กรุงเทพฯ--11 เม.ย.--ปตท.
ฝ่ายบริหารความเสี่ยงราคาและวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันว่า ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์ที่ 2-6 เม.ย. 55 ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงทั้ง 3 ชนิด โดยน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เฉลี่ยปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อน 0.83 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล อยู่ที่ระดับ 121.14 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เฉลี่ยปรับตัวลดลง 0.11 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล อยู่ที่ 124.02 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล และน้ำมันดิบเวสเท็กซัส (WTI) เฉลี่ยปรับตัวลดลง 1.65 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรลอยู่ที่ 103.47 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1.44 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล อยู่ที่ 139.01 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล และน้ำมันดีเซลเฉลี่ยลดลง 0.74 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล อยู่ที่ 135.78 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล โดยมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคา ได้แก่
ผลกระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงลบ
? อิหร่านและประเทศตะวันตกมีกำหนดการประชุมเกี่ยวกับโครงการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ที่เมืองอิสตันบุลประเทศตุรกีในวันที่ 14 เม.ย. 55 โดยประเทศตะวันตกต้องการจำกัดระดับการปรับปรุงคุณภาพยุเรเนียมของอิหร่านที่ระดับไม่เกิน 20% การประชุมดังกล่าวจะเป็นครั้งแรกในรอบ 18 เดือน
? ภาวะเศรษฐกิจของยุโรปชะลอตัว สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (Eurostat) รายงานอัตราว่างงานของยุโรปเดือน ก.พ. 55 อยู่ที่ระดับ 10.8% สูงกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์และเป็นระดับที่สูงที่สุดตั้งแต่มีการก่อตั้งสหภาพยุโรป และตัวเลขดัชนีภาคการผลิต Purchasing Manager Index ในกลุ่มสหภาพยุโรปเดือน มี.ค. 55 ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อนอยู่ที่ระดับ 47.7 จุด บ่งชี้การชะลอตัวของภาคการผลิต
? โรงกลั่นขนาดใหญ่ของจีน 12 แห่ง (กำลังการกลั่น 80%ของประเทศ) มีแผนกลั่นน้ำมันที่ระดับ 2.62 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงจากเดือนก่อน 600,000 บาร์เรลต่อวัน จากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นและอุปสงค์ในประเทศลดลง
? อิรักคาดการณ์ปริมาณส่งออกน้ำมันดิบเดือน เม.ย. 55 สูงกว่าระดับส่งออกเดือน มี.ค. 55 ที่ระดับ 2.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 เนื่องจากการอิรักมีแผนเปิดท่าส่งออกในทะเลครบทั้ง 8 ท่า ภายในเดือน เม.ย.นี้ ซึ่งจะเพิ่มความสามารถในการส่งออกได้ 900,000 บาร์เรลต่อวัน
? นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าซาอุดีอาระเบีย จะยังคงปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในระดับสูงแม้สหรัฐฯ อังกฤษ และ ฝรั่งเศสจะระบายน้ำมันจากคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ อันเป็นผลจากการเจรจาของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ส่งออกน้ำมันลดการผลิตซึ่งจะทำให้การระบายน้ำมันสำรองไม่เกิดประโยชน์
ผลกระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงบวก
? เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคแตะระดับสูงสุดในรอบ 13 เดือน อีกทั้งดัชนีใช้จ่ายของผู้บริโภคในสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราเร็วสุดในรอบ 7 เดือน โดยดัชนีชี้วัดผู้บริโภค (Consumer Sentiment Index) เดือน มี.ค. 55 อยู่ที่ระดับ 76.2 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.9 จุด
? ธนาคารกลางของอังกฤษ (BOE) ประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.5% และนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าธนาคารกลางอังกฤษจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับนี้ต่อไปอย่างน้อยอีก 1 ปี เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และฝรั่งเศสประสบความสำเร็จในการระดมทุนจากการประมูลขายพันธบัตรรัฐบาลกำหนดไถ่ถอน 5-15 ปี จำนวน 8.4 พันล้านยูโร สูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยมีผู้ประสงค์ซื้อมากกว่ามูลค่าที่ออกประมูลเกือบ 3 เท่า
? การปิดซ่อมบำรุงฉุกเฉิน (Unplanned Maintenance) ของแหล่งผลิตน้ำมันดิบในทะเลเหนือแหล่ง Brent, Forties, Oseberg และ Ekofisk ในเดือน เม.ย. 55 ทำให้ปริมาณการผลิตลดลงมาอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 8 เดือน
ในระยะสั้นราคาน้ำมันดิบ Brent และ WTI มีแนวรับแนวต้านอยู่ที่ 118-125 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล และ 99-105 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรลตามลำดับ ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงหลังจากปัญหากรณีการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ของอิหร่านมีทิศทางที่ดีขึ้นจากอิหร่านและประเทศตะวันตกจัดการประชุมที่ประเทศตุรกี ในวันที่ 14 เม.ย. 55 ซึ่งเป็นการเจรจาครั้งแรกในรอบ 18 เดือน ของทั้งสองฝ่ายที่ทำให้ตลาดคลายความกังวลต่อปัญหาเสถียรภาพในตะวันออกกลาง อีกทั้งสภาพเศรษฐกิจของยุโรปชะลอตัวจากมาตรการรัดเข็มขัดในยุโรปเริ่มส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของคนในยุโรปทำให้ยอดขายปลีกของสหภาพยุโรปในเดือน ก.พ. 55 ลดลง 0.1% อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันได้รับแรงสนับสนุนจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสำรอง (Spare capacity) ปรับลดลงต่อเนื่องเพราะการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านลดลง ล่าสุดตุรกีมีแผนลดอัตราการนำเข้าน้ำมันดิบจากประเทศอิหร่าน 10% โดยโรงกลั่น Tupras ในตุรกีมีแผนลดการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่าน 20% ทั้งนี้ตุรกีนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านปริมาณ 200 KBD คิดเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่อันดับ 5 ของอิหร่านให้จับตามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ (QE3) ที่ธนาคารกลางอาจประกาศใช้หากภาคแรงงานสหรัฐฯ มีสัญญานอ่อนแอ และการระบายปริมาณสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve) ซึ่งอาจดำเนินการในเดือน มิ.ย.-ก.ค. 55 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สหภาพยุโรปจะยุติการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่าน