กรุงเทพฯ--10 เม.ย.--เอแบคโพลล์
สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง วงเงินสะพัด สิ่งน่าหวาดเสียวทางสังคม และคนที่ประชาชนอยาก รดน้ำดำหัวด้วยช่วงเทศกาลสงกรานต์: กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนที่พักอาศัยใน 28 จังหวัดของประเทศ
นางสาว ปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง วงเงินสะพัด สิ่งน่าหวาดเสียวทางสังคม และคนที่ประชาชนอยากรดน้ำดำหัวด้วยช่วงเทศกาลสงกรานต์ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 12 ปีขึ้นไปที่พักอาศัยใน 28 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี อยุธยา ลพบุรี นครปฐม กาญจนบุรี ชลบุรี เชียงใหม่ เชียงราย นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุดรธานี อุตรดิตถ์ ขอนแก่น อุบลราชธานี นครราชสีมา ศรีสะเกษ สกลนคร หนองบัวลำภู ระนอง พัทลุง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และปัตตานี จำนวนทั้งสิ้น 2,149 ตัวอย่าง โดยดำเนินการสำรวจในระหว่างวันที่ 10 มีนาคม - 9 เมษายน 2555 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกอำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน โดยมีช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 พบว่า
ตัวอย่างเกินกว่าครึ่งหรือร้อยละ 58.5 ไม่มีแผนหรือความตั้งใจที่จะเดินทางไปต่างจังหวัดในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ ในขณะที่ร้อยละ 41.5 มีความตั้งใจที่จะไปต่างจังหวัด โดยตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 65.9 ตั้งใจจะไปเที่ยวสงกรานต์กับครอบครัว รองลงมา ร้อยละ 29.5 ตั้งใจจะไปกับแฟน /คนรัก ร้อยละ 25.9 ตั้งใจจะไปกับเพื่อน และร้อยละ 4.6 ตั้งใจจะไปกับเพื่อนร่วมงาน หัวหน้า ลูกน้อง ตามลำดับ
และเมื่อสอบถามถึงค่าใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว พบว่า เกินกว่าครึ่งหรือร้อยละ 53.8 ระบุค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ร้อยละ 38.6 ระบุเท่าเดิม ในขณะที่ร้อยละ 7.6 ระบุลดลง เพราะต้องการประหยัดไม่อยากซื้ออะไรมากมาย เศรษฐกิจไม่ดี มีรายได้ลดลง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามถึงค่าใช้จ่ายสำหรับการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 48.0 ระบุเป็นค่าเดินทาง เช่น ตั๋วโดยสาร ค่าน้ำมัน เป็นต้น รองลงมาร้อยละ 43.6 ระบุเป็นค่าอาหารและเครื่องดื่ม ร้อยละ 4.2 ระบุค่าที่พัก ร้อยละ 1.8 ระบุค่าของที่ระลึก ร้อยละ 1.6 ระบุเป็นค่าเข้าชมและกิจกรรมต่าง ๆ และร้อยละ 0.8 ระบุอื่น ๆ อาทิ ทำบุญ ให้ลูกหลาน ให้พ่อแม่ เป็นต้น
นอกจากนี้เมื่อทำการประมาณการทางสถิติ พบว่า จะมีเงินสะพัดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ทั่วประเทศ 144,190,623,071 บาท โดยพบว่า จะมีวงเงินสะพัดจากค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เช่น ตั๋วโดยสาร น้ำมัน 69,211,499,074 บาท ค่าใช้จ่ายสำหรับค่าอาหารและเครื่องดื่ม 62,867,111,659 บาท ค่าใช้จ่ายสำหรับที่พัก 6,056,006,169 บาท ค่าใช้จ่ายสำหรับซื้อของที่ระลึก 2,595,431,215 บาท ค่าใช้จ่ายสำหรับเข้าชมและกิจกรรมต่าง ๆ 2,307,049,969 บาท และค่าใช้จ่ายด้านอื่น ๆ อาทิ ทำบุญ ให้ลูกหลาน ให้พ่อแม่ 1,153,524,985 บาท ตามลำดับ
