สงกรานต์ถนนข้าวเหนียวสุดฮ็อต สาวเอวีบุรีรัมย์ดึงดูดหนุ่มอีสาน หญิงส่วนใหญ่เคยถูกลวนลาม ขึ้นค่าแรงยังไม่ทำให้สงกรานต์คึกคัก

ข่าวทั่วไป Thursday April 12, 2012 15:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 เม.ย.--ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน วันนี้ (12 เม.ย. 55) อีสานโพล (E-Saan Poll) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยผลสำรวจเรื่อง “ความคิดเห็นของชาวอีสานกับวัฒนธรรมการเล่นสงกรานต์ปัจจุบัน” ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล เปิดเผยว่า การสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของคนอีสานต่อประเพณีสงกรานต์ เพื่อศึกษาพฤติกรรมคนอีสานที่มีต่อวัฒนธรรมการเล่นสงกรานต์ในปัจจุบันและเหตุการณ์บ้านเมืองในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึง โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 10-11 เมษายน 2555 จากกลุ่มตัวอย่าง 660 ราย ในเขตพื้นที่ภาคอีสานทั้ง 20 จังหวัด ผลสำรวจพบว่า คนเมืองอีสานกว่าร้อยละ 68.6 วางแผนจะเล่นน้ำสงกรานต์ในปีนี้ อีกร้อยละ 31.4 ไม่ต้องการเล่นน้ำสงกรานต์ และเมื่อถามถึงเหตุผลของการตัดสินใจไม่เล่นน้ำ พบว่า ร้อยละ 28.6 กลัวอุบัติเหตุ รองลงมาคือไม่ชอบผู้คนหนาแน่นเบียดเสียด ร้อยละ 23.6 อีกร้อยละ 18.8 ไม่อยากเปียกน้ำ และเหตุผลอื่นๆ ร้อยละ 29 โดยในปีนี้ ชาวอีสานให้ความสนใจกับงานสงกรานต์อีสาน เทศกาลดอกคูน-เสียงแคนและถนนข้าวเหนียว ที่ จ.ขอนแก่น มากที่สุด โดยได้รับความนิยมถึงร้อยละ 53.6 ส่วนงานสงกรานต์ที่จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งจะมีกิจกรรมการนำนักแสดงหนังเอวีญี่ปุ่นมาโชว์ตัวในงานด้วยนั้น ชาวอีสานให้ความสนใจไปร่วมงานถึงร้อยละ 29 ที่เหลือร้อยละ 38.8 ไม่สนใจร่วมงาน และส่วนอีกร้อยละ 32.2 รู้สึกเฉย ๆ ซึ่งเมื่อแยกตามเพศของผู้ตอบแบบสอบถาม พบว่า ร้อยละ 44 ของเพศชาย ให้ความสนใจกิจกรรมนี้ ส่วนเพศหญิงให้ความสนใจเพียงร้อยละ 15.6 และเมื่อถามต่อว่า การนำนักแสดงมาโชว์เซ็กซี่ในงานประเพณีสงกรานต์ ชาวอีสานมีความคิดเห็นอย่างไร โดยรวมร้อยละ 43.5 รู้สึกเฉย ๆ รองลงมาร้อยละ 32.7 รู้สึกว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะสม โดยให้เหตุผล เช่น ขัดต่อประเพณีที่ดีงาม, เสื่อม, ไม่มีคุณค่า และเป็นการเรื่องอนาจาร มีเพียงร้อยละ 23.9 ที่รู้สึกชื่นชอบกิจกรรมนี้ โดยให้เหตุผลว่า เป็นสีสันของงานที่น่าสนใจ แต่หากแยกตามเพศของผู้ตอบ ตามคาด เพศชายส่วนใหญ่ร้อยละ 40.5 รู้สึกชื่นชอบกิจกรรมนี้ และเพศหญิงส่วนใหญ่ร้อยละ 48.6 รู้สึกเฉย ๆ อีกร้อยละ 42 รู้สึกว่าเป็นกิจกรรมที่ไม่เหมาะสม เมื่อถามความเห็นของชาวอีสาน เกี่ยวกับการแต่งกายล่อแหลม มาเล่นน้ำสงกรานต์ของผู้หญิงวัยรุ่นในปัจจุบัน เช่น เสื้อรัดรูปสีขาว หรือเสื้อกล้าม เกาะอก โดยรวมชาวอีสานกว่าร้อยละ 63.2 เห็นว่าไม่เหมาะสม โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า อาจก่อให้เกิดอาชญากรรมและการล่วงละเมิดทางเพศได้ แต่ที่น่าสนใจคือ มีผู้ที่คิดว่าการแต่งกายเช่นนี้เป็นเรื่องปกติถึงร้อยละ 36.8 โดยผู้ตอบส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า ไม่แตกต่างจากการแต่งกายตามปกติตามที่ยุคสมัยนิยม (ซึ่งเพศชายมีความเห็นสัดส่วนใกล้เคียงกันระหว่างไม่เหมาะสม และเห็นเป็นเรื่องธรรมดา แต่เพศหญิงกว่าร้อยละ 71.4 เห็นว่าการแต่งกายล่อแหลมมาเล่นน้ำสงกรานต์เป็นเรื่องไม่เหมาะสม) ซึ่งชาวอีสานกว่าร้อยละ 65.4 เห็นว่า ควรห้ามผู้ที่แต่งกายล่อแหลมเข้าไปในพื้นที่จัดงานสงกรานต์ ซึ่งร้อยละ 62 ของผู้ตอบเพศชายตอบเห็นด้วย เมื่อสอบถามเฉพาะเพศหญิงว่า เมื่อไปเล่นน้ำสงกรานต์ ท่านเคยรู้สึกว่าถูกลวนลามหรือไม่ พบว่าร้อยละ 60 เคยถูกลวนลามระหว่างเล่นน้ำสงกรานต์ แต่เมื่อถามทั้งเพศชายและเพศหญิงว่า ท่านคิดเห็นอย่างไรกับการสัมผัสเนื้อตัวและประแป้งผู้หญิง โดยรวมกว่าครึ่งหนึ่งเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะถือว่าเป็นวัฒนธรรมที่ทำกันต่อเนื่องมานาน ส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วย และอีกครึ่งหนึ่งเห็นว่าไม่เหมาะสม โดยให้เหตุผลว่า เป็นการลวนลามและไม่ให้เกียรติผู้หญิง ซึ่งเพศหญิงที่เห็นว่าเรื่องดังกล่าวไม่เหมาะสม มีสัดส่วนมากกว่าที่เห็นเป็นเรื่องธรรมดาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น สำหรับประเด็นเรื่องการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เฉลิมฉลองช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยรวมร้อยละ 41.9 เห็นว่าเป็นเรื่องปกติ โดยให้ส่วนใหญ่ให้เหตุผล เช่น เป็นช่วงที่ได้พบปะญาติและเพื่อนฝูง, ถ้าไม่มีการดื่ม งานเทศกาลก็จะไม่สนุก ส่วนอีกร้อยละ 58.1 เห็นว่าไม่จำเป็นต้องดื่มในช่วงดังกล่าว โดยให้เหตุผล เช่น ทำให้ขาดสติ, นำมาซึ่งเรื่องทะเลาะวิวาท และเป็นสาเหตุของอุบัติเหตุ (เมื่อแยกตามเพศของผู้ตอบ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นเพศชายถึงร้อยละ 55.1 เห็นว่าเป็นเรื่องปกติที่จะดื่มเหล้าเฉลิมฉลอง แต่ผู้ตอบที่เป็นเพศหญิงส่วนใหญ่ร้อยละ 69.5 เห็นว่าไม่จำเป็นต้องดื่มเฉลิมฉลองในช่วงเทศกาล) อย่างไรก็ตาม ชาวอีสานร้อยละ 91.1 เห็นด้วยกับความพยายามจัดงานสงกรานต์ปลอดแอลกอฮอล์ และร้อยละ 69.1 เห็นด้วยที่จะห้ามผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้างาน และห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มดังกล่าวภายในพื้นที่จัดงาน เมื่อถามว่า สิ่งใดที่ชาวอีสานไม่ชอบที่สุด เกี่ยวกับงานประเพณีสงกรานต์ ชาวอีสานร้อยละ 27.6 ไม่ชอบการเล่นที่รุนแรง เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ รองลงมาร้อยละ 26.4 ไม่ชอบที่มักเกิดการทะเลาะวิวาทกันขึ้น ร้อยละ 16.8 ไม่ชอบความหนาแน่นเบียดเสียดของผู้คน ร้อยละ 13.7 ไม่ชอบการถูกลวนลาม เหตุผลอื่น ๆ อีกร้อยละ 15.4 เช่น กลัวทรัพย์สินสูญหาญ/เสียหาย และ สินค้ามีราคาสูงขึ้น เมื่อถามถึงการใช้เงินในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ชาวอีสานส่วนใหญ่ ร้อยละ 41.2 ใช้เงินในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 1,000-2,000 บาท อีกร้อยละ 31.9 ใช้เงินน้อยกว่า 1,000 บาท ร้อยละ 18.6 ใช้เงิน 2,000-4,000 บาท ที่เหลืออีกร้อยละ 8.4 ใช้เงินมากกว่า 4,000 บาท โดยเมื่อถามต่อว่า ภาวะเศรษฐกิจและนโยบายของรัฐบาล เช่น ค่าแรง 300 บาท ส่งผลให้ท่านใช้จ่ายช่วงเทศกาลสงกรานต์มากขึ้นหรือไม่ เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ชาวอีสานส่วนใหญ่ ร้อยละ 64.4 ใช้เงินใกล้เคียงกับปีที่แล้ว และอีกร้อยละ 27.9 ใช้เงินมากขึ้น มีเพียงร้อยละ 7.7 ที่ใช้เงินลดลง เมื่อถามความเห็นกลุ่มตัวอย่างชาวอีสานเกี่ยวกับกระแสการไปร่วมงานสงกรานต์และรดน้ำดำหัว พตท.