โนเกีย สร้างความมั่นใจ เด็กไทยรู้จักแก้ปัญหากับโครงการ MAKE A CONNECTION

ข่าวทั่วไป Friday May 14, 2004 12:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 พ.ค.--โทเทิล ควอลิตี้ พีอาร์ (ประเทศไทย)
โนเกีย ผู้นำในอุตสาหกรรมการสื่อสารไร้สายของโลก ได้เล็งเห็นปัญหาของเด็กในสถานการณ์ปัจจุบัน มีเกิดขึ้นอย่างหลากหลาย การเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่เด็กและเยาวชน จึงเป็นสิ่งสำคัญ ต้องอาศัยองค์รวม ไม่มุ่งเน้นเฉพาะปัญหาใดปัญหาหนึ่ง จึงได้ให้การสนับสนุนโครงการเสริมสร้างทักษะชีวิตเยาวชนไทย สานสายใยเพื่อสังคม (MAKE A CONNECTION) เพื่อ เสริมสร้างทักษะการดำรงชีวิตและความสัมพันธ์ในสังคมให้แก่เยาวชน โดยมีสภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชน ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นผู้รับผิดชอบโครงการดังกล่าว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ โครงการ Make a Connection ที่ International Youth Fund (IYF) ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเยาวชนระดับสากลและโนเกียร่วมกันจัดขึ้น เพื่อเสริมสร้างโอกาสการพัฒนาตนเองให้แก่เยาวชนทั่วโลกโดยใช้เวลาดำเนินการ 3 ปี เริ่มต้นในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2546 โดยในระยะแรก เป็นการศึกษา เก็บข้อมูลปัญหาต่าง ๆ ของเยาวชน ในระดับประเทศและท้องถิ่น พร้อมสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อชุมชนเพื่อเป็นรากฐานในการดำเนินการ ส่วนระยะที่ 2 ในปีนี้ซึ่งเป็นปีไฮไลท์เป็นการลงมือสู่ภาคปฏิบัติ โดยเริ่มต้นด้วย กิจกรรมฝึก อบรมแกนนำเยาวชน ณ ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน จังหวัดนครราชสีมา และส่วนสุดท้ายของโครงการซึ่งเป็นปีที่ 3 จะเป็นการดำเนินในด้านของการติดตามทบทวนผล เพื่อทำการพัฒนาเป็น แม่แบบสำหรับให้กระทรวงศึกษาธิการนำไปปฏิบัติตามโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศต่อไป
นางสาวกชกร สถาปิตานนท์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด โนเกีย โมบาย โฟนส์ บริษัทโนเกีย (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงโครงการครั้งนี้ว่า "ความสัมพันธ์ในสังคม เป็นสิ่งหนึ่งที่โนเกียให้ความสำคัญ และสอดคล้องกับสโลแกนของโนเกียที่ว่า CONNECTING PEOPLE โดยเริ่มจากการมองเห็นสถานการณ์ ที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนในสังคม จึงเกิดความคิด ที่จะพัฒนาเด็กให้เขา รู้จักคิด วิเคราะห์ ตัดสินใจ ลงมือปฏิบัติแก้ไขปัญหาในทุกสถานการณ์ เสริมให้เด็กเห็นคุณค่าของตนเอง มีทักษะในการสร้างความสัมพันธ์ โดยทางโนเกียให้งบประมาณสนับสนุนโครงการในประเทศไทยเป็นจำนวนเงินถึง 12 ล้านบาท และ
ประเทศอื่น ๆ ที่มีโครงการลักษณะนี้รวมทั้งหมด 17 ประเทศ ซึ่งแต่ละประเทศจะมีการดำเนินการในรูปแบบของกิจกรรมทักษะชีวิตเหมือนกัน และจะมีการประชุมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ถึงปัญหาแต่ละประเทศ ตัวอย่างโครงการที่ต่างประเทศได้เริ่มทำเช่น ประเทศเกาหลีใต้ ได้ศึกษากรณีชุมชนแออัด เป็นต้น และในอนาคตคาดว่าจะขยายโครงการออกไปเป็น 30 ประเทศทั่วโลก" ทางโนเกียไม่เพียงแต่ให้งบประมาณสนับสนุนเท่านั้นแต่ยังมอบหมายให้พนักงานของโนเกียเข้าไปมีส่วนร่วมโดยเป็นอาสาสมัครใน โครงการอีกด้วย ในตอนท้าย กชกรยังได้เน้นย้ำว่า "แม้ว่าโนเกีย จะเป็นบริษัททางธุรกิจ แต่เมื่อเข้าไปดำเนินงานทางธุรกิจในประเทศใดแล้ว ก็อยากจะมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสังคมของประเทศนั้น ๆ แม้ว่าโครงการบางอย่างอาจจะดูห่างไกลจากตัวเรา แต่เราก็อยากช่วยเหลือ" ซึ่งถือเป็นการตอกย้ำในการขอมีส่วนร่วมในสังคม
