กรุงเทพฯ--10 เม.ย.--สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย
สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) โดยนายสวรรค์ แสงบัลลังค์เลขาธิการสมาคมฯ พร้อมตัวแทนองค์กรสวัสดิภาพสัตว์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เข้าพบ นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานรัฐสภา เพื่อยื่นร่าง ผลักดัน พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ....ซึ่งเป็นร่างที่กรมปศุสัตว์ สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) และสภาทนายความร่วมกันพัฒนา พร้อมรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งและรักสัตว์กว่า 12,000 รายชื่อ เพื่อสนับสนุนการนำร่างดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาโดยภาคประชาชนตามที่รัฐธรรมกำหนด
นายสวรรค์ แสงบัลลังค์ เลขาธิการสมาคมฯ เปิดเผยว่า “คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.... ที่ได้รับการแก้ไขปรับปรุงโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้วนั้น ปัจจุบันร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวได้รับการบรรจุอยู่ในวาระเร่งด่วนที่ 17 ที่จะนำเสนอที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป ในส่วนของสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย(TSPCA) ขณะนี้ได้รวบรวมรายชื่อประชาชนผู้รักสัตว์จำนวนกว่า 12,000 รายชื่อมานำเสนอ เพื่อเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้แก่คณะกรรมาธิการได้เห็นความสำคัญของร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับการป้องกันการทารุณกรรมและพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งเป็นสิ่งใหม่สำหรับสังคมไทยได้เห็นความสำคัญและความจำเป็นในการที่จะให้มี พ.ร.บ.ดังกล่าวซึ่งจะกลายเป็นพลังผลักดัน พ.ร.บ.ดังกล่าวให้ผ่านการพิจารณาของสภาและประกาศใช้เป็นกฎหมายโดยเร็ววัน” นายสวรรค์ ได้เน้นว่า “สาระสำคัญของ พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยสรุปมีดังนี้
- พ.ร.บ.นี้ครอบคลุมสัตว์บ้านและสัตว์เลี้ยง ที่เลี้ยงไว้เพื่อเป็นสัตว์บ้าน เพื่อใช้งาน เพื่อใช้เป็นอาหารและเพื่อใช้ในการแสดง อาทิ สุนัข แมว โค กระบือ ม้า สุกร เป็ด ไก่ ฯลฯ แต่ไม่รวมสัตว์ป่า และสัตว์น้ำ
- มีนิยามคำว่า ทำอย่างไรเรียกว่า “ทารุณ” และ “ไม่ทารุณ” ไว้ชัดเจนพร้อมระบุว่าทำอย่างไรเรียกว่า“สวัสดิภาพ” และ “ไม่มีสวัสดิภาพ” สำหรับสัตว์
- มีการจัดตั้งคณะกรรมการป้องกันการทารุณและการจัดสวัสดิภาพสัตว์พร้อมกำหนดบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการไว้ชัดเจน
- มีการจัดตั้งองค์กรจัดสวัสดิภาพสัตว์และสถานสงเคราะห์สัตว์เพื่อสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาชนในการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพ
- มีการกระจายอำนาจการบังคับใช้กฎหมายโดยไม่เจาะจงเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างเดียว โดยกำหนดบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบให้แก่พนักงานผู้ปฏิบัติตามกฎหมายไว้ชัดเจนเพื่อให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพสูงสุด
- มีบทกำหนดโทษผู้กระทำผิดเพิ่มขึ้น เช่น ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับผู้เลี้ยงสัตว์ที่ปล่อยปละละเลยไม่ดูแลสวัสดิภาพสัตว์ ปรับไม่เกิน 20,000 บาท (กฎหมายปัจจุบันปรับ 1,000 บาท จำคุก 1 เดือน)
ทั้งนี้ เพื่อให้มีกฎหมายป้องกันการทารุณและพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์เกิดขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งในแง่การพัฒนาสังคม จริยธรรมและเศรษฐกิจของประเทศ”
ติดต่อ:
สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA)
คุณอรุนฤดี พันขวง โทร.02-255-5805-7
http://www.thaispca.org