กรุงเทพฯ--18 เม.ย.--ทริปเปิล เจ คอมมิวนิเคชั่น
นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงานและโฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ปัจจุบันก๊าซธรรมชาติที่ประเทศไทยนำเข้ามาจากสหภาพพม่า จำนวน 2 แหล่ง ได้แก่ แหล่งยาดานา และแหล่งเยตากุน ซึ่งใน ภาวะปกติประเทศไทยจะรับก๊าซฯจากสหภาพพม่าเต็มกำลังการผลิต ประมาณ 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยเมื่อวันที่ 8-17 เม.ย.ที่ผ่านมา แหล่งเยตากุนได้มีการหยุดซ่อมบำรุงท่อส่งก๊าซธรรมชาติ จึงส่งผลให้ต้องหยุดการรับก๊าซจากแหล่งในสหภาพพม่าทั้งหมด เนื่องจากค่าความร้อนจากแหล่ง ยานาดาและแหล่งเยตากุนมีความแตกต่างกันมาก เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบจากการรับก๊าซดังกล่าว กระทรวงพลังงาน จึงได้บริหารจัดการดังนี้
ด้านก๊าซธรรมชาติ มอบหมายให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติและให้ปตท.ประสานกับผู้รับสัมปทานปิโตรเลียม ขอให้เพิ่มการผลิตก๊าซธรรมชาติมากขึ้น และให้ ปตท.ทำการจ่ายก๊าซฯจากฝั่งตะวันออกย้อนไปทางท่อก๊าซฝั่งตะวันตกเพื่อส่งก๊าซให้โรงงานอุตสาหกรรมและสถานีบริการก๊าซ NGV รวมทั้งเพิ่มการจ่ายก๊าซ LNG เป็น 200 ลูกบาศก์ฟุตต่อวันทดแทนก๊าซจากสหภาพพม่า ซึ่งขณะนี้การซ่อมบำรุงท่อก๊าซธรรมชาติได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อย ตามแผน และเวลา 05.54 น. วันนี้ (18 เมษายน 2555) ผู้ผลิตได้แจ้งว่า พร้อมจ่ายก๊าซฯ ได้ตามปกติ ซึ่งในเวลา 08.45 น. วันเดียวกัน ปตท.ก็ได้เริ่มเปิดวาล์ว รับก๊าซจากสหภาพพม่า ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าก๊าซฯ จะเดินทางถึงลูกค้าอุตสาหกรรมนวนคร เวลา 20.00 น. ของวันที่ 18 เม.ย.55 และถึงลูกค้าอุตสาหกรรมกลุ่มสุขสวัสดิ์ เวลา 21.00 น. ของวันเดียวกัน
ด้านไฟฟ้า ได้ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเพิ่มการผลิตจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำในประเทศ โดยได้ประสานงานกับคณะกรรมการที่ดูแลการปล่อยน้ำเพื่อลดการระบายน้ำในช่วงปัจจุบัน เพื่อใช้ในช่วงหยุดจ่ายก๊าซฯ และได้ดำเนินการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงเสริม คือ น้ำมันเตา ใช้ไปประมาณ 48.5 ล้านลิตร ต่ำกว่าแผน 29.3 ล้านลิตร เนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้าในช่วงสงกรานต์ต่ำกว่าแผน ส่วนน้ำมันดีเซลไม่มีการใช้
อนึ่ง เมื่อบ่ายวันที่ 11 เม.ย.55 แหล่งก๊าซฯ สินภูฮ่อม ได้หยุดผลิตนอกแผน เนื่องจากพบปัญหาที่ระบบการบำบัดคุณภาพน้ำที่ได้จากกระบวนการผลิต ส่งผลให้ต้องหยุดจ่ายก๊าซฯ ให้โรงไฟฟ้าน้ำพองทั้งหมด รวมทั้งสถานีจ่ายก๊าซ NGV หลัก อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ทำให้ปริมาณก๊าซ NGV ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือลดลงจากระบบประมาณ 400 ตันต่อวัน จากปกติ 600 ตันต่อวัน กระทรวงพลังงานจึงให้ผู้ผลิตเร่งตรวจสอบความเสียหาย และดำเนินการตัดแยกระบบให้สามารถกลับมาจ่ายก๊าซฯ ได้บางส่วน โดยจะสามารถทยอยจ่ายก๊าซฯ ได้ตามปกติ ตั้งแต่เย็นวันที่ 18 เมษายน 2555 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 10 เม.ย.55 ซึ่งเป็นวันที่คาดการณ์ว่าจะมีอุณหภูมิสูงสุดในรอบปีและอาจมีการใช้ไฟฟ้าสูงสุด กระทรวงพลังงานได้จัดกิจกรรมรณรงค์ “10 เม.ย.ปฏิบัติการช่วยชาติ งดใช้พลังงาน 1 ชั่วโมง” ณ ทำเนียบรัฐบาล ทำให้ช่วงเวลา 13.52 น. ของวันดังกล่าว สามารถลดการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(Peak demand) ได้ 515 เมกะวัตต์ ลดการใช้น้ำมัน 56,736 ลิตร ลดการปล่อย CO2(ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์) 177 ตัน และพลังงานไฟฟ้าลดลง 283,682 หน่วย คิดเป็นเงิน 851,046 บาท และช่วงเวลา 14.57 น. สามารถลดการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(Peak demand) ได้ 727 เมกะวัตต์ ลดการใช้น้ำมัน 105,679 ลิตร ลดการปล่อย CO2 จำนวน 330 ตัน และพลังงานไฟฟ้าลดลง 528,395 หน่วย คิดเป็นเงิน 1,585,184 บาท
จากสภาวะวิกฤตการณ์ ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ กระทรวงพลังงานพยายามบริหารจัดการ แก้ไขอย่างเต็มที่ เป็นการยืนยันว่า ไม่ว่าจะเกิด วิกฤตการณ์ร้ายแรงแค่ไหน กระทรวงพลังงานพร้อมจะเร่งจัดการบริหาร ดูแลประชาชนอย่างใกล้ชิด ทุ่มเทแรงกายแรงใจ เพื่อให้ประชาชนทุกคนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด” นายคุรุจิตกล่าว