นางศรีศักดิ์ ไทยอารี ผู้อำนวยการ สภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชน ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผู้รับผิดชอบโครงการนี้ กล่าวว่า "ปัญหาเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนที่เป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติ หลังจากศึกษาข้อมูลมาเป็นเวลา 1 ปีนั้นมีอยู่ 4 เรื่อง คือ ปัญหาเรื่องเซ็กส์ ปัญหายาเสพติด ปัญหาการใช้ความรุนแรง และปัญหาเด็กไม่อยากเรียนหนังสือ ซึ่งส่วนใหญ่หลาย ๆ โครงการที่จัดขึ้นเกี่ยวกับทักษะชีวิต มักจะแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ คือเมื่อเกิดปัญหาแล้วจะทำอย่างไร มาคิดทีหลัง แต่โครงการของเรามีรูปแบบที่แตกต่างจากโครงการอื่น ๆ คือเรามุ่งที่จะพัฒนาตัวของเด็ก โดยมีการศึกษาข้อมูล แล้วนำข้อมูลนั้นมาสร้างแก่นกลางให้เด็กและเยาวชนให้เขาศึกษา เรียนรู้วิธีที่จะคิด วิเคราะห์ แล้วตัดสินใจเองว่าจะปฏิบัติอย่างไร เหมือนเราวางรากฐานอันแข็งแกร่งไว้ให้เขาแล้ว เมื่อเขาเจอปัญหา หรือมองเห็นปัญหา ก็จะนำไปใช้แก้ไขได้อย่างถูกต้องในทุกส่วนทุกปัญหาที่เข้ามาหาเขา และมีการติดตามประเมินผลทุกขั้นตอน ที่สำคัญเยาวชนสามารถนำไปถ่ายทอดสู่สังคมผ่านมุมมองของเขาเองได้ นอกจากนี้จุดที่แตกต่างอีกข้อคือ เราไม่ได้มุ่งแต่จะพัฒนาเยาวชนเท่านั้น เรายังพัฒนาผู้นำชุมชน , ครูบาอาจารย์และพ่อแม่ไปพร้อมกัน เพื่อจะได้มีความเข้าใจและเชื่อมสัมพันธ์กัน" โดยมีจำนวนผู้เข้าอบรมทั้งหมดร่วม 200 คน ด้านเยาวชนเป็นเยาวชนที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษา ทั้งในระบบและนอกระบบการศึกษา
โครงการนี้เป็นโครงการนำร่องโดยเริ่มดำเนินการใน 3 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา มีโรงเรียนในอำเภอเมือง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอเสิงสาง อำเภอสูงเนิน อำเภอด่านขุนทด ซึ่งครั้งต่อไปจะจัดขึ้นในจังหวัดอุดรธานี และจังหวัดมหาสารคาม
เริ่มต้นพิธีเปิด เป็นพิธีที่ทุกคนไม่ว่าจะเป็นเยาวชนแกนนำ ครูอาจารย์ พร้อมด้วยนางศรีศักดิ์ ไทยอารี ทำพิธีเปิดพร้อมกันอย่างมีส่วนร่วม โดยการทำป้ายชื่อโครงการให้สมบูรณ์ จากนั้นก็จะเป็นการทำกิจกรรมประจำฐานต่าง ๆ เช่น ฐานอยากได้ตามไปเอา ฝึกความสามัคคี โดยเป็นการแสวงหาสิ่งของ ซึ่งมีสถานการณ์บังคับให้เกิดความยุ่งยากในการได้มา เพราะฉะนั้น ภายในกลุ่มต้องมีกระบวนการคิด การวางแผนและการแบ่งบทบาทหน้าที่ของสมาชิกแต่ละคนเพื่อให้เกิดการทำงานที่เป็นรูปแบบและที่ขาดไม่ได้คือ ความสามัคคี สำหรับการทำงานเป็นหมู่คณะ หรือจะเป็น ฐานดอกไม้ของฉัน เป็นการค้นหาและยอมรับความเป็นตัวตนของตัวเอง ทั้งในด้านบวกและในด้านลบ ซึ่งนำเสนอในรูปของดอกไม้ กลางดอกคือ ชื่อ กลีบดอกคือ ความดีของตน ใบคือสิ่งที่ไม่ดีและต้องการเปลี่ยนแปลง รากคือ ความคาดหวัง บทสุดท้ายของกิจกรรมเด็กจะได้แนวทางในการพัฒนาตนเอง และฐานอื่น ๆ เช่น เธอคือผู้นำ, เพื่อนช่วยเพื่อนและร่วมใจชาวมดงาน เหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกิจกรรมเท่านั้น
อีกหนึ่งกิจกรรมพิเศษที่สอดคล้องกับสโลแกน CONNECTING PEOPLE ที่จะจัดในปีนี้คือ
