้งหมดของ กบข.อยู่ที่ 64,000 ล้านบาท โดย กบข. แบ่งการบริหารเงินลงทุนออกเป็น 2 ส่วน คือ เงินลงทุนประมาณ 30% ของพอร์ตการลงทุนจะถูกบริหารโดยทีมผู้จัดการกองทุนของ กบข. ส่วนเงินลงทุนที่เหลืออีก 70% ของพอร์ตการลงทุน กบข.จะว่าจ้างผู้จัดการกองทุนต่างประเทศบริหาร ซึ่งปัจจุบัน กบข.ได้ว่าจ้างผู้จัดการกองทุนต่างประเทศจำนวน 9 ราย บริหารเงินลงทุนโดยตรง แบ่งเป็น ผู้จัดการกองทุนต่างประเทศ 4 ราย บริหารเงินลงทุนในหุ้นต่างประเทศประมาณ 21,000 ล้านบาท ส่วนผู้จัดการกองทุนต่างประเทศ 5 ราย บริหารเงินลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศประมาณ 24,000 ล้านบาท
สำหรับการคัดเลือกผู้จัดการกองทุนต่างประเทศนั้น กบข.ใช้หลักเกณฑ์ 4P + 1S ประกอบด้วย นโยบายการดำเนินธุรกิจ ( P : Principle of Business) บุคลากรที่มีประสิทธิภาพ ( P : People) กระบวนการทำงานที่คล่องตัวอย่างมืออาชีพ ( P : Process) ผลงานที่ดีและเป็นไปตามความคาดหวัง ( P : Performance) และบริการที่ดี พร้อมให้ข้อมูลการลงทุนทันท่วงเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุนแก่ กบข. ( S : Service) นอกจากนี้ กบข. ยังได้รับข้อมูลของผู้จัดการกองทุนทั่วโลก พร้อมคำแนะนำจาก Towers Watson บริษัทที่ปรึกษาด้านการลงทุนที่เชี่ยวชาญ และได้รับความยอมรับอย่างกว้างขวางจากบรรดานักลงทุนสถาบันชั้นนำทั่วโลกอีกด้วย ปัจจุบันนี้ผู้จัดการกองทุนต่างประเทศที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกทั้งสิ้น 9 รายเป็นผู้จัดการกองทุนแนวหน้าระดับโลก เช่น เอ็ม เอฟ เอส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศอังกฤษ (MFS International (UK) Ltd.) พิมโก้ สหรัฐอเมริกา(PIMCO, USA) เป็นต้น
นางสาวโสภาวดี กล่าวทิ้งท้ายว่า การจ้างผู้จัดการกองทุนต่างประเทศโดยตรงของ กบข. ถือเป็นแนวทางเดียวกับที่กองทุนบำนาญทั่วโลกดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน เพราะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการลงทุน การที่ กบข. ได้ผู้จัดการกองทุนที่มีความเชี่ยวชาญทั้ง 9 รายมาช่วยบริหารเงินลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ต่างประเทศ ทำให้มั่นใจว่า เงินออมของสมาชิกจะถูกบริหารอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีคืนกลับสู่สมาชิก
ปัจจุบัน กบข. มีสัดส่วนการลงทุนต่างประเทศประมาณ 20% ของพอร์ตการลงทุน หากแนวโน้มอัตราผลตอบแทนการลงทุนประเทศมีทิศทางเป็นบวกต่อเนื่อง กบข.อาจพิจารณาขยายเพดานการลงทุนต่างประเทศให้มีสัดส่วนสูงขึ้น