กรุงเทพฯ--12 เม.ย.--B-Floor Theatre
Q : รู้สึกว่าช่วงนี้มีคนหยิบงานของเชคสเปียร์กันมาพูดสะท้อนนัยยะการเมืองปัจจุบันของบ้านเรากันพอสมควรนะอย่างในเรื่อง Shakespeare Must Die ของอิ๋งเค กับคุณมานิต ศรีวานิชภูมิ คุณคิดว่าเป็นเพราะอะไร?
จารุนันท์ : คงเป็นเพราะบทละครของเชคสเปียร์นั้นมีความคลาสสิกและเปิดโอกาสให้ตีความได้หลายๆ อย่างค่ะ แต่ก็เป็นไปได้เหมือนกันว่ามันเป็นเรื่องบังเอิญ อย่าง เชคสเปียร์ มัสท์ ดาย ก็ทราบข่าวว่าถ่ายทำตั้งแต่สองสามปีที่แล้ว ก่อนที่จุฬาฯ จะทำแมคเบธเสียอีก และคงเป็นเพราะแมคเบธของจุฬาฯ ประสบความสำเร็จมากด้วย ก็เลยอาจทำให้รู้สึกว่า มีงานรีเมคของเช็คสเปียร์ค่อนข้างเยอะในช่วงที่ผ่านมา
ส่วนเรื่องนัยยะทางการเมืองนี่จะว่าไปมันก็มีอยู่ในละครทุกเรื่องอยู่แล้ว ถ้าเราจะมองให้เป็นไปในทางนั้น คือโดยส่วนตัวแล้วฉันเชื่อว่า วิธีการที่เราเลือกใช้ชีวิตอยู่ เป็นส่วนหนึ่งของการเมือง ไม่ได้มองว่าการเมืองมันเป็นแค่การกากบาทเลือกตั้ง กฏหมาย หรือนักการเมือง ไม่ใช่แค่ทำละครเสียดสีการเมืองแล้วกลายเป็นมีนัยยะทางการเมือง ฉันคิดว่าละครทุกเรื่องมีนัยยะหรือทัศนะคติทางการเมืองของผู้กำกับฯ แฝงอยู่ไม่ว่าจะผู้โดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม
Q : แล้วทำไมถึงเลือกเรื่องนี้?
จารุนันท์ : มันเป็นความฝันของฉันมาตั้งนานแล้วว่าอยากจะลองทำงานฟิสิคัลเธียร์เตอร์จากบทคลาสสิกดูบ้างเพื่อที่ว่าคนที่กลัวว่าจะดูงานแบบนี้ไม่รู้เรื่องจะพอมีอะไรให้จับเป็นแนวทางในการทำความเข้าใจ เพราะอย่างน้อยถ้าเคยอ่านงานของเชคสเปียร์หรือพอจะรู้พล็อตคร่าวๆ มาบ้างก็น่าจะเป็นตัวช่วยให้เขาทำความเข้าใจได้ง่าย ส่วนที่ถามว่าต้องการนำเสนอประเด็นอะไรนั้น คือตอนนี้กำลังสนใจ เรื่องความรัก ความสัมพันธ์ในครอบครัว
Q : Lear And His Three Daughters เป็นเรื่องแรกในโปรเจ็กต์ Fright in Sight ของบีฟลอร์ประจำปีนี้ ช่วยอธิบายทีสิ ว่ามันหมายความว่ายังไง
จารุนันท์ : ปีนี้บีฟลอร์ทำงานมาขึ้นปีที่ 13 เรามองกันว่าเลข13 มันเกี่ยวพันกับความกลัว ความเชื่อที่ว่าจะมีอะไรไม่ดี ลางร้าย แบบนั้น อันนี้ในเชิงวัฒนธรรมตะวันตกน่ะนะคะ เรามองกันว่าเอาเข้าจริงในพศ.นี้ ตอนนี้บ้านเราเองก็อยู่กับความกลัว เรากลัวคำทำนายเด็กชายปลาบู่ เรากลัวน้ำท่วมอีกรอบ เรากลัวโลกแตกในปี 2012 กลัวคนจากนอกประเทศมาทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย กลัวใครเอาโทรศัพท์เราส่ง sms กลัวบ้านเมืองจะวุ่นวาย กลัวเพื่อนจะเป็นคนละสี กลัวโดนเหมารวมว่าเป็นสีอะไร เราว่าความรู้สึกนี้มันจะเป็นมวลรวมของประเทศไปแล้ว มันก็เลยเป็นที่มาของชื่อโปรเจ็ค Fright in Sight ในคิงเลียร์มันก็มีเรื่องเพราะกลัวจึงรัก หรือเพราะรักเลยกลัว อะไรงี้ด้วย ก็อยากจะชวนผู้ชมมาร่วมสบตาความกลัวร่วมกันกับเราด้วย
Q : มีความน่าสนใจที่น่าพูดถึงใน Lear And His Three Daughters อีกบ้างหรือเปล่า?
จารุนันท์ : อย่างแรกก็น่าจะเป็นเรื่องการนำบทคลาสสิกมาตีความใหม่ แล้วเราจะทำให้เป็น Dance Theatre ด้วย สถานที่เราเลือกทำการแสดงเป็นพื้นที่กึ่งๆ out door คือตรงลานน้ำพุ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ซึ่งปกติเราก็แสดงที่นั่นบ้าง แต่เป็นแบบโชว์เล็กๆ คราวนี้แสดงตรงนั้นเป็นโปรดักชั่นเต็มรูปแบบ ก็น่าตื่นเต้นดีค่ะ
ในด้านของทีมงานและกระบวนการสร้างงานก็น่าสนใจนะคะ เราเชิญเพื่อนๆ แดนเซอร์มาช่วยแสดง และเป็น choreographer ให้ด้วย คือจากปกติที่บีฟลอร์จะออกแบบท่าทางท่าเต้นกันเอาเองแต่คราวนี้เรามีมืออาชีพที่ถือว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านนั้นมาทำงานด้วยอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ในส่วนของนักแสดงก็เป็นดับเบิ้ลแคสต์โดยเฉพาะลูกสาวทั้งสามคน ดับเบิ้ลแคสต์ทั้งสามตัว ได้ ”เพียว” ดวงใจ หิรัญศรี นักแสดงหญิงมากประสบการณ์ มาเสริมทัพนักแสดง แล้วก็จะคัดนักแสดงหน้าใหม่จากการเวิร์คชอปมาเล่นด้วย อยากสร้างเด็กรุ่นใหม่ไปด้วย เพื่อที่ว่าทีมงานหรือผู้ชมจะได้เห็นอะไรที่แปลกใหม่และไม่เคยเห็นจากงานที่ผ่านๆ มาของบีฟลอร์