กรุงเทพฯ--19 เม.ย.--อเกต คอมมิวนิเคชั่น
เป็นที่น่ายินดียิ่งที่เมื่อเห็นจำนวนคนที่มาเดินซื้อหนังสือในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละปี พลอยทำให้อยากเห็นงานดีๆ อย่างนี้ไปจัดขึ้นในทุกๆ จังหวัดของประเทศไทย เพื่อส่งเสริมให้คนไทยรักการอ่าน เพราะการอ่าน คือ การเปิดโลกทัศน์ เปิดมุมมอง และเปิดจิตนาการ ทำให้เราได้รู้ในสิ่งที่เราไม่เคยรู้ และครั้งนี้ก็เพิ่งจะได้รู้ว่าแบบเรียนภาษาไทยชุดดรุณศึกษา ที่เคยร่ำเรียนมาตั้งแต่เด็กๆ นั้น คนแต่งเป็นชาวฝรั่งเศส ไม่น่าเชื่อว่า คนฝรั่งเศสเป็นผู้เขียนหนังสือภาษาไทยเพื่อให้คนไทยได้ศึกษาเล่าเรียนมาถึงปัจจุบัน นับเป็นเวลากว่า 102 ปีแล้ว
การเปิดโลกทัศน์ตัวเองในครั้งนี้ ต้องขอขอบคุณบริษัท สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสำนักพิมพ์ที่อยู่คู่กับคนไทยมานานปี ที่เลือกหยิบหนังสือ “ดรุณศึกษา” ขึ้นมาบนเวทีเสวนากึ่งวิชาการในชื่อการเสวนา “มหัศจรรย์ดรุณศึกษา คุณค่าข้ามศตวรรษ” ซึ่งในเวทีนี้เราได้พบกับนักวิชาการที่เป็นผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ รัชกาลที่ ๔-๕ และเป็นผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับประวัติของหนังสือดรุณศึกษาเป็นอย่างดี นั่นคือ อ.ไกรฤกษ์ นานา และอีกท่านหนึ่งคือ อ.ตวงพร ทิพย์จ้อย อาจารย์ภาษาไทยดีเด่น จากโรงเรียนอัสสัมชัญ สมุทรปราการ ผู้ที่ใช้หนังสือเรียนชุดดรุณศึกษาในการเรียนการสอนมากว่า 24 ปี ที่ขาดไม่ได้คือ ผศ.อินทิรา บุนนาค กรรมการผู้จัดการ ของไทยวัฒนาพานิช และงานนี้ดำเนินรายการโดยพิธีกรสาวดีกรีปริญญาเอก คุณ อริสรา กำธรเจริญ
อ.ไกรฤกษ์ นานา ได้กล่าวถึงหนังสือชุดดรุณศึกษาว่าเป็นหนังสือที่ได้ร่ำเรียนมาตั้งแต่เด็กๆ และได้ซึมซับวิธีการเขียนหนังสือโดยใช้ภาพประกอบมาจากหนังสือเล่มนี้โดยแท้ ความพิเศษของหนังสือเล่มนี้ คือ เขียนโดย ฟ. ฮีแลร์ ภารดาชาวฝรั่งเศสที่หลงใหลในภาษาไทยมาก เมื่อความรู้ถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ท่านจึงเรียกพบ และเชิญให้เข้าร่วมสมาคมวรรณคดี ซึ่งสมาคมนี้ส่วนใหญ่ราชวงศ์ชั้นสูงเท่านั้นที่สามารถเข้ามาเป็นสมาชิกได้ หนังสือชุดดรุณศึกษานี้ ฟ.ฮีแลร์ ได้ใช้เวลาแต่งถึง 11 ปี มีทั้งหมด 5 เล่ม นอกจากนี้หนังสือชุดนี้ยังแจกเป็นที่ระลึกในงานถวายพระเพลิงของสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย ในหนังสือเล่มนี้ใช้รูปภาพมาประกอบการสอน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทันสมัยมาในขณะนั้น เพราะว่าหนังสือไทยในยุคก่อนจะไม่มีรูปภาพประกอบ และการที่หนังสือมีรูปภาพอยู่นี่เอง ทำให้เราได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์จากภาพได้อีกด้วย เช่น รูปขอมดำดิน ที่เราได้แต่จินตนาการว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร แต่ว่าหนังสือเล่มนี้มีการวาดภาพเพื่อบรรยายเนื้อเรื่องไว้
อาจารย์ตวงพร ทิพย์จ้อย ในฐานะครูที่ใช้หนังสือเล่มนี้สอนเด็กมาแล้วรุ่นต่อรุ่นรวม 24 ปี ได้กล่าวว่า “หนังสือเล่มนี้มีวิธีการเรียงร้อยสระ การสะกดคำ ไว้อย่างครบถ้วน เด็กที่ได้อ่านจะสามารถอ่านเขียนได้คล่อง มีคำศัพท์กว้าง และมีความรอบรู้ และแม้ว่าโรงเรียนที่ใช้หนังสือเล่มนี้ในการเรียนการสอนจะเป็นโรงเรียนในเครือคาทอลิกแต่ก็แนะนำอยากให้ผู้ปกครองซื้อมาลองอ่านเอง เพื่อให้ลูกหลานได้เรียนรู้ภาษาไทยได้แตกฉานยิ่งขึ้น และนอกจากหนังสือเล่มนี้สอนภาษาไทยแล้ว ยังสอดแทรกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ประเพณี วัฒนธรรม และคำสอนต่างๆ ไว้อีกด้วย”
ความทันสมัยที่ ฟ.ฮีแลร์ ได้สอดแทรกไว้ในหนังสือเล่มนี้ คือ กล่าวถึงประวัติศาสตร์ของประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นพม่า จีน มาเลเซีย ดังกับจะรู้ว่าในอีก 100 ปีต่อมา ประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่การเปิดเสรีอาเซียนทำให้เราต้องรู้จักประเทศเพื่อนบ้านของเราให้มากขึ้น ซึ่งในหนังสือเล่มนี้ได้เตรียมความพร้อมไว้ให้เด็กๆ เรียบร้อยแล้ว และสิ่งที่น่าอัศจรรย์อีกเรื่องหนึ่งคือ หนังสือเล่มนี้ได้บันทึกเรื่องการล่มลงของเรือไททานิค จะเห็นได้ว่าขณะที่ประพันธ์หนังสือเล่มนี้ นอกจากตั้งใจที่จะแต่งหนังสือภาษาไทยแล้ว ยังตั้งใจที่จะใส่ประวัติศาสตร์ไทย และประวัติศาสตร์โลกลงไปในหนังสือด้วย
ผศ.อินทิรา บุนนาค ในฐานะผู้สืบทอดการพิมพ์ และการจัดจำหน่ายหนังสือชุดดรุณศึกษามากว่า 50 ปีแล้ว กล่าวว่า “หนังสือเล่มนี้ทางไทยวัฒนาพานิช ได้รับความไว้วางใจมากว่า 50 ปี ในการพิมพ์และจัดจำหน่าย จำได้ว่าตั้งแต่สมัยคุณย่าแล้ว ซึ่งเราไม่ได้แตะต้องเนื้อหาในเล่มเลย นอกจากเปลี่ยนภาพปกของหนังสือเท่านั้น เนื้อหาและรูปประกอบยังคงเป็นของเดิมทั้งสิ้นเพราะเราถือว่าเป็นสิ่งที่มีความเป็นมายาวนานและมีคุณค่ามาก”
ก่อนจบการเสวนา ทาง อ.ไกรฤกษ์ นานา ได้ฝากแง่คิดคร่าวๆ ไว้ว่า “ผมคิดว่าขณะที่ ฟ.ฮีแลร์ กำลังประพันธ์หนังสือเล่มนี้อยู่นั้น เป็นช่วงเวลาเดียวกับการเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นการแตกความสามัคคีกันของทางฝั่งตะวันตก อันส่งผลกระทบถึงความรู้สึกของ ฟ.ฮีแลร์ ทำให้เนื้อหาในหนังสือสอนเรื่องความสามัคคีกันของคนในชาติ การสอนเรื่องความรัก ความกลมเกลียวกันของคนในชาติ เนื้อหาส่วนนี้ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่คนไทยยุคปัจจุบันต้องอ่าน เพื่อให้เกิดความสำนึกในการรักชาติ และสร้างความกลมเกลียวกันมากขึ้น การแบ่งพวกพ้อง แบ่งฝ่าย ย่อมไม่เกิดผลดีใดๆ แก่ชาติบ้านเมืองโดยรวมเป็นแน่”
แบบเรียนภาษาไทยชุดดรุณศึกษา มีทั้งสิ้น 5 เล่ม สำหรับเด็กระดับเตรียมประถม- ประถมศึกษาปีที่ 4 เป็นหนังสือที่มีคุณค่ามากกว่าที่เรารู้สึก ไม่เพียงแต่สอนให้อ่านออกเขียนได้หรือสะกดคำให้ถูกต้อง แต่ว่ายังสอดแทรกแนวคิดด้านคุณธรรมจริยธรรม ประเพณีปฏิบัติ และประวัติศาสตร์ต่างๆ ไว้ในหนังสือเรียนภาษาไทยอีกด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการเรียนการสอนเชิงบูรณาการที่ ฟ.ฮีแลร์ ผู้ประพันธ์ได้สอดแทรกไว้ในเนื้อหาอย่างเป็นธรรมชาติ ทำให้เรารู้ได้ว่านักการศึกษาหรือผู้รู้ในอดีตอาจวางรากฐานการศึกษาของประเทศไทยไว้แล้ว รอเพียงโอกาสที่ให้นักการศึกษาของสมัยปัจจุบันพิจารณาให้เห็นคุณค่าของที่มีมาแต่เดิมและนำมาปรับใช้ให้ได้ประโยชน์ต่อการศึกษาของประเทศให้มากที่สุด