การประกาศผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย โดยบริษัท Japan Credit Rating Agency, Ltd. (JCR)

ข่าวทั่วไป Tuesday April 10, 2012 10:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 เม.ย.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ได้แถลงข่าวเกี่ยวกับผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยโดยบริษัท Japan Credit Rating Agency, Ltd. (JCR) เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2555 ว่า บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ JCR ได้ยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (Foreign Currency Long-Term Senior Debts) ที่ระดับ A- และอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินบาท (Domestic Currency Long-Term Senior Debts) ที่ระดับ A โดยมีแนวโน้มความน่าเชื่อถือที่มีเสถียรภาพ (Stable Outlook) โดยอันดับความน่าเชื่อถือดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการทางเศรษฐกิจของไทยที่มีปัจจัยสนับสนุนจากอุตสาหกรรมการส่งออก ความมีเสถียรภาพของระบบการเงินการธนาคาร ฐานะการคลังที่ดีและดุลการต่างประเทศที่แข็งแกร่ง ในขณะเดียวกัน JCR จะยังคงเฝ้าระวังสถานการณ์ทางการเมืองและสังคมของประเทศไทยที่เป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรง รวมถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดอุทกภัยขึ้นอีก แนวโน้มความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ เนื่องจากแม้ว่าเศรษฐกิจไทยได้ถดถอย อย่างรุนแรงในปี 2554 จากปัญหาอุทกภัยแต่ได้แสดงให้เห็นสัญญาณในการฟื้นตัวหลังจากการที่ปัญหาต่างๆ ได้คลี่คลายลง ซึ่งในปี 2555 JCR คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะหวนกลับมาเจริญเติบโตจากอุปสงค์ในการฟื้นฟูบูรณะประเทศ ในส่วนของสถานะทางการคลังและหนี้สาธารณะของประเทศไทยยังคงอยู่ในระดับที่ดี อย่างไรก็ดี จากการที่สถานะทางการคลังและหนี้สาธารณะอาจจะถดถอยลงเนื่องจากรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการป้องกันอุทกภัย ส่งผลให้มีความจำเป็นต้องเฝ้าติดตามพัฒนาการในอนาคตต่อไป ในขณะเดียวกันความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกที่เกิดจากการลงทุนโดยตรงสะสมของนักลงทุนต่างชาติยังคงอยู่ เช่นเดียวกับสถานะด้านต่างประเทศที่แข็งแกร่ง โดยทุนสำรองระหว่างประเทศมีสูงกว่าหนี้ต่างประเทศทั้งหมดเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ถึงแม้ว่าสถานการณ์ทางการเมืองและสังคมจะยังคงรักษาความมีเสถียรภาพไว้ได้นับตั้งแต่มีการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อปี 2554 แต่ความขัดแย้งทางการเมืองและสังคมที่รุนแรงซึ่งเกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาจนกระทั่งปี 2553 ยังคงเป็นปัญหาที่หยั่งรากลึกและซับซ้อนที่ประเทศไทยต้องเผชิญ JCR จึงจะจับตามองพัฒนาการทางด้านการเมืองและสังคมและความเป็นไปได้ที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยในระยะต่อไป 1. เศรษฐกิจของไทยฟื้นตัวจากผลกระทบของปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้น เศรษฐกิจไทยมี การเจริญเติบโตสูงถึงร้อยละ 7.8 ในปี 2553 โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลัก คือ การฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ และผลกระทบที่ไม่รุนแรงจากเหตุการณ์ความไม่สงบในกรุงเทพฯ อย่างไรก็ดี การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 ชะลอตัวลงอย่างมากจากปัญหาอุทกภัย ได้ส่งผลให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของปี 2554 ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 0.1 และจากการที่ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในเครือข่ายผู้ผลิตและ จัดจำหน่ายของอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในเอเชียตะวันออก อาทิ อุตสาหกรรม ยานยนต์และสินค้าอิเลคทรอนิกส์ ทำให้ประเทศไทยต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก โดยในปี 2554 การส่งออกสินค้าและบริการคิดเป็นร้อยละ 75.5 ของ GDP นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเป็นประเทศจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวต่างชาติให้ความสนใจ โดยในปี 2554 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงกว่า 19 ล้านคน ซึ่งนับว่าเป็นสถิติที่สูงที่สุดแม้ว่าจะมีปัญหาอุทกภัยอย่างรุนแรงก็ตาม อีกทั้งภาคการเงินการธนาคารยังคงดำรงสถานะที่มั่นคงในช่วงวิกฤติที่ผ่านมา ซึ่งภายหลังจากที่ปัญหาอุทกภัยคลี่คลายลง การผลิตยานยนต์และการบริโภคภาคเอกชนก็เริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัวในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา