กรุงเทพฯ--14 พ.ค.--กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
กรมอุทยานแห่งชาติฯ รณรงค์สร้างจิตสำนึกท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ จัดการปัญหาขยะในอุทยานแห่งชาติทางทะเล หลังจากพื้นที่การฝังกลบและทำลายไม่เพียงพอ ยกตัวอย่างหลังจากการดูงานที่เกาะเสม็ด หากไม่ร่วมลดปริมาณขยะ สุดท้ายอาจต้องสร้างเตาเผาขยะ ส่วนองค์กรเครือข่ายชุมชนรักเสม็ดได้อาสาสมัครกว่า 147 คน พร้อมใจเก็บขยะวันละ 5 ตัน กำจัดเพื่อให้ถูกสุขลักษณะ
นายธานี วิริยะรัตนพร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่าปัจจุบันปัญหาที่กรมอุทยานฯพบในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ มักเกิดจากการบุกรุกรังแกและทำลายทรัพยากรธรรมชาติจากมนุษย์ เช่น การปล่อยน้ำเสีย ทิ้งขยะหรือสิ่งปฏิกูลลงสู่ทะเล ซึ่งนับวันจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ทรัพยากรทางทะเลลดน้อยลง ซึ่งหากยังปล่อยไว้เช่นนี้ต่อไป อาจทำให้สภาพธรรมชาติของท้องทะเลก็คงไม่มีความสวยงามอีกต่อไป
จากปัญหาดังกล่าว กรมอุทยานฯ จึงได้จัดทำโครงการอุทยานแห่งชาติใสสะอาด ปราศจากมลภาวะ ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 12 สิงหาคม 2547 ที่ทรงห่วงใยต่อทรัพยากรป่าไม้ และเพื่อสร้างจิตสำนึกแก่นักท่องเที่ยว และประชาชนทั่วไปให้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในรูปแบบการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน พร้อมตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและให้รู้จักการท่องเที่ยวอย่างถูกวิธี เพื่อป้องกันมิให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ ปัญหาด้านการจัดการขยะ ของเสีย หรือมลภาวะต่างๆ ตามมา โดยจะดำเนินการในพื้นที่อุทยานแห่งชาติรวม 148 แห่งทั่วประเทศ
นายธานี กล่าวต่อว่าเมื่อเกาะเสม็ดเป็นแหล่งที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการสถานพักตากอากาศมากขึ้น ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดไม่เพียงพอต่อความต้องการของนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังมีสิ่งปลูกสร้างเกิดขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยว รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกทางด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของภาคเอกชน เช่น อาคารที่พัก ร้านอาหาร การคมนาคมขนส่งทั้งทางบกและทางน้ำเพิ่มมากขึ้น เมื่อนักท่องเที่ยวเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกปี ปัญหาที่ตามมาบนเกาะเสม็ดคือ ปริมาณน้ำที่จะนำมาอุปโภคและบริโภคไม่เพียงพอ และปริมาณขยะที่เพิ่มมากเป็นเงาตามตัวและวิธีการกำจัดขยะมูลฝอยที่ไม่ถูกสุขลักษณะตามหลักวิชาการ
