กระทรวงพลังงานชู 7 มาตรการหลักพร้อมดันแผนพลังงานทางเลือก เสนอครม. หวังพาไทยพ้นวิกฤตราคาน้ำมันแพง

ข่าวทั่วไป Tuesday May 18, 2004 09:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 พ.ค.--กระทรวงพลังงาน
กระทรวงพลังงานชู 7 มาตรการหลักพร้อมดันแผนพลังงานทางเลือก เสนอครม. หวังพาไทยพ้นวิกฤตราคาน้ำมันแพง วอนสื่อเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วประเทศรับทราบ เพื่อสร้างจิตสำนึกการประหยัดพลังงานระยะยาว
นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวง พลังงาน ได้จัดทำแผนรณรงค์มาตรการประหยัดพลังงาน เพื่อรองรับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจะให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาในวันนี้ (18 พ.ค.) และจะได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการดำเนินการให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว ซึ่งสามารถแบ่งเป็น 7 มาตรการหลัก ได้แก่
1. รณรงค์โดยอาศัยสื่อสารมวลชน ให้มีการรณรงค์ประหยัดพลังงาน ระยะเร่งด่วน (พ.ค.-ก.ค. 47) ภายใต้โครงการ 60 ล้านไทย ลดใช้พลังงาน โดยขอความร่วมมือจากสื่อต่าง ๆ ได้แก่ กรมประชาสัมพันธ์ อสมท. และเครือข่ายประชาสัมพันธ์ของกระทรวงกลาโหม รวมถึงขอความร่วมมือจากสื่อต่างๆ จากภาคเอกชน เช่น สถานีโทรทัศน์ วิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ และผู้เขียนบทภาพยนตร์และละคร เพื่อแทรกประโยชน์ของการประหยัดพลังงานและวิธีการประหยัดพลังงาน เป็นต้น
2. มาตรการจัดการระบบขนส่งมวลชน จะได้ร่วมกับกระทรวงคมนาคม กรุงเทพมหานคร และผู้ประกอบการขนส่งมวลชน โดยรณรงค์ให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนเพิ่มขึ้น ด้วยการเร่งรัดการเปิดบริการรถไฟฟ้าใต้ดินให้เร็วขึ้นกว่ากำหนดเดิมในเดือนสิงหาคม 2547 การส่งเสริมใช้ระบบขนส่งมวลชน (รถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟชานเมือง และขสมก.) เช่น ส่งเสริมการลดราคาและจัดโปรโมชั่นช่วงเวลาเร่งด่วน เพิ่มจำนวนเที่ยวและโบกี้ของรถไฟชานเมือง ขอความร่วมมือหน่วยงานราชการและเอกชน จัดสถานที่จอดรถ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้ระบบขนส่งมวลชน จัดรถตู้บริการรับช่วงผู้โดยสารจากสถานีรถไฟและขนส่งมวลชน รวมทั้งทบทวนระบบตั๋วเดือน และจัดให้มีรถโรงเรียนอย่างทั่วถึงและ เพียงพอ
3. ประหยัดพลังงานในภาคอุตสาหกรรม โดยร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม หอการค้า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม มุ่งเน้นส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานน้อย แต่สร้างมูลค่าสูง ส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานอย่างเหมาะสมในแต่ละประเภทของอุตสาหกรรม เพื่อลดการสูญเสียพลังงานที่ไม่จำเป็น เพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านภาษีเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อให้เกิดแรงจูงใจต่อสถานประกอบการในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
4. ประหยัดพลังงานในภาคที่อยู่อาศัย ร่วมกับการเคหะแห่งชาติ สถาบันการศึกษา องค์กรเอกชน ดำเนินการสร้างกระแสให้ความรู้ประชาชนในการปรับปรุงที่อยู่อาศัย ด้วยอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน สนับสนุนโครงการบ้านจัดสรร ที่มีแบบบ้านหรือวัสดุประหยัดพลังงาน
5. ร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ปกครอง เด็ก หันมาใช้ระบบขนส่งมวลชน ซึ่งจะดำเนินการในระยะสั้น ได้แก่ การส่งเสริมการใช้รถโรงเรียน รถขนส่งมวลชน แทนรถของผู้ปกครอง การให้สิ่งจูงใจด้วยการลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า จัดรถรับส่งจากสถานี ทั้งนี้จะให้โรงเรียนใหญ่ ๆ เสนอแผนการใช้รถโรงเรียนและรถขนส่งมวลชนด้วย มาตรการระยะยาว จะจัดหลักสูตรพิเศษให้นักเรียน รู้จักวิธีขับขี่รถยนต์อย่างประหยัดและปลอดภัย รวมทั้งพัฒนาหลักสูตรการอนุรักษ์พลังงานในโรงเรียน