โดยในปี 2555 JCR คาดการณ์ว่า อัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวกลับมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 4 อันเนื่องจากการขยายตัวของอุปสงค์ในการฟื้นฟูบูรณะภายใต้มาตรการป้องกันอุทกภัย และขึ้นอยู่กับว่าจะไม่เกิดความเสื่อมถอยอย่างฉับพลันของเศรษฐกิจโลก 2. ผลกระทบต่อฐานะทางการคลังจากการเพิ่มรายจ่ายเพื่อดำเนินมาตรการป้องกัน อุทกภัยยังเป็นที่น่าจับตามอง ฐานะการคลังของประเทศไทยกลับมาถดถอยลงในปีงบประมาณ 2552 โดยมีสาเหตุหลักจากรายได้จากภาษีที่ลดลงและการเพิ่มรายจ่ายภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ในปีงบประมาณ 2553 การขาดดุลทางการคลังลดลง โดยสัดส่วนการขาดดุลการคลังต่อ GDP ปรับตัวดีขึ้นจากร้อยละ 4.7 ในปีงบประมาณ 2552 มาอยู่ที่ร้อยละ 2 ในปีงบประมาณ 2553 และร้อยละ 1.5 ในปีงบประมาณ 2554 สำหรับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 37.3 ณ สิ้นเดือนกันยายน 2551 มาอยู่ที่ร้อยละ 45.2 ณ สิ้นเดือนกันยายน 2552 และลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 41.7 ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 และนับตั้งแต่รัฐบาลปัจจุบันได้เริ่มเข้ามาบริหารงานภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกันยายน 2554 ได้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับนโยบายประชานิยมของรัฐบาล เช่น การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แต่ตราบใดที่ประเทศไทยยังคงรักษากรอบวินัยทางการคลังที่กำหนดขึ้นตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 ผลกระทบต่อฐานะทางการคลังก็จะถูกจำกัดไว้ โดยในปีงบประมาณ 2555 ได้มีการกำหนดสัดส่วนการขาดดุลงบประมาณต่อ GDP ไว้ที่ร้อยละ 3.6 รวมถึงผลกระทบจากการเพิ่มรายจ่ายสำหรับการฟื้นฟูความเสียหายจากอุทกภัย ซึ่งมีรายจ่ายจำนวนมากในปีงบประมาณ 2555 และ 2556 เพื่อดำเนินมาตรการป้องกันอุทกภัย ซึ่งจะเป็นการเบิกจ่ายนอกกรอบวงเงินงบประมาณภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังเพื่อลงทุนวางระบบการบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 และพระราชกำหนดกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ พ.ศ. 2555 ซึ่งถูกจำกัดไว้ในวงเงินรวมไม่เกิน 400,000 ล้านบาท ซึ่งการเพิ่มขึ้นของรายจ่ายดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อฐานะทางการคลังในอนาคตได้ ทั้งนี้ JCR จะยังคงเฝ้าติดตามกระบวนการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทยและพัฒนาการของฐานะการคลังในอนาคตต่อไป 3. การรักษาเสถียรภาพของดุลการต่างประเทศ ปัญหาน้ำท่วมในปี 2554 ทำให้การส่งออกสินค้าของประเทศไทยชะลอตัวลง และส่งผลให้การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดลดลง โดยประมาณร้อยละ 84 ของการส่งออกจะเป็นสินค้าที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิต เช่น สินค้าเทคโนโลยีสูงในอุตสาหกรรมเครื่องจักรและชิ้นส่วน ชิ้นส่วนอิเลกทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ ซึ่งนับเป็นสัดส่วนที่สูง และ JCR เห็นว่า ที่ผ่านมาถึงแม้จะมีการขาดเสถียรภาพทางการเมือง แต่ก็ไม่มีสัญญาณใดที่บ่งชี้ว่าจะมีการถอนเงินลงทุนโดยตรงจากนักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนในอุตสาหกรรมดังกล่าวออกจากประเทศไทย ในขณะเดียวกัน ผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมต่อการลงทุนโดยตรงในปี 2554 ก็มีเพียงเล็กน้อย อย่างไรก็ดี ปัจจัยสำคัญที่จะเป็นตัวตัดสินการลงทุนโดยตรงใหม่ที่จะเข้ามาก็คือแผนการบริหารจัดการน้ำ ในส่วนของความสามารถในการแข่งขันด้านส่งออกและภาคการต่างประเทศของประเทศไทยยังคงมีความแข็งแกร่งอย่างมากดังจะเห็นได้จากอุตสาหกรรมการผลิตที่หนุนหลังโดยการลงทุนโดยตรงสะสมและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รวมถึงทุนสำรองเงินตราที่มีมากกว่าหนี้ต่างประเทศเป็นจำนวนมาก โดยทุนสำรองเงินตราของไทยได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และถึงแม้ทุนสำรองจะลดลงเล็กน้อยในปี 2554 แต่ยังคงอยู่ในระดับที่จำนวน 167.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ณ สิ้นปี 2554 (ไม่รวมทองคำ และเทียบเท่ากับมูลค่าการนำเข้า 9.9 เดือน และ 3.4 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น) โดยทุนสำรองทั้งหมดมีมากกว่าหนี้ต่างประเทศของทั้งประเทศที่มียอดคงค้างอยู่ที่ 105.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ณ สิ้นปี 2554 ส่วนวิจัยนโยบายหนี้สาธารณะ สำนักนโยบายและแผน สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ โทร. 0 2265 8050 ต่อ 5505 หรือ 5520

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