ทักษิณ ที่ประเทศลาวและกัมพูชา ของประชาชนกลุ่มหนึ่ง ชาวอีสานร้อยละ 48.9 รู้สึกเฉย ๆ กับกระแสดังกล่าว รองลงมาอีกร้อยละ 30.7 รู้สึกเห็นด้วยกับงานดังกล่าว และมีเพียงร้อยละ 20.3 เท่านั้นที่ไม่เห็นด้วย “สงกรานต์ถนนข้าวเหนียวที่ขอนแก่น เป็นงานใหญ่ของชาวอีสานที่คนรู้จักในวงกว้าง และได้รับความนิยมในหมู่ชาวอีสานจำนวนมาก เช่นเดียวกับงานใหญ่ที่จังหวัดบุรีรัมย์ที่มีการนำดาราจากประเทศญี่ปุ่นมาร่วมงานด้วยก็ได้รับความสนใจจากหนุ่มๆ อีสานจำนวนพอสมควร ส่วนเรื่องวัฒนธรรมการดื่มเฉลิมฉลองในช่วงเทศกาล แม้คนอีสานจำนวนมากจะเห็นว่า การดื่มเหล้าเฉลิมฉลองช่วงสงกรานต์เป็นเรื่องปกติ แต่ก็เห็นด้วยและให้ความร่วมมือกับความพยายามจัดงานสงกรานต์ปลอดแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ยังเป็นห่วงการแต่งกายล่อแหลมของวัยรุ่นในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะมีรายได้เพิ่มจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แต่ชาวอีสานก็ยังพยายามรัดเข็มขัดใช้จ่ายเงินเท่าปีที่แล้ว” ดร.สุทิน กล่าวตอนท้าย ข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง ประกอบด้วย เพศหญิง ร้อยละ 53.5 เพศชาย ร้อยละ 46.5 ส่วนใหญ่อายุ 26-35 ปี ร้อยละ 41.6 รองลงมาอายุ 18-25 ปี ร้อยละ 18.5 อายุ 36-45 ปี ร้อยละ 16.7 อายุ 46-55 ปี ร้อยละ 16.1 และอายุ 61 ปีขึ้นไป ร้อยละ 7 โดยเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง ร้อยละ 67.1 และอยู่นอกเขตเมือง ร้อยละ 32.9 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ มีการศึกษาระดับปริญญาตรี ร้อยละ 34.8 มัธยมศึกษาตอนปลาย-ปวช. ร้อยละ 31.7 มัธยมศึกษาตอนต้น ร้อยละ 12 อนุปริญญา-ปวส. ร้อยละ 10.7 ประถมศึกษา ร้อยละ 6.6 ระดับปริญญาโท ร้อยละ 3.4 และปริญญาเอก ร้อยละ 0.9 ด้านอาชีพส่วนใหญ่เป็นนักเรียน นักศึกษา ร้อยละ 36.7 พนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ15.3 อาชีพรับราชการ-รัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 14.7 รับจ้างทั่วไป-ใช้แรงงาน ร้อยละ 12.7 ค้าขาย-ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 11.6 อาชีพแม่บ้าน ร้อยละ 5.2 เกษตรกร ร้อยละ 3.1 และอื่น ๆ ร้อยละ 0.8 ด้านรายได้เฉลี่ยต่อเดือนส่วนใหญ่อยู่ที่รายได้ 5,001-10,000 บาท ร้อยละ 25.2 รายได้ไม่เกิน 5,000 บาท ร้อยละ 19.8 ยังไม่มีรายได้ ร้อยละ 19.2 รายได้ 10,001-15,000 บาท ร้อยละ 15.6 รายได้ 15,001-20,000 บาท ร้อยละ 9.4 รายได้ 20,001-40,000 บาท ร้อยละ 8.0 มากกว่า 40,001 บาทขึ้นไป ร้อยละ 2.8 ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น E- Saan Center for Business and Economic Research (ECBER) Faculty of Management Science, KhonKaen University โทรศัพท์ 0-4320-2401 ต่อ 140 หรือ 0-4320-2566 โทรสาร 0-4320-2567 http://www.ecberkku.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