กรุงเทพฯ--17 เม.ย.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในเดือนมีนาคม 2555 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 141,586 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 7,662 ล้านบาท ส่งผลให้ในช่วงครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ 2555 (ตุลาคม 2554 — มีนาคม 2555) รายได้รัฐบาลสุทธิสูงกว่าเป้าหมาย 33,425 ล้านบาท ดังนี้
1. เดือนมีนาคม 2555 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 141,586 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 7,662 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.7 เป็นผลจากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาวะเศรษฐกิจในประเทศภายหลังอุทกภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเข้าที่ขยายตัวในอัตราที่สูง ส่งผลให้การจัดเก็บอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าสูงกว่าประมาณการ 2,065 และ 2,037 ล้านบาท หรือร้อยละ 23.5 และ 7.5 ตามลำดับ นอกจากนี้ การที่โรงงานผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์เริ่มกลับมาผลิตได้ตามปกติหลังจากได้รับผลกระทบจากอุทกภัย รวมทั้งการจัดงาน Motor Show และมีการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ออกสู่ตลาดหลายรุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถยนต์ประหยัดพลังงาน (Eco Car) ทำให้ฐานผู้บริโภครถยนต์กว้างขึ้น ประกอบกับกำลังซื้อของผู้บริโภคที่สะสมมาตั้งแต่ช่วงที่เกิดอุทกภัย ส่งผลให้ยอดจำหน่ายรถยนต์ภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ภาษีสรรพสามิตรถยนต์จัดเก็บได้ถึง 11,460 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1,904 ล้านบาท หรือร้อยละ 19.9
อย่างไรก็ดี การขยายเวลาลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลเหลือลิตรละ 0.005 บาท ทำให้ภาษีน้ำมันจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 2,952 ล้านบาท หรือร้อยละ 36.4
2. ในช่วงครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ 2555 (ตุลาคม 2554— มีนาคม 2555) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 812,690 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 33,425 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.3 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 3.0) เนื่องจากการจัดเก็บภาษีที่สำคัญส่วนใหญ่ (ยกเว้นภาษีรถยนต์และภาษีน้ำมัน) สูงกว่าประมาณการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษีมูลค่าเพิ่ม อากรขาเข้าและภาษีเงินได้นิติบุคคล รวมทั้งการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจที่สูงกว่าเป้าหมาย
ผลการจัดเก็บรายได้ตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ ดังนี้
2.1 กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 601,667 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 18,777 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.2 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 10.1) ภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงกว่าประมาณการ 7,760 และ 4,990 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.6 และ 4.0 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องภายหลังอุทกภัย ทำให้การนำเข้าขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก ทั้งนี้ ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าสูงกว่าประมาณการร้อยละ 7.9 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 23.7)
2.2 กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม 179,245 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 9,246 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.9 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 21.5) สาเหตุสำคัญมาจากภาษีรถยนต์จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 9,244 ล้านบาท หรือร้อยละ 17.7 เนื่องจากอุตสาหกรรมรถยนต์ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ ประกอบกับภาษีน้ำมันจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 5,935 ล้านบาท หรือร้อยละ 16.4 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 61.9) เป็นผลจากการลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลเหลือลิตรละ 0.005 บาท อย่างไรก็ดี ภาษียาสูบและภาษีเบียร์จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 3,655 และ 1,749 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 13.0 และ 5.3 ตามลำดับ เนื่องจากผู้จำหน่ายได้เร่งการสั่งซื้อเพื่อทดแทนสต๊อกเก่าที่ไม่สามารถสั่งซื้อสินค้าได้ในช่วงเกิดอุทกภัย
ทั้งนี้ ภาษีรถยนต์ที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่เดือนมกราคม 2555 เป็นผลจากการที่โรงงานผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์สามารถกลับมาผลิตได้ตามปกติ ประกอบกับกำลังซื้อที่สะสมมาตั้งแต่ช่วงเกิดอุทกภัยจะช่วยกระตุ้นให้ยอดจำหน่ายรถยนต์ภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงมาตรการด้านภาษีของรัฐบาลในการยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับการนำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วนเพื่อทดแทนการผลิตในประเทศจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลให้การจัดเก็บภาษีรถยนต์ของกรมสรรพสามิตเป็นไปตามเป้าหมาย
2.3 กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม 57,866 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 5,066 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.6 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 13.5) เป็นผลจากการจัดเก็บอากรขาเข้าที่สูงกว่าประมาณการ 4,995 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.7 เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราการขยายตัวของมูลค่านำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ และเงินบาทโดยเฉลี่ยในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2555 (ตุลาคม 2554 — กุมภาพันธ์ 2555) สูงกว่าปีที่แล้วร้อยละ 8.1 และ 10.9 ตามลำดับ ทั้งนี้ สินค้าที่จัดเก็บอากรขาเข้าได้สูงเป็น 3 อันดับแรก ได้แก่ รถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเครื่องจักรกล
2.4 รัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้ 57,082 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 4,018 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.6 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 34.8) เนื่องจากบมจ.กสท โทรคมนาคม โรงงานยาสูบและบมจ.ท่าอากาศยานไทยนำส่งรายได้/จ่ายเงินปันผลสูงกว่าประมาณการ 937 660 และ 330 ล้านบาท ตามลำดับ นอกจากนี้ การท่าเรือแห่งประเทศไทยนำส่งรายได้ก่อนกำหนด จำนวน 1,047 ล้านบาท (จากที่ประมาณการว่าจะนำส่งเดือนเมษายน 2555)
2.5 หน่วยงานอื่น จัดเก็บรายได้รวม 55,653 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 1,607 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.0 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 3.6) เนื่องจากกรมศุลกากรได้ส่งคืนเงินที่กันไว้เพื่อชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับผู้ส่งออกสินค้าเหลือจ่ายจำนวน 4,655 ล้านบาท และกรมสรรพสามิต ได้นำส่งเงินค่าใช้จ่ายเก็บภาษีท้องถิ่นคืนเป็นรายได้แผ่นดินจำนวน 2,000 ล้านบาท อย่างไรก็ดี การจัดเก็บรายได้จากสัมปทานปิโตรเลียมต่ำกว่าประมาณการ 1,530 ล้านบาท เป็นผลจากปริมาณปิโตรเลียมที่ขุดเจาะได้มีแนวโน้มชะลอตัว นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติได้เลื่อนการนำส่งค่าใบอนุญาตกิจการโทรคมนาคม (จากที่ประมาณการว่าจะนำส่ง ในเดือนมกราคม 2555 จำนวน 2,000 ล้านบาท
2.6 การคืนภาษีของกรมสรรพากร จำนวน 112,875 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 12,947 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.3 ประกอบด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 95,464 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 5,536 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.5 และการคืนภาษีอื่นๆ (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์) 17,411 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 7,411 ล้านบาท
หรือร้อยละ 29.9
2.7 การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ ให้แก่ อปท. ในปีงบประมาณ 2555 ได้มีการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ อปท. แล้ว 2 งวด เป็นจำนวน 13,001 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 199 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.5
นายสมชัยฯ สรุปว่า “การจัดเก็บรายได้ในปีนี้ แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากการขยายเวลาการลดภาษีน้ำมันดีเซล แต่จากการดำเนินนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาล ส่งผลให้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ทั้งการบริโภคและการนำเข้าเริ่มกลับมาขยายตัว กระทรวงการคลังจึงมั่นใจว่าการจัดเก็บรายได้ในปีนี้จะใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1,980,000 ล้านบาท”
สำนักนโยบายการคลัง
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร. 02 273 9020 ต่อ 3500 และ 3562