กรุงเทพฯ--17 พ.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย)
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้อันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวที่ระดับ "AA+(tha)" แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ แก่หุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิ ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. ครั้งที่ 1/2547 ชุดที่ 1 ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ. 2555 ("หุ้นกู้ชุดที่ 1") มูลค่า 15.0 พันล้านบาท ชุดที่ 2 ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ. 2559 ("หุ้นกู้ชุดที่ 2") มูลค่า 3.0 พันล้านบาท และ ชุดที่ 3 ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ. 2562 ("หุ้นกู้ชุดที่ 3") มูลค่า 1.0 พันล้านบาท
อันดับเครดิตสะท้อนถึงความเป็นผู้นำอันโดดเด่นของ ปตท. ในธุรกิจก๊าซธรรมชาติและน้ำมันในประเทศไทย ความสำคัญของ ปตท. ที่เกี่ยวข้องในการสนองนโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวกับความมั่นคงทางด้านพลังงานในประเทศไทย รวมถึงการกำหนดทิศทางการพัฒนากิจการพลังงานของประเทศ อันดับเครดิตยังพิจารณารวมถึงโครงสร้างผู้ถือหุ้นที่แข็งแกร่งโดยมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ การสนับสนุนจากรัฐบาล และคณะผู้บริหารที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจเป็นอย่างดี ปตท. ได้รับประโยชน์จากการเป็นผู้ดำเนินการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ การจัดหาและการจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติเพียงรายเดียวในประเทศไทย เนื่องจาก ปตท. มีเครือข่ายระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่ครอบคลุมพื้นที่การใช้ก๊าซธรรมชาติเพียงรายเดียวในประเทศ และมีสัญญาการจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติระยะยาวกับผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ทุกรายในประเทศ นอกจากนี้การลงทุนที่สูงในการก่อสร้างระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติได้มีส่วนช่วยจำกัดผู้ลงทุนรายใหม่อีกด้วย ปตท. ยังเป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทยโดยผ่านการเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ใน บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท. สผ.) ปตท. สผ. ประกอบธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีปริมาณสำรองปิโตรเลียมมากที่สุด และมีปริมาณการผลิตปิโตรเลียมสูงเป็นอันดับที่สองในประเทศไทย
ปตท. เป็นผู้จัดหาและจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในประเทศไทยเกือบทั้งหมด และยังเป็นผู้จัดจำหน่ายรายใหญ่ในธุรกิจก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) และธุรกิจน้ำมัน โดยมีส่วนแบ่งการตลาดที่ระดับประมาณ 40% และ 30% ตามลำดับ ธุรกิจก๊าซธรรมชาติเป็นธุรกิจที่สำคัญในการสร้างกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ให้กับ ปตท. โดยมีสัดส่วนมากกว่า 85% ของ EBITDA ของบริษัท อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดของบริษัทที่แข็งแกร่ง ซึ่งโดยเปรียบเทียบแล้วกระแสเงินสดจากการดำเนินธุรกิจก๊าซธรรมชาติค่อนข้างจะคงที่ เนื่องจาก การที่ ปตท. มีสัญญาการจัดหาและจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติระยะยาว (Take-or-Pay) ที่มีการกำหนดปริมาณขั้นต่ำที่จะต้องชำระถึงแม้ว่าไม่ได้รับก๊าซธรรมชาติไปก็ตาม โครงสร้างราคาซื้อขายก๊าซธรรมชาติที่ ปตท. สามารถส่งผ่านต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่ ปตท. รับซื้อไปให้กับผู้ซื้อได้ และราคาก๊าซธรรมชาติที่ค่อนข้างจะคงที่เมื่อเปรียบเทียบกับราคาน้ำมัน
การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศและความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติของประเทศที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง เป็นปัจจัยที่สนับสนุนการดำเนินงานของ ปตท. กำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของ ปตท. ยังคงเพิ่มขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมาโดยเพิ่มขึ้นเป็น 6.24 หมื่นล้านบาท สถานะทางการเงินของ ปตท. ยังคงแข็งแกร่ง โดยมีอัตราส่วนหนี้สินต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (Total Debt/EBITDA) แข็งแกร่งขึ้นจาก 2.4 เท่าในปี 2545 เป็น 2.0 เท่าในปี 2546 และมีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (Net Debt/EBITDA) แข็งแกร่งขึ้นจาก 1.8 เท่าเป็น 1.0 เท่าในช่วงเวลาเดียวกัน ในขณะที่อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่าย (EBITDA/Interest Expense) เพิ่มขึ้นจาก 5.6 เท่าในปี 2545 เป็น 7.7 เท่าในปี 2546
อันดับเครดิตยังพิจารณารวมถึงแผนการลงทุนในอนาคตของ ปตท. ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจของบริษัทต่อความผันผวนของราคาน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และอัตราแลกเปลี่ยน และความเสี่ยงในการเปลี่ยนแปลงทางด้านกฎระเบียบและข้อบังคับ รวมถึงความเสี่ยงทางการเมืองที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของ ปตท. ได้ ปตท. วางแผนที่จะลงทุนในโครงการต่างๆซึ่งรวมถึงการลงทุนในบริษัทร่วมทุนและโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติเส้นที่ 3 ระยะที่ 2 ด้วยเงินลงทุนรวมประมาณ 1.54 แสนล้านบาทในช่วงปี 2547 ถึง 2551 ซึ่งเป็นปริมาณที่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับเงินลงทุนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าแผนการลงทุนที่สูงจะทำให้ภาระหนี้สินสุทธิของ ปตท. เพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า แต่สถานะทางการเงินของ ปตท. น่าที่จะยังคงแข็งแกร่งอยู่เนื่องจากความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดของบริษัทที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อแนวโน้มอันดับเครดิตของ ปตท. คือการปรับตัวลงของราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติไปอยู่ในระดับที่ต่ำและมีระดับราคาที่ต่ำอย่างต่อเนื่องซึ่งจะทำให้ความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดของ ปตท. ลดลง หรือการที่ ปตท. มีการลงทุนมากกว่าแผนที่วางเอาไว้
ในปี 2544 ปตท. ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และรัฐบาลได้ขายหุ้นของ ปตท. ออกไปบางส่วน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ ปตท. โดยมีสัดส่วนการถือหุ้นที่ระดับ 52% และเป็นที่คาดการณ์ว่ารัฐบาลจะยังคงรักษาความเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ ปตท. ต่อไป ปตท. เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยโดยมีมูลค่าตลาดสูงถึง 4.08 แสนล้านบาท ณ สิ้นเดือนเมษายน ปี 2547
สำหรับรายงานฉบับสมบูรณ์ของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หาได้จาก www.fitchresearch.com หรือ ติดต่อ
เลิศชัย กอเจริญรัตนกุล, ผู้ช่วยกรรมการ, Corporates +662 655 4760
วสันต์ ผลเจริญ, นักวิเคราะห์, Corporates +662 655 4763
อรวรรณ การุณกรสกุล, กรรมการ, Corporates +662 655 4766
Vincent Milton, กรรมการผู้จัดการ +662 655 4759
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตระดับเพื่อการลงทุน หรือมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับต่ำแม้จะอยู่ในระดับเพื่อการลงทุน อันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศจะอยู่ที่ระดับ "AAA" และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นถูกออกแบบมาเพื่อนักลงทุนภายในประเทศในแต่ละประเทศนั้นๆ และมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับแต่ละประเทศ เช่น "AAA(tha)" ในกรณีของประเทศไทย อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นไม่สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้--จบ--
-นท-