กรุงเทพฯ--17 เม.ย.--เจซีแอนด์โค พับบลิครีเลชั่นส์
วิทยาลัยนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เผยวิสัยทัศน์การพัฒนาวิทยาลัย สู่สถาบันการศึกษาหลักสูตรนานาชาติชั้นนำด้านเทคโนโลยี โดยเป้าหมายในระยะแรกของวิทยาลัยคือการมุ่งเน้นในการสร้างศักยภาพของเด็กไทยด้วยหลักสูตรที่มีความเป็นสากลสูงของวิทยาลัยฯ โดยปัจุบัน วิทยาลัยเปิดสอน หลักสูตรปริญญาตรี 1 หลักสูตร คือหลักสูตรวิศวกรรมซอฟแวร์ (2 Plus 2) หลักสูตรที่ทำความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร มหาวิทยาลัยชั้นแนวหน้าของโลกด้านเทคโนโลยี และ 2 หลักสูตรในระดับบัณฑิตศึกษา ได่แก่ หลักสูตรวิศวกรรมยานยนต์ จาก โครงการสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงแห่งประเทศไทยและสถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียว และหลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน ทั้งนี้ นักวิชาการจาก มหาวิทยาลัยกลาสโกว์เสนอมุมมองการพัฒนาของศักยภาพการศึกษาไทยให้โด่ดเด่นในประชาคมอาเซียนนั้น คือ การปรับหลักสูตรให้ทันสมัยและมีความสอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนชี้ให้เห็นว่าความร่วมมือของหลักสูตรวิศวกรรมซอฟท์แวร์ ของมหาวิทยาลัยกลาสโกว์กับ สจล. ครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าหลักสูตรของสถาบันการศึกษาไทยมีมาตรฐานไม่แพ้กับ มหาวิทยาลัยชั้นแนวหน้าของโลก
รศ.ดร. อานันทวัฒน์ คุณากร คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า การจับมือกับมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ในฐานะสถาบันการศึกษาแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทยนั้น แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของสถาบันการศึกษาไทยที่ได้รับการยอมรับจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ตลอดจนทิศทาง นโยบาย ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของวิทยาลัยฯ ที่สามารถผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ ความสามารถและความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง จนเป็นที่ยอมรับในสถาบันการศึกษาชั้นนำทั่วโลก ตลอดจนภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการบุคลากรเข้าไปทำงานในสายงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในปี 2555 ทางวิทยาลัยฯเอง ก็จะมีการพัฒนาหลักสูตรเฉพาะทางในด้านต่างๆมากขึ้น โดยยังคงเน้นความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยี เพี่อตอบรับกับการเข้าร่วมอาเซียนในปี 2558 ที่กำลังจะถึงนี้ พร้อมทั้ง ปรับแนวทางการเรียนการสอนที่ให้นักศึกษาเข้าถึงอาจารย์ผู้สอนได้มากยิ่งขึ้น และเสริมทักษะของการใช้ภาษาอังกฤษให้แก่นักศึกษามากขึ้นด้วย ทั้งนี้ เพื่อการพัฒนานักศึกษาให้เข้าสู่มาตรฐานระดับสากลได้ ตลอดจน เพื่อสร้างศักยภาพในความก้าวหน้าของสถาบันฯ ในฐานะวิทยาลัยนานาชาติชั้นนำด้านเทคโนโลยีแห่งเอเชีย
โดยหลักสูตรที่ทางวิทยาลัยนานาชาติเปิดสอน มีทั้งหลักสูตรระดับปริญญาตรีและปริญญาโท โดยในระดับปริญญาตรี คือหลักสูตรวิศวกรรมซอฟแวร์ (2 Plus 2) เป็นหลักสูตรที่ทำความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ซึ่งเปิดโอกาสให้นักศึกษาของ สจล. ได้เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยกลาสโกว์ เป็นระยะเวลา 2 ปี ในช่วงชั้นปีที่ 3 และปีที่ 4 โดยจะได้รับปริญญาทั้งจากของ สจล. เองและมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ด้วย นอกจากนี้ ยังมีหลักสูตรนานาชาติในระดับบัณฑิตศึกษาที่เปิดสอน คือ หลักสูตรวิศวกรรมยานยนต์ จาก โครงการสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงแห่งประเทศไทยและสถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียว ที่ให้นักศึกษาสามารถเข้าฝึกงานที่ประเทศญี่ปุ่นได้ โดยหลักสูตรนี้มีความต้องการที่จะพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนตร์ โดยจะมีการเปิดสอนทั้งภาคในเวลาราชการและภาคนอกเวลาราชการ และหลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน เป็นหลักสูตรที่พยายามเน้นให้ผู้ที่กำลังทำงานด้านการขนส่งได้เข้ามาเพิ่มพูนความรู้ในการทำงานด้านการจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนมากขึ้น อีกทั้งยังมีความต้องการที่จะพัฒนาหลักสูตรให้มีเนื้อหาที่ครอบคลุมมากขึ้น เพื่อให้ประเทศไทย สามารถมีบุคลากรที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และสามารถสร้างบุคคากรชั้นนำในการพัฒนาประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งแห่งภูมิภาคเอเชียได้
ด้าน โปรเฟสเซอร์ เดวิด วัตส์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยกลาสโกว์ และอาจารย์ดูแลหลักสูตรความร่วมมือ 2 Plus 2 กับ สจล. กล่าวถึง หลักสูตรความร่วมมือนี้ว่า หลักสูตรวิศวกรรมซอฟแวร์เป็นหลักสูตรที่ค่อนข้างใหม่ และเป็นหลักสูตรที่น่าสนใจ จึงได้สร้างความร่วมมือกับทาง สจล. อีกทั้ง ที่ สจล. เองก็มีการเรียนการสอนหลักสูตรนี้ และ
ออกแบบหลักสูตรได้ดี ถือเป็นความร่วมมือที่ลงตัวมาก อย่างไรก็ตาม ได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า อยากจะให้หลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรที่เปิดกว้างมากขึ้นในหลายๆสถาบันการศึกษาทั่วโลก เนื่องจาก ความต้องการในเรื่องของซอฟท์แวร์ในยุคปัจจุบันเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น และในภาคอุตสาหกรรมยังคงมีความต้องการในเรื่องของผู้เชี่ยวชาญด้านซอฟท์แวร์อีกมากมาย ซึ่งจะเป็นผลดีมาก หากสถาบันการศึกษาสามารถผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ ความสามารถ ผนวกกับความเชี่ยวชาญในด้านซอฟท์แวร์ ก็จะทำให้ภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี กลายเป็นแหล่งรองรับแรงงานได้มากขึ้น ทั้งนี้ โปรเฟสเซอร์ วัตส์ ได้กล่าวเสริมว่า หากมองศักยภาพของนักศึกษาไทยแล้วนั้น หลังจากที่ได้มีการพูดคุย และแลกเปลี่ยนทัศนคติ ตลอดจนการพิจารณาถึงความสามารถในการเรียน ก็ยิ่งมั่นใจว่า นักศึกษาไทย มีศักยภาพสูงพอที่จะแข่งขันกับนักศึกษาในต่างประเทศทั่วโลกได้อย่างมากมาย เพียงแค่การเริ่มพัฒนาการศึกษา การเรียนการสอน ตลอดจนหลักสูตรต่างๆให้ตรงเป้าประสงค์นั่นเอง