ไทย - เยอรมันร่วมวิจัยเฝ้าระวังสุขภาพคนไทย

ข่าวทั่วไป Tuesday May 18, 2004 15:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 พ.ค.--วช.
นโยบายเชิงรุกสร้างศักยภาพทางสุขภาพให้กับประชาชนเป็นสิ่งสำคัญที่นักวิชาการได้ทำการวิจัยและพัฒนา การดำเนินการดังกล่าวต้องมีกระบวนการต้องอาศัยเครื่องมือต่าง ๆ ในการเรียนรู้เนื่องจากสภาพพื้นที่ภูมิศาสตร์และมิติของเวลาแตกต่างกัน การนำวิธีการทางชีวสถิติเพื่อติดตามและเฝ้าระวังสุขภาพมาใช้จึงเป็นหนทางหนึ่งที่ควรนำมาใช้ ด้วยเหตุนี้ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงให้ทุนอุดหนุนการวิจัยแก่ รศ.เพียงจันทร์ โรจนวิภาต และคณะ จากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทำการวิจัยเรื่อง "การพัฒนาวิธีการทางชีวสถิติเพื่องานติดตามและเฝ้าระวังทางสุขภาพ : กรณีศึกษาประเทศไทย" โดยต้องการศึกษาการกระจายของพื้นที่ภูมิศาสตร์ ซึ่งอาศัยการจำแนกประชาชนเป็นกลุ่มย่อยที่มีความแตกต่างกัน และอาศัยเครื่องมือการทำแผนที่ระบุโรคมาลาเรียจากข้อมูลเฝ้าระวัง การวิเคราะห์เมต้าของอายุคาดโดยเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดจากข้อมูลสถิติของประชากรและการวิเคราะห์กลุ่มของอวัยวะในร่างกายที่เกิดโรคมะเร็งจากข้อมูลทะเบียนผู้ป่วยโรคมะเร็ง
ผลการวิจัยพบว่า การศึกษาด้วยวิธีการทางชีวสถิติที่นำมาใช้ในการเฝ้าระวังสุขภาพโดยใช้แผนที่ระบุโรคของโรคมาลาเรีย ทำให้สามารถบ่งชี้ถึงเหตุการณ์การป่วยด้วยโรคมาลาเรียที่มีแนวโน้มมากในบริเวณจังหวัดชายแดนประเทศไทยที่อยู่ติดกับเพื่อนบ้าน เช่น พม่า กัมพูชา ได้แก่ 4 จังหวัด คือ ระนอง สตูล สงขลา และ
สุราษฎร์ธานี ส่วนการวิเคราะห์เมต้าอายุคาดโดยเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดต่ำ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน แพร่ พะเยา และปทุมธานี ท้ายสุดงานวิจัยได้วิเคราะห์เกี่ยวกับการเกิดโรคมะเร็งสูงในเพศชาย ดังนี้ คือ มะเร็งปอด มะเร็งตับ และมะเร็งลำไส้ใหญ่ ส่วนเพศหญิงจะเป็นมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูก ดังนั้นการใช้วิธีการทางชีวสถิติเพื่อติดตามและเฝ้าระวังสุขภาพทำให้แผนปฏิบัตการควบคุมป้องกันโรคมีประสิทธิภาพตรงตามเป้าหมาย และมีการเฝ้าระวังมากขึ้น--จบ--
-นท-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