ไตรมาสแรกปี 47 บริษัทจดทะเบียนทำกำไรรวมกว่าแสนล้านบาท

ข่าวทั่วไป Wednesday May 19, 2004 16:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 พ.ค.--ตลาดหลักทรัพย์ฯ
บริษัทจดทะเบียนประกาศผลการดำเนินงานประจำไตรมาสแรก ปี 2547 มีผลกำไรสุทธิรวมถึง 107,834 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 76,101 ล้านบาทในไตรมาสแรกของปีก่อนเป็นจำนวนสูงถึง 31,733 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 42 กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีผลกำไรสุทธิสูงสุด คือ กลุ่มธุรกิจการเงิน มีกำไรรวม 30,178 ล้านบาท รองลงมาคือกลุ่มทรัพยากร มีกำไรรวม 20,033 ล้านบาท ด้านธนาคารพาณิชย์มีกำไรเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 77 เนื่องจากรายได้จากการลงทุนในภาวะตลาดทุนที่ดีขึ้นกว่าปีก่อน
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน ไตรมาส 1 ปี 2547 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2547 ว่า บริษัทจดทะเบียนทั้งในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตลาดหลักทรัพย์ใหม่ (MAI) ได้นำส่งงบการเงินงวดสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2547 แล้วจำนวน 395 บริษัท หรือคิดเป็นร้อยละ 92 จากบริษัทจดทะเบียนทั้งสิ้น 428 บริษัท (ตลท.416 บริษัท + MAI จำนวน 12 บริษัท)
"บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จำนวน 386 บริษัท จาก 416 บริษัท มียอดขายรวม 769,512 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 และมีกำไรสุทธิทั้งสิ้น 107,780 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 76,053 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 42 โดยบริษัทที่มีผลกำไรสุทธิมีจำนวน 326 บริษัท คิดเป็นร้อยละ 84
ส่วนบริษัทจดทะเบียนใน MAI จำนวน 12 บริษัท ได้นำส่งงบการเงินจำนวน 9 บริษัท มีผลกำไรสุทธิ 7 บริษัท ซึ่งทั้ง 9 บริษัทมียอดขายรวม 1,324 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 29 จากงวดเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิทั้งสิ้น 54 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 49 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 11"นายกิตติรัตน์กล่าว
สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนแยกตามกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ 8 กลุ่มอุตสาหกรรม (Industry Group) จำนวน 353 บริษัท (ไม่รวมหมวดอื่นๆ (Others) และหมวด REHABCO) ซึ่ง ตลท.ได้เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2547 นั้น มีกำไรสุทธิรวม 102,102 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 95 ของกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนรวม โดยเรียนลำดับตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีกำไรสุทธิสูงสุดได้ ดังนี้
1. กลุ่มธุรกิจการเงิน ประกอบด้วยบริษัทจดทะเบียนในหมวดธนาคาร หมวดเงินทุนและหลักทรัพย์ และหมวดประกันภัยและประกันชีวิตรวมจำนวน 61 บริษัท มีกำไรสุทธิรวม 30,178 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 28 ของกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนรวม และมีอัตราการเติบโตจากงวดเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 83
2. กลุ่มทรัพยากร ประกอบด้วยบริษัทในหมวดพลังงาน 12 บริษัท และหมวดเหมืองแร่ 1 บริษัท ปรากฏผลกำไรสุทธิเท่ากับ 20,033 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9 โดยมีสาเหตุหลักจากหมวดพลังงานที่มียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 13 เนื่องจากปริมาณการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจ และดอกเบี้ยจ่ายลดลงร้อยละ 15
3. กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ประกอบด้วยบริษัทจดทะเบียนในหมวดวัสดุก่อสร้างและตกแต่ง และหมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รวมจำนวน 53 บริษัท มีกำไรสุทธิรวม 17,983 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 50 ซึ่งเป็นผลจากยอดขายเติบโตร้อยละ 19 เนื่องจากความต้องการวัสดุก่อสร้างภายในประเทศเพิ่มขึ้นและราคาวัสดุก่อสร้างปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ดอกเบี้ยจ่ายลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 20 โดยหมