กรุงเทพฯ--18 พ.ค.--สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ
ปัจจุบัน มีประชากรโลกสูบบุหรี่มากถึง ๑๑,๐๐๐ ล้านมวน โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีรายได้น้อยและอยู่ในประเทศด้อยพัฒนา ซึ่งแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตเพราะสูบบุหรี่สูงถึง ๕ ล้านคน ส่วนในประเทศไทยจากรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อปี ๒๕๔๔ พบว่าผู้สูบบุหรี่ร้อยละ ๗๖ เป็นผู้ที่มีรายได้น้อย ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายที่อาศัยอยู่ในชนบทและประกอบอาชีพผู้ใช้แรงงาน โดยมีผู้เสียชีวิตเพราะสูบบุหรี่ ๔๒,๐๐๐ คน นอกจากนั้นยังพบว่าเยาวชนทีอายุต่ำกว่า ๑๙ ปี สูบบุหรี่ประมาณ ๔๕๔,๐๐๐ คน
จากการเสวนาวิชาการเรื่องความสูญเสียจากการสูบบุหรี่ ซึ่งจัดโดย มูลนิธิรณรงค์ เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ได้มีนักวิชาการเสนอผลการวิจัยการวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจของการสูบบุหรี่ว่า ในภาวะปัจจุบันคนไทยใช้เงินรายได้ร้อยละ ๓ ของรายจ่ายทั้งหมดไปกับการสูบบุหรี่ หากมีการเพิ่มอัตราภาษีจากเดิมร้อยละ ๗๕ ไปเป็นร้อยละ ๗๖ จะทำให้การบริโภคยาสูบลดลงร้อยละ ๑.๖๔ ซึ่งคาดว่า จะทำให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยและเยาวชนมีจำนวนผู้สูบบุหรี่ลดลง และในขณะเดียวกันรัฐบาลจะมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ ๑ พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ ๒.๕ นอกจากนั้นการขึ้นภาษีบุหรี่ยังจะส่งผลดีต่อรัฐบาลเพราะขณะนี้รัฐบาลมีต้นทุนรวมในการรักษาโรคมะเร็งปอดและโรคปอดค่อนข้างสูง โดยเมื่อปี ๒๕๔๒ รัฐบาลมีค่าใช้จ่ายในการรักษาคิดเป็นมูลค่าประมาณ ๒๔๐ ล้านบาท
ก่อนหน้านี้ องค์การอนามัยโลกและธนาคารโลก ได้เคยเสนอให้รัฐบาลแต่ละประเทศ ใช้มาตรการการขึ้นภาษีบุหรี่ ซึ่งจะทำให้คนไทยสูบบุหรี่ลดลงและจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคจากการสูบบุหรี่ ก็จะลดลง และในโอกาสวันงดสูบบุหรี่ในปีนี้ องค์การอนามัยโลก ได้ให้คำขวัญรณรงค์ไว้ว่า "TOBACCO AND POVERTY" หรือ "บุหรี่! ยิ่งสูบ...ยิ่งจน" เพื่อชี้ว่าการสูบบุหรี่เป็นภาระทางเศรษฐกิจอย่างหนึ่งของประเทศ--จบ--
-นท-