ไทยพาณิชย์เดินหน้ารุกนโยบาย Universal Banking ประกาศพร้อมบริการครบวงจรเป็นธนาคารแรก

ข่าวทั่วไป Monday May 17, 2004 14:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 พ.ค.--ธ.ไทยพาณิชย์
ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเกมรุกอีกขั้น ประกาศศักยภาพธนาคาร Universal Banking ที่ให้บริการทางการเงินเต็มรูปแบบ ชูยุทธศาสตร์ในการดำเนินธุรกิจกลุ่ม Corporate Banking หรือกลุ่มลูกค้าธุรกิจ คาดเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มในการสร้างรายได้เพิ่มให้กับธนาคารอย่างต่อเนื่อง ใช้จุดแข็งเรื่องของความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าเป็นหัวใจในการบริการ พร้อมเปิดตัวนายศิริชัย สมบัติศิริ รองผู้จัดการใหญ่กลุ่มลูกค้าธุรกิจ
ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่าจากความพร้อมในทุก ๆ ส่วนของธนาคารไทยพาณิชย์ ทั้งในเรื่องของเงินทุนและการจัดกลยุทธ์ภายใต้โครงการปรับปรุงธนาคาร (Change Program) ที่ได้ดำเนินการมากว่า 2 ปีและมีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเน้นการสร้างธุรกิจ การสร้างคุณภาพการดำเนินธุรกิจ และการสร้างทรัพยากรบุคคล รวมถึงการประกาศแนวนโยบายการดำเนินธุรกิจแบบ Universal Bank เป็นธนาคารแรก โดยได้เปิดตัวกลุ่มธุรกิจ Investment Banking และธุรกิจ Retail Banking ไปแล้วนั้น
ด้านธุรกิจในกลุ่ม Corporate Banking นับว่ามีบทบาทสำคัญในการทำธุรกิจของธนาคาร และจากการที่ธนาคารมีบริการที่ครบวงจร สามารถให้บริการทางการเงินได้อย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงมีฐานะทางการเงินที่เข้มแข็ง ย่อมแสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการรองรับการแข่งขันเสรี โดยธนาคารยังคงมุ่งมั่นในการพัฒนาบริการเพื่อให้สามารถแข่งขันกับต่างชาติ และอำนวยความสะดวกให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าในแต่ละกลุ่มเป็นอย่างดีและเหมาะสมที่สุด และจากการที่ทางการได้มีการแก้ไขกฎเกณฑ์แผนแม่บททางการเงิน นับเป็นกรอบสำคัญที่ธนาคารจะต้องเตรียมความพร้อมในการแข่งขันมากขึ้น ธนาคารจำเป็นที่จะต้องศึกษาถึงพฤติกรรมของลูกค้าให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มลูกค้าธุรกิจ ซึ่งนับเป็นกลุ่มขนาดใหญ่ และมีความต้องการบริการทางการเงินที่ซับซ้อนมากขึ้น ต่างกับลูกค้าบุคคลที่มีความต้องการบริการที่หลากหลายและในโอกาสนี้ที่ประชุมคณะกรรมการธนาคาร จึงได้มีมติแต่งตั้งให้นายศิริชัย สมบัติศิริ เป็นผู้ดูแลงาน
ด้าน Corporate Banking ดำรงตำแหน่งรองผู้จัดการใหญ่กลุ่มลูกค้าธุรกิจ สำหรับคุณศิริชัย เป็นผู้ที่แวดวงการเงินการธนาคารคุ้นเคยเป็นอย่างดี ทั้งในด้านประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถ และถือได้ว่าได้ร่วมงานกับธนาคารไทยพาณิชย์มายาวนาน
คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า การจัดการธุรกิจ
ด้าน Corporate Banking ของธนาคารไทยพาณิชย์มุ่งเน้นที่ความสัมพันธ์กับลูกค้าทั้งที่เป็นลูกค้าเก่า และการแสวงหาลูกค้าใหม่อย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้ว่าลูกค้าของธนาคารจะเป็นลูกค้าที่มีความสัมพันธ์กันมายาวนาน บางรายเติบโตจากธุรกิจ SME จนกระทั่งเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีความมั่นคง และประสบความสำเร็จ ซึ่งนับเป็นการประสบความสำเร็จร่วมกัน โดยธนาคารได้ทำหน้าที่เปรียบเสมือนสะพานทุนที่เชื่อมสู่ความสำเร็จทั้งนี้ลูกค้าของธนาคารนอกจากจะได้รับความสะดวกจากบริการที่ครบถ้วน รวดเร็ว และตรงกับความต้องการแล้ว ธนาคารเชื่อว่าจะสามารถให้บริการด้านอื่น ๆ ที่คุ้มค่าและเหมาะสมเมื่อเทียบกับธนาคารอื่น