เมื่อถามถึงกิจกรรมที่น่าหวาดเสียว ไม่ดีแต่อยากเล่น อยากดู อยากใช้ พบสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ กลุ่มวัยรุ่น เยาวชนอายุไม่เกิน 24 ปีส่วนใหญ่หรือร้อยละ 62.3 อยากเล่นสาดน้ำขณะขับรถ ในขณะที่ผู้ใหญ่ที่อายุ 25 ปีขึ้นไปร้อยละ 44.5 อยากเล่นเช่นกัน และที่น่าเป็นห่วงคือ กลุ่มวัยรุ่น กลุ่มเยาวชนเกินครึ่งหรือร้อยละ 54.8 และกลุ่มผู้ใหญ่ร้อยละ 32.3 อยากดูการเต้น โคโยตี้ นอกจากนี้ กลุ่มวัยรุ่นร้อยละ 38.1 และกลุ่มผู้ใหญ่ร้อยละ 34.6 อยากดื่มเหล้า เบียร์ ไวน์ ช่วงเทศกาล ร้อยละ 34.0 ของกลุ่มเยาวชน และร้อยละ 33.9 ของกลุ่มผู้ใหญ่อยากเล่นการพนัน และที่น่าพิจารณาคือ กลุ่มวัยรุ่นและเยาวชนเกินกว่า 1 ใน 10 หรือร้อยละ 14.2 และกลุ่มผู้ใหญ่ร้อยละ 4.5 ยังคงตั้งใจจะใช้ยาเสพติดช่วงเทศกาลสงกรานต์
เมื่อสอบถามถึงนักการเมืองที่ชาวบ้านอยากรดน้ำ ดำหัวมากที่สุดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พบว่า อันดับแรกหรือ ร้อยละ 43.7 อยากรดน้ำดำหัวนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี อันดับสองหรือร้อยละ 26.9 ระบุเป็นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อันดับสามหรือร้อยละ 11.1 ระบุนายชวน หลีกภัย อันดับสี่หรือร้อยละ 10.6 ระบุ ร.ต.อ.ดร.เฉลิม อยู่บำรุง และอันดับห้า หรือร้อยละ 4.2 ระบุ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ตามลำดับ
ที่น่าสนใจคือ เมื่อสอบถามถึง อดีตนายกรัฐมนตรีที่ชาวบ้านอยากรดน้ำดำหัวมากที่สุด พบว่า อันดับที่หนึ่งหรือ ร้อยละ 40.2 อยากรดน้ำดำหัว พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร อันดับที่สองหรือร้อยละ 23.4 ระบุเป็น พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อันดับสามหรือร้อยละ 11.5 ระบุเป็นนายชวน หลีกภัย อันดับสี่หรือร้อยละ 11.0 ระบุเป็น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และอันดับห้า หรือร้อยละ 9.0 ระบุเป็นนายอานันท์ ปันยารชุน ตามลำดับ
นางสาว ปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า ที่น่าเป็นห่วงที่สุดในการสำรวจครั้งนี้คือ เรื่องความตั้งใจจะใช้ยาเสพติดในกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชนที่ดูเหมือนว่าไม่ได้ลดลงแต่อย่างไรทั้งๆ ที่มีมาตรการปราบปรามอย่างเข้มงวดในช่วงเวลานี้อาจแสดงให้เห็นว่า มาตรการปราบปรามเพียงอย่างเดียวจะไม่สามารถแก้ปัญหายาเสพติดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และแม้แต่ในกลุ่มผู้ใหญ่ก็ยังมีสูงถึงประมาณร้อยละ 5 ของผู้ที่ถูกศึกษา ดังนั้น ปัญหาสังคมจึงเป็นปัญหาที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรัฐบาลชุดปัจจุบันจำเป็นต้องใส่ใจเร่งแก้ไขไม่ใช่มุ่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว
จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 47.0 เป็นชาย ร้อยละ 53.0 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 10.0 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 22.3 อายุระหว่าง 20 — 29 ปี ร้อยละ 18.3 อายุระหว่าง 30 — 39 ปี ร้อยละ 21.8 อายุระหว่าง 40 — 49 ปี และ ร้อยละ 27.6 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 63.2 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 32.3 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 4.5 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 30.2 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 27.1 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 16.1 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 11.0 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 6.6 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 5.9 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา ในขณะที่ร้อยละ 3.1 ระบุว่างงาน/ไม่ประกอบอาชีพ