กรุงเทพฯ--10 เม.ย.--สำนักวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด
ดีกรีความเชื่อมั่นต่อทิศทางเศรษฐกิจโลกในช่วงไตรมาสแรกของปี 2555 นับว่ากระเตื้องขึ้นมาก ที่เป็นเช่นนี้เพราะมี 2 ประเด็นใหญ่ๆ ที่น่าจับตามอง
ปัจจัยแรกคือ การเปลี่ยนขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจและการเงิน ซึ่งมีผู้นำคือ จีน อินเดีย และบราซิล ตามด้วยอีกหลายประเทศทั่วเอเชีย แอฟริกา และตะวันออกกลาง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวเป็นปัจจัยในเชิงบวก
ปัจจัยที่สอง เป็นอิทธิพลในช่วงสั้น แต่เป็นอิทธิพลเชิงลบ นั่นคือภาวะหนี้ที่ยังค้างคาและเป็นตัวถ่วงของการฟื้นตัวในยุโรปและอเมริกา ดังจะเห็นว่าในอเมริกานั้น ทั้งประชาชน ภาครัฐ และบริษัทต่างๆ ล้วนต้องลดการก่อหนี้ ซึ่งนั่นคือสัญญานของการฟื้นตัวที่ค่อยๆ ทำไปอย่างมั่นคง ไม่หวือหวา ในทางกลับกัน ทางฝั่งยุโรปกลับส่งสัญญานให้เห็นปัญหาเพิ่มเติม และจุดนี้เองที่ใช้เป็นตัวอธิบายสภาวะความรู้สึกที่มีต่อตลาดการเงินทั่วโลก
ปลายปีที่แล้ว ปัจจัยหลายอย่างส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ตลาด ณ เวลานั้นเกรงกันว่าจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจรอบ 2 หรือ double-dip recession ในสหรัฐฯ หลังจากเพิ่งจะฟื้นตัวได้ไม่นาน ผนวกกับความวิตกว่าเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวอย่างรวดเร็วและรุนแรง ในส่วนยูโร ก็กลัวกันว่าจะล่มสลาย ไปไม่รอด โชคดีเหลือเกินที่สิ่งที่กลัวกันเหล่านี้ ไม่มีเรื่องใดเลยที่เกิดขึ้น
สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดมีความเห็นว่า การปรับตัวในเชิงบวกของสหรัฐฯ และจีนส่งผลให้ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจดีขึ้น แต่สถานการณ์ในยุโรปจะยังเป็นปัญหา โดยมีธนาคารกลางยุโรปเป็นตัวแปรที่สำคัญ กล่าวคือ ธนาคารยุโรปมีผลงานที่น่าชื่นชมในการดึงให้ยุโรปพ้นจากปากเหว โดยอัดฉีดเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ระยะเวลา 3 ปีเข้าไปช่วยแก้วิกฤตเมื่อเดือนธันวาคม และอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ ธนาคารกลางยุโรปช่วยให้ธนาคารต่างๆ ไม่ต้องล้ม ทำให้ไม่เกิดสภาพสินเชื่อตึงตัว ซึ่งส่งผลดีต่อความรู้สึกของตลาด แต่ความรู้สึกโล่งใจระยะสั้นๆ ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาภาวะหนี้ของยุโรปในระยะยาว
โลกจะยังคงเผชิญความท้าทายในด้านเศรษฐกิจด้วยหลากหลายสาเหตุ ซึ่งในที่นี้จะหยิบยกขึ้นมาเฉพาะเรื่องหลักๆ ได้แก่
1. ภาวะถดถอยในยุโรป — ประเทศหลักในยุโรปยกเว้นฝรั่งเศส ล้วนประสบปัญหาเศรษฐกิจหดตัวในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2554 รวมถึงประเทศรอบนอกในเขตยูโรด้วย ได้แก่ ไอร์แลนด์ อิตาลี สเปน โปรตุเกส และกรีซ จึงเป็นไปได้สูงมากที่ภาวะถดถอย อาจจะในปีนี้ และต่อไปจนถึงปีหน้า
2. แน่นอนว่าสหรัฐฯ จะต้องฟื้นตัวได้ในระยะยาวของสหรัฐฯ หากจะมีข่าวดีให้ประหลาดใจในปีนี้ เช่น เศรษฐกิจสหรัฐฯ เติบโตเกินกว่าที่คาดไว้ ก็คงเป็นเพราะบริษัทขนาดใหญ่ที่มีงบดุลที่แข็งแกร่งตัดสินใจว่าจะลงทุนเพิ่ม แต่ดูเหมือนว่าในความเป็นจริง บริษัทเหล่านี้กลับลังเลที่จะลงทุน อาจเป็นเพราะกลัวจะไม่มีอุปสงค์มากพอ หรือเพราะวิตกเกี่ยวกับแนวโน้มด้านกฏเกณฑ์จากภาครัฐหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพฤศจิกายนปีนี้
คงจะดีหากระดับความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจปรับตัวสูงขึ้น ทำให้บริษัทเอกชนอเมริกันกล้านำเงินออกมาใช้จ่าย แต่ถ้าไม่ สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ การจ้างงานและค่าจ้าง/เงินเดือน จะมีการเติบโตเพียงเล็กน้อย ส่งผลให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังคงอ่อนแอ คนอเมริกันจำนวนมากยังจำเป็นต้องออมให้มาก และใช้จ่ายให้น้อยลง