สิ่งที่โดดเด่นในบริการของธนาคารก็คือ ธนาคารมีผู้ชำนาญในแต่ละด้าน มีข้อมูลที่ดี และเพียบพร้อมสำหรับธุรกิจในภูมิภาคต่าง ๆ โดยผ่านเครือข่ายสาขา และธนาคารจะช่วยวิเคราะห์ว่าธุรกิจของลูกค้ามีความเหมาะสมที่จะเลือกใช้บริการอะไรบ้าง เพื่อตอบสนองความต้องการ และช่วยลดต้นทุนตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจให้กับลูกค้าได้มากขึ้น
นายศิริชัย สมบัติศิริ รองผู้จัดการใหญ่ กลุ่มลูกค้าธุรกิจ ดูแลรับผิดชอบงานใน 3 ส่วนหลักๆ คือ ด้านการตลาดธุรกิจขนาดใหญ่ (Corporate) ด้านการตลาดธุรกิจขนาดกลางและย่อม (SME) และด้านผลิตภัณฑ์ธุรกิจ (Business Products) ได้แก่ ผลิตภัณฑ์การค้าต่างประเทศ และผลิตภัณฑ์การเงิน (ตลาดเงินและตลาดทุน) นอกจากนี้ยังรักษาการดูแลด้านบริหารการเงินและการลงทุนอีกด้วย
ในปี 2547 นี้ ธนาคารตั้งเป้าหมายสินเชื่อกลุ่มลูกค้าธุรกิจเติบโต 13.5% จากยอดสินเชื่อ ณ 31 ธันวาคม 2547 รวมทั้งสิ้น 280,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2547 กลุ่มลูกค้าธุรกิจสามารถปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นสุทธิ 13,713 ล้านบาท คิดเป็น 36.09% ของเป้าหมาย ประเภทธุรกิจที่มุ่งเน้นขยายธุรกิจ ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ เหล็ก ปิโตรเคมี พลังงาน อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษและกระดาษ ท่องเที่ยว และรับเหมาก่อสร้างของภาครัฐบาล รองลงมาได้แก่ ธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร อาหารและเครื่องดื่ม บันเทิง อสังหาริมทรัพย์และบริการ กลยุทธ์หลักในการดำเนินธุรกิจ คือ หนึ่งมุ่งเน้นขยายฐานลูกค้ารายใหม่ โดยจัดตั้งหน่วยงานขึ้นใหม่เพื่อดำเนินการในเรื่องนี้โดยเฉพาะ สองวางแผนขยายธุรกิจให้สอดคล้องกับนโยบายภาคเศรษฐกิจของรัฐบาล เช่น คลัสเตอร์หลัก 5 ประเภท ยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัด 19 กลุ่ม การขยายเส้นทางคมนาคมและการค้าชายแดน เป็นต้น และสามมุ่งเสนอขายผลิตภัณฑ์และบริการที่ครบวงจรให้แก่ลูกค้าในทุกๆ ระดับ เช่นการให้บริการสินเชื่อแก่ลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ แล้วรวมไปถึงการเข้าถึง Supplier / Distributor / Dealer ของลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งจัดเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อเสนอบริการบริหารเงินเพื่อธุรกิจ (Business Cash Management) บริการผลิตภัณฑ์การเงิน การค้าต่างประเทศ บริหารการเงิน อย่างครบถ้วนและเหมาะสม
ภายหลังจากที่ธนาคารได้ริเริ่มโครงการปรับปรุงธนาคารในปี 2544 และได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงาน Corporate และ SME ตลอดจนกระบวนการอำนวยสินเชื่อ เพื่อพัฒนาการให้บริการที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และตรงตามความต้องการของลูกค้า โดยได้ดำเนินการใช้กระบวนการทำงานแบบใหม่มาตั้งแต่ปลายปี 2545 มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีการกำหนดบทบาทหน้าที่ให้ชัดเจนมากขึ้น ธนาคารกำหนดให้มีผู้จัดการธุรกิจสัมพันธ์ (Relationship Manager) ที่รับผิดชอบดูแลและให้บริการลูกค้าธุรกิจแต่ละราย ผู้จัดการธุรกิจสัมพันธ์จะเป็นศูนย์กลางในการติดต่อทำธุรกิจต่างๆ ทั้งบริการสินเชื่อและบริการทางการเงินอื่นๆ ช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้กับลูกค้า สนองตอบต่อความต้องการของลูกค้า อย่างถูกต้อง ครบถ้วนและรวดเร็ว สร้างความพึงพอใจสูงสุดแก่ลูกค้า
ธนาคารมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรและกระบวนการทำงานเรื่อยมา เพื่อให้พร้อมรับกับสภาพเศรษฐกิจ ภาวะการแข่งขัน ตลอดจนการมุ่งสู่การเป็น Universal Banking ที่สมบูรณ์แบบในเร็ววันนี้ การจัดโครงสร้างองค์กรของกลุ่มลูกค้าธุรกิจ แบ่งเป็น 6 สายงาน ได้แก่ สายการตลาดธุรกิจขนาดใหญ่ 4 สายงาน แบ่งความดูแลตามประเภทธุรกิจของลูกค้า สายการตลาดธุรกิจขนาดกลางและย่อมเป็นสายงานที่ห้าซึ่งรับผิดชอบงานธุรกิจสัมพันธ์ ดูแลกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอี จัดแบ่งความดูแลตามภูมิศาสตร์ โดยจัดให้มีสำนักงานธุรกิจและ
สำนักงานย่อย 66 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ธุรกิจทั่วประเทศ เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าเอสเอ็มอี สายงานสุดท้ายเป็นสายผลิตภัณฑ์ธุรกิจ (Business Products) ซึ่งประกอบด้วยผู้ชำนาญการเฉพาะด้านในผลิตภัณฑ์ธุรกิจ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์การค้าต่างประเทศ และผลิตภัณฑ์การเงิน (ตลาดเงินและตลาดทุน) มีหน้าที่ คิดค้น สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า และพัฒนาการบริการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เมื่อปลายปี 2546 ธนาคารได้จัดตั้งหน่วยงานพัฒนาธุรกิจ (Business Development) ขึ้นใหม่อีกหนึ่งหน่วยงาน โดยมีหน้าที่หลัก คือ หนึ่ง แสวงหาลูกค้ารายใหม่ และชักนำให้ลูกค้ามาใช้บริการของธนาคาร สอง เป็นเสนาธิการในการคิด วางแผนการทำตลาดเพื่อขยายธุรกิจ ตลอดจนการทำวิจัยธุรกิจ และเป็นผู้ชำนาญการในธุรกิจเฉพาะด้าน
นอกจากการพัฒนาองค์กรแล้ว ในปี 2547 นี้ ธนาคารมุ่งมั่นที่จะเสนอบริการที่ดีเหนือกว่าธนาคารอื่น (Superior Service) เป็นการให้บริการแบบไม่มีตะเข็บ (Seamless Services) โดยอาศัยความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงาน การกำหนดบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบที่ชัดเจน มีจุดมุ่งหมายร่วมกัน การทำงานเป็น Team Work ตั้งแต่หน่วยงานธุรกิจสัมพันธ์ บริหารความเสี่ยง ผลิตภัณฑ์ธุรกิจ / บริการบริหารเงินเพื่อธุรกิจ / บริหารการเงิน ปฏิบัติการ เทคโนโลยีและหน่วยงานสนับสนุนต่างๆ รวมถึงเครือข่ายสาขาที่พร้อมให้บริการแก่ลูกค้าทุกท่านตั้งแต่รายย่อยไปถึงลูกค้าเอสเอ็มอีและลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ ตลอดจนเชื่อมโยงไปถึงธุรกิจประกันภัยและธุรกิจหลักทรัพย์ ที่เป็นบริษัทในเครือของธนาคาร ร่วมกันผนวกทุกๆ ธุรกิจของธนาคารที่มีมารวมกัน เพื่อพร้อมให้บริการลูกค้าได้อย่างครบวงจร เพื่อให้ธนาคารเป็น Universal Banking ที่สมบูรณ์แบบและลูกค้าพึงพอใจ
ด้วยความขอบคุณอย่างสูง : พจน์ ใจชาญสุขกิจ ผู้จัดการประชาสัมพันธ์
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : วัฒนี , ดวงแก้ว โทร.(02) 544-4501-3--จบ--
-นท-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