บัดดี้ สคูล กิจกรรมที่มีการสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยงโดยใช้เทคโนโลยีเทเลคอนเฟอร์เรนซ์/อินเตอร์เน็ต ระหว่างเยาวชน 2 กลุ่มคือ เยาวชนแกนนำในจังหวัดนครราชสีมาและเยาวชน โรงเรียนบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) หนึ่งในห้าโรงเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมบัดดี้ สคูลได้แก่ โรงเรียนจิตรลดา ,โรงเรียนมาแตร์ เดอีฯ ,โรงเรียนบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี),โรงเรียนสาธิตเกษตร และโรงเรียนสาธิตปทุมวัน ซึ่งกิจกรรมนี้จะทำให้ทั้งสองกลุ่ม ซึ่งอยู่ในภาวะที่แตกต่างได้แสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ซึ่งกันและกัน เพราะมีความเชื่อที่ว่าเด็กที่มีทักษะชีวิตดี ย่อมจะเป็นบัดดี้ สคูลที่ดีได้ และที่สร้างความตื่นเต้นให้กับทีมผู้สื่อข่าวที่ไปร่วมงานในครั้งนี้คือ นักข่าวเยาวชน ศูนย์ข่าวเยาวชนไทย ซึ่งเป็นนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาโรงเรียนขามทะเลสอวิทยา อำเภอ ขามทะเลสอ จังหวัดนครราชสีมา ได้สัมภาษณ์เยาวชนแกนนำและผู้สื่อข่าว เพื่อนำไปออกรายการโทรทัศน์ ของศูนย์ข่าวเยาวชนไทย ช่อง 11 อีกด้วย
ใคร ๆ ก็ใฝ่ฝันที่จะเห็นอนาคตของเด็กไทย สามารถคิดและแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง มาร่วมมือกันเป็นส่วนหนึ่งที่ดีของสังคมที่จะช่วยให้เด็กและเยาวชนคิดและแก้ปัญหาเป็น เพื่อให้อยู่ในโลกอันสดใสได้อย่างผู้ชนะ
หากต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ แม็กซิม่า คอนซัลแตนท์ โทร.0-2434-8300
คุณสุจินดา,คุณแสงนภา,คุณชลธิชา
นานาทัศนะจากเยาวชนแกนนำ
นายวิทยา สนุกแสน หรือน้องโอ่ง จากโรงเรียนสุรธรรมพิทักษ์ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา พูดถึงกิจกรรมอบรมเยาวชนแกนนำในครั้งนี้ว่า " ตอนแรกผมเข้าใจว่าจะเป็นกิจกรรมอบรมเข้าค่าย เหมือนโครงการอื่น ๆ ซ้ำซาก แต่เมื่อเข้ามาแล้ว ผมว่าเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจ เพราะนอกจากจะมีเยาวชนที่มาอบรมแล้ว ยังมีอาจารย์ รวมถึงผู้ปกครองด้วย จึงเป็นการสร้างความเข้าใจไปพร้อม ๆ กัน" น้องโอ่งยังพูดถึงปัญหาเยาวชนในชุมชนหรือโรงเรียนที่อยู่ว่า "ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องอิทธิพลในหมู่เพื่อนฝูง ซึ่งมักจะรวมตัวกันสร้างอิทธิพล ทำเรื่องไม่ดี ข่มเหง แกล้งเพื่อนคนอื่น ซึ่งผมจะหาวิธีแก้โดยผมจะเข้าไปคุย ชักจูง โน้มน้าวให้เขาแสดงออกในทางที่ดี ประสบการณ์ครั้งนี้จะนำไปสร้างเป็นกิจกรรมใช้ในโรงเรียน"
เด็กหญิงอภิญญา ศาลาแก้ว น้องจิ๊บ โรงเรียนท่าช้างราษฎร์บำรุง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมา หนึ่งในเยาวชนแกนนำที่มาเข้าร่วมอบรม เปิดเผยถึงโครงการที่ได้คิดไว้ในใจว่า "เมื่ออบรมเสร็จแล้ว จิ๊บอยากจะนำประสบการณ์ตรงนี้ไปแก้ไขปัญหาที่เห็นอยู่ในปัจจุบันคือ ปัญหา เด็กทะเลาะวิวาท ชกต่อยกัน อยากจะจัดโครงการที่ทำให้คนพวกนี้มาทำกิจกรรมร่วมกันให้เขากลับใจมาเป็นเพื่อนกัน ให้รู้ว่าการเป็นเพื่อนกันมันดีอย่างไร" หนึ่ง ความคิดดี ๆ ที่เยาวชนแกนนำคนนี้อยากนำเสนอ
นายวรศักดิ์ ทองงาม น้องปอ จากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนอำเภอ เมือง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นเด็กนอกระบบโรงเรียน เปิดเผยถึงกิจกรรมบัดดี้ สคูล ด้วยความตื่นเต้นว่า " เป็นครั้งแรกที่ผมได้เข้าร่วมโครงการ ทำให้ได้เพื่อนใหม่ที่มาจากหลายโรงเรียน หลายอำเภอ ที่สำคัญยังทำให้เราได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น พูดคุยกันและทำให้ทราบถึงปัญหา หรือกิจกรรมในแต่ละพื้นที่" กล่าวทิ้งท้ายด้วยความมุ่งมั่น--จบ--
-นท-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