"ที่ผ่านมา ปัญหาขยะมูลฝอยบนเกาะเสม็ดเป็นเรื่องเร่งด่วนที่กรมฯต้องดำเนินการแก้ไข แต่เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายพื้นที่ทำให้เกิดปัญหาของจุดรวบรวมขยะมูลฝอยไม่เหมาะสม เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมขยะไม่เพียงพอ ทำให้เกิดผลที่ตามมาคือ ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัย ปัญหาขยะตกค้าง ปัญหาพื้นที่รองรับไม่เพียงพอ เพราะปัจจุบันขยะที่เกิดขึ้นที่เกาะเสม็ดเฉลี่ย 5 ตัน/วัน เป็นขยะจากนักท่องเที่ยว 1.5-3 กิโลกรัม/วัน แม้ว่ากรมฯจะใช้วิธีการกำจัดด้วยการฝังกลบ และส่งกลับมากำจัดที่แผ่นดินใหญ่ (ฝั่งบก) โดยผลจากการศึกษาระหว่างกรมฯและ JBIC จัดระดมความคิดเห็นจากเจ้าหน้าที่กรมฯ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และชุมชนในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้ดีขึ้น ซึ่งกระบวนการที่ JBIC เสนอการกำจัดขยะขั้นสุดท้ายคือ การสร้างเตาเผาขยะ" นายธานี กล่าว
นอกจากนี้ สิ่งที่กรมอุทยานฯได้ดำเนินการเพื่อลดปัญหาขยะคือ การขอความร่วมมือจากนักท่องเที่ยวไม่ให้นำอาหารเข้ามารับประทานในอุทยาน เพราะปัจจุบันมีสถานประกอบการประเภทโรงแรมหรือรีสอร์ตให้บริการที่เกาะเสม็ดถึง 49 ราย มีนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการในปี 2546 จำนวน 300,000 คน คิดเป็นรายได้ 14 ล้านบาท และในปีนี้ 7 เดือนที่ผ่านมามีรายได้ 12 ล้านบาท คาดว่าทั้งปีจะมีรายได้ประมาณ 20 ล้านบาท ซึ่งกรมอุทยานฯมีรายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากประชาชนที่เข้าใช้บริการอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศปีละ 250 ล้านบาท และในส่วนรายได้กว่า 5% หรือประมาณ 13 ล้านบาท กรมอุทยานฯต้องนำมากำจัดขยะในพื้นที่อุทยาน โดยอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ดได้ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และผู้ประกอบการภาคเอกชน จัดการปัญหาขยะ
ด้านนางสาวดุจหทัย นาวาพานิช ประธานองค์กรเครือข่ายชุมชนรักเสม็ด กล่าวว่าปัจจุบันองค์กรฯมีอาสาสมัครในการจัดเก็บขยะรอบเกาะเสม็ดจำนวน 147 คน จากจำนวนขยะที่จัดเก็บได้ 5 ตัน/วัน และช่วงเทศกาลอยู่ที่ 7 ตัน/วัน เพื่อนำมากำจัดด้วยการฝังกลบในพื้นที่ 3 ไร่ โดยต้นทุนการกำจัดขยะนั้นมาจากการจัดสรรให้ของกรมอุทยานฯ องค์การบริหารส่วนตำบล การจัดเก็บค่าธรรมเนียมการกำจัดขยะจากผู้ประกอบการภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป คิดเป็นรายได้ 100,000 บาท/เดือน เพื่อใช้ในการกำจัดขยะ อาทิ ค่าบดอัด ค่าขนส่ง และค่าแรงงานแก่อาสาสมัคร จำนวน 80,000 บาท โดยจำนวนที่เหลือ 20,000 บาทจะนำมาเป็นกองทุนใช้ในกิจกรรมของกลุ่มองค์กรเครือข่ายฯ
สำหรับปัญหาปริมาณน้ำที่จะนำมาอุปโภคและบริโภคไม่เพียงพอนั้น ผู้ประกอบการกิจการโรงแรมและรีสอร์ตบนเกาะเสม็ดส่วนใหญ่ ได้จัดทำระบบบำบัดน้ำเสียเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ เพราะน้ำจืดที่สั่งซื้อในแต่ละวันอยู่ที่ 60,000 ลิตร/วัน ราคาลิตรละ 15 สตางค์ มีน้ำเสียเกิดขึ้นที่ 16,000 ลิตร/วัน แต่น้ำเสียที่บำบัดเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ อาทิ รดน้ำต้นไม้ ปลูกผัก อยู่ที่ 8,000 ลิตร/วัน ซึ่งสามารถช่วยลดมลภาวะที่เกิดจากสถานประกอบการได้ในระดับหนึ่ง--จบ--
-นท-