กรุงเทพฯ--17 เม.ย.--ปภ.
ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เผยผล การรณรงค์ลดอุบัติเหตุทางถนนสงกรานต์ 5 วัน (11 — 15 เมษายน 2555) มีจังหวัดไม่เกิดอุบัติเหตุรวม 1 จังหวัด จังหวัด ที่สถิติการตายเป็น “ศูนย์” รวม 12 จังหวัด ย้ำให้ดำเนินการตามแนวทางที่เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ส่วนจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงและมีจำนวนผู้เสียชีวิตมาก ให้ปรับแนวทางการแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับสภาพการจราจรในพื้นที่และช่วงเวลาในการใช้รถใช้ถนนของประชาชน
นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เลขานุการศูนย์อำนวยการ ความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เปิดเผยถึงการดำเนินงานรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2555 ว่า ในช่วง 5 วันของการรณรงค์“สงกรานต์ปลอดภัย ตายเป็นศูนย์” (11 — 15 เมษายน 2555) มีจังหวัดที่ไม่เกิดอุบัติเหตุในช่วง 5 วัน 1 จังหวัด ได้แก่ หนองบัวลำภู จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) รวม 12 จังหวัด แยกเป็น ภาคเหนือ 1 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 จังหวัด ได้แก่ นครพนม และหนองบัวลำภู ภาคกลาง 4 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี และตราด ภาคใต้ 5 จังหวัด ตรัง ปัตตานี ยะลา ระนอง และสตูล
นายวิบูลย์ กล่าวต่อไปว่า ศปถ.ได้เน้นย้ำให้ 12 จังหวัดที่สถิติการเสียชีวิตเป็น “ศูนย์”ดำเนินการตามแนวทางที่เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จในการลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง สำหรับจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงและมีจำนวนผู้เสียชีวิตมาก ให้นำข้อมูลมาวิเคราะห์ ปรับแผนการจัดตั้งจุดตรวจและวางแนวทาง การแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนให้สอดคล้องกับสภาพการจราจรในพื้นที่ เพื่อควบคุมพฤติกรรมเสี่ยง “เมาแล้วขับ ขับรถเร็ว ไม่สวมหมวกนิรภัย” ที่เป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุทางถนน โดยเฉพาะบริเวณจุดเสี่ยงที่มีการเล่นน้ำสงกรานต์ รวมถึงเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างถนนสายรองและถนนสายหลัก อีกทั้งวันนี้เป็นวันที่ประชาชนเดินทางกลับ จึงขอให้เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนร่วมกันรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย โดยศึกษาและเลือกใช้เส้นทางที่ปลอดภัย ตรวจสอบจุดพักรถริมทาง เพื่อหยุดรถแวะพัก ผ่อนคลายอิริยาบถ ซึ่งจะช่วยป้องกันอุบัติเหตุจากการง่วงหลับใน นอกจากนี้ ให้ศึกษาสภาพเส้นทางว่า ช่วงใดเป็นทางโค้ง ทางลาดชัน ทางขึ้นหรือลงเขา จะได้เตรียมพร้อมในการขับรถ ตรวจสอบเครื่องยนต์ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน โดยเฉพาะระบบสัญญาณไฟส่องสว่างทุกดวง ตรวจสอบน้ำมันเครื่อง น้ำมันเกียร์ น้ำหล่อเย็นในหม้อน้ำ น้ำมันเบรก น้ำกลั่นในหม้อน้ำแบตเตอรี่ให้อยู่ในระดับที่กำหนด ระบบเบรกใช้งานได้ตามปกติ เติมลมยางทั้ง ๔ ล้อและยางอะไหล่ให้ครบถ้วน ยางไม่สึกหรอหรือมีรอยปูดบวม พร้อมจัดเตรียมอุปกรณ์ฉุกเฉินไว้ประจำรถ เช่น เชือกสลิง ไฟฉายสายพ่วงแบตเตอรี่ ยางอะไหล่ กากบาทถอดล้อ เป็นต้น และตรวจสอบให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้ทันทีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน เนื่องจากมีการเล่นน้ำติดต่อกันหลายวัน และผู้ขับขี้ต้องขับรถเป็นระยะทางไกล ทำให้ร่างกายจะเกิดอ่อนล้ามากกว่าปกติจึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูง หากมีอาการง่วงนอนให้จอดพักรถบริเวณสถานีบริการน้ำมันหรือจุดพักรถริมทาง เพื่อพักหลับจะช่วยให้ร่างกายสดชื่นขึ้นแล้วค่อยเดินทางต่อไป