สิ่งนี้ ยังจะนำไปสู่ปัญหาในเรื่องอาหารและพลังงาน กล่าวคือ ในปีที่แล้ว ราคาอาหารและพลังงานมีราคาสูงขึ้น ทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อทั่วโลก เห็นได้จากประเทศที่กำลังเติบโตหลาย ประเทศมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ในขณะที่ปัจจุบัน ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นดูไปแล้วเหมือนจะเป็นภาษีที่เรียกเก็บจากการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ซึ่งกัดกร่อนอำนาจในการใช้จ่ายของสหรัฐฯ และยุโรป และกระทบต่อหลายประเทศในเอเชียเมื่อเศรษฐกิจเติบโตช้าลง
เราไม่อาจมองข้ามผลกระทบของราคาน้ำมันต่อเศรษฐกิจโลกได้ เพราะเป็นปัญหาคุกคามที่ใหญ่ที่สุด ปัจจัยที่ผลักดันให้ราคาน้ำมันแพงขึ้น ได้แก่ 1. ความต้องการในตลาดมาก หรือ 2.อุปทานหดตัวฉับพลัน หากน้ำมันราคาสูงเป็นเพราะมีความต้องการในตลาดมาก อย่างน้อยในท้ายที่สุดก็ยังมีการจับจ่ายใช้สอย และการค้าเพิ่มขึ้น ปัจจุบัน ความต้องการน้ำมันในเขตเศรษฐกิจเอเชีย และตะวันออกกลางส่งผลให้ราคารน้ำมันสูงขึ้น แต่สิ่งนี้เป็นผลในเชิงลบต่อเศรษฐกิจในซีกโลกตะวันตก เนื่องจากต้นทุนที่สูงขึ้นจะไม่ถูกชดเชยด้วยการค้าขายที่เพิ่มขึ้นเช่นในโลกตะวันออก นอกจากนี้ สถานการณ์ของอุปสงค์ด้านน้ำมันยังน่าเป็นห่วงมากขึ้นไปอีก เมื่อทุกฝ่ายเกรงว่าน้ำมันจะขาดแคลนเนื่องด้วยปัญหาในอิหร่าน ยิ่งทำให้ราคาน้ำมันสูงยิ่งขึ้นไปอีก
จีนเองก็ต้องจับตามองราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิด ตลอดปีที่ผ่านมาทางการจีนดำเนินนโยบายคุมเมเพื่อกดเงินเฟื้อไว้ โดยให้ความสำคัญที่ราคาอสังหาริมทรัพย์ ในเวลาเดียวกันก็ระมัดระวังไม่ให้มีการปรับขึ้นของค่าแรง การรับมือด้านปัญหาเศรษฐกิจของทางการจีนทำได้ดีมาตลอด แต่ปัญหาที่ถาโถมเข้ามาก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแก้ไข เศรษฐกิจจีนเติบโตช้าลง แต่ยังไม่ทรุด และเป็นการชะลอตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่รวดเร็วรุนแรง ในการประชุมสภาประชาชนปีนี้ นายกรัฐมนตรีเหวินเจียเป่าประกาศลดตัวเลขคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจจาก 8% เป็น 7.5% แม้แนวโน้มระยะยาวของจีนจะยังคงสดใส แต่ไม่ช้าก็เร็วจีนจะต้องเผชิญกับภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจ ซึ่งแปรผันตรงกับการพัฒนาของจีน ยิ่งเศรษฐกิจโตขึ้นมากเท่าไร การบริหาจัดการยิ่งทำได้ยากขึ้นเท่านั้น ระบบเศรษฐกิจที่ปรับจากการกระตุ้นด้วยการลงทุน มาเป็นการกระตุ้นด้วยการบริโภคและจับจ่ายใช้สอย จะนำไปสู่ปัญหาท้าทายใหม่ๆ อีกมากอย่างแน่นอน
แม้ปัจจุบันเศรษฐกิจจีนชะลอความร้อนแรงลง แต่ก็คาดว่าในช่วงปลายปีจะมีนโยบายผ่อนคลายทีละน้อย ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจดีดตัวกลับขึ้นมา
หลังวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2551 เศรษฐกิจโลกก็หดตัวในปี 2552 นับเป็นการตกต่ำทางเศรษฐกิจครั้งแรกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และในปี 2553 เศรษฐกิจฟื้นตัวกลับขึ้นมา เป็นผลจากการกระตุ้นเชิงนโยบายจากโลกตะวันตก ผนวกกับความแข็งแกร่งของจีนและตลาดเกิดใหม่อื่นๆ ทำให้เศรษฐกิจโลกเติบโตที่ 4.4% แต่ในปี 2554 อัตราการเติบโตช้าลงเมื่อการกระตุ้นเชิงนโยบายในโลกตะวันตกเริ่มหมดแรง และหลายประเทศในเอเชีย และอเมริกากลางขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ปีที่แล้ว เศรษฐกิจโลกเติบโตเพียง 3%
ข่าวดีสำหรับปีนี้คือ ยังมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ แต่คงจะเป็นไปได้ยากที่การเติบโตจะสูงกว่าปี 2554 ยุโรปมีปัญหาท้าทายเพิ่มขึ้น อเมริกายังคงมีหนี้กองโตที่ต้องสะสาง และหลายประเทศในตลาดเกิดใหม่เติบโตช้าลงในช่วงแรกของปีนี้ สรุปได้ว่า ธีมเศรษฐกิจโลกจะยังคงเป็นเรื่องของ --- ความเปราะบางในโลกตะวันตก และความท้าทายใหม่ๆ ในโลกตะวันออก
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ:
พินทิพย์ เอี่ยมนิรัตน์ — ฝ่ายองค์กรสัมพันธ์
อีเมล์ - pintip.iamnirath@sc.com
โทร. — 02-724-8022