6. ร่วมมือกับภาคเอกชน เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าไทย ดำเนินการสาธิตการอนุรักษ์พลังงานในโรงงาน การวิจัยและศึกษาผลพลอยได้จากพลังงาน ดำเนินการอนุรักษ์พลังงานแบบมีส่วนร่วมในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดกลางและย่อม การศึกเพื่อประเมินการใช้พลังงานต่อหน่วยผลผลิตในโรงแรม และร่วมกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในการอนุรักษ์พลังงานแบบมีส่วนร่วมในโรงงาน การพัฒนาบุคลากรด้านการประหยัดพลังงาน
7. กำหนดบทบาทให้ข้าราชการเป็นผู้นำในการประหยัดพลังงาน เช่น ให้หน่วยงานราชการลดปริมาณการใช้พลังงานลงไม่น้อยกว่า 5 % จากปริมาณการใช้เฉลี่ยต่อเดือนของปีงบประมาณ 2544 หากหน่วยงานใดทำได้ก็จะให้งบประมาณส่วนที่ประหยัดได้มาเป็นรางวัลแก่หน่วยงานนั้น ส่งเสริมการใช้รถยนต์ของหน่วยงานราชการให้ใช้ก๊าซโซฮอล์ กำหนดบทบาทผู้ว่าซีอีโอ ให้เป็นแกนหลักในการจัดทำแผนประหยัดพลังงาน การกวดขันวินัยจราจร และควบคุมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอย่างประหยัด
นอกจากนี้ กระทรวงพลังงาน ยังได้มีมาตรการจัดหาเชื้อเพลิงทางเลือก เพื่อประกอบกับมาตรการประหยัดพลังงาน โดยจะเร่งการพัฒนาและส่งเสริมก๊าซโซฮอล์ ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดทำแผนผลิตและจำหน่ายก๊าซโซฮอล์ ให้สอดคล้องกับเป้าหมายยุทธศาสตร์ส่งเสริมก๊าซโซฮอล์ โดยมีเป้าหมายที่จะยกเลิกการใช้สาร MTBE ภายในปี 2549 เพื่อให้มีการใช้เอทานอลผสมแทน
โครงการก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ได้มอบหมายให้ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ดำเนินการปรับปรุงรถเก่าและรถใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มรถยนต์โดยสารที่มีการใช้เชื้อเพลิงมากต่อวัน เช่น รถแท๊กซี่ รถขสมก. รถโดยสารเอกชน มาใช้NGV เพิ่มขึ้น รวมถึงการขยายสถานีบริการNGV นอกจากนี้ ยังได้ประสานกับกระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในการจูงใจให้ภาคเอกชน โดยเฉพาะผู้ผลิตและประกอบรถยนต์ และอุปกรณ์ใช้ก๊าซให้มากขึ้น และให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีนำเข้าอุปกรณ์ ตลอดจนความช่วยเหลือด้านเงินทุนกับผู้ประกอบการ
การพัฒนาและส่งเสริมไบโอดีเซล ได้จัดตั้งคณะกรรมการร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดเป้าหมายในการใช้ไบโอดีเซล 3 % ของการใช้น้ำมันดีเซล ในปี 2554 หรือประมาณวันละ 2.4 ล้านลิตร รวมถึงการพัฒนาการผลิตให้มีวัตถุดิบเพียงพอ กับการนำมาผลิตไบโอดีเซล ทั้งนี้ได้แบ่งการพัฒนาออกเป็น 2 ระยะคือ บังคับใช้เฉพาะพื้นที่เป้าหมายในปี 2549 | 2553 และ บังคับใช้ทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นไป
นายแพทย์พรหมินทร์กล่าวเพิ่มว่า นอกจากการประหยัดการใช้น้ำมันตามมาตรการต่างๆ แล้วกระทรวงพลังงานยังได้มีโครงการประหยัดไฟฟ้า โดยได้ร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จะดำเนินโครงการ ประหยัดไฟ กำไรสองต่อ โดยมีเป้าหมายในการกระตุ้นให้ผู้ใช้ไฟฟ้าร่วมกันประหยัดไฟฟ้า โดยเฉพาะประเภทบ้านอยู่อาศัย ประมาณ 14 ล้านครัวเรือน โดยหากผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถประหยัดการใช้ไฟฟ้าได้อย่างน้อย 10 % ก็จะได้รับส่วนลดค่าไฟฟ้าทันที 20% ของจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ลดลงได้แต่ละเดือน ซึ่งโครงการนี้ จะเริ่มต้นได้ในเดือนมิถุนายนนี้เป็นต้นไป--จบ--
-นท-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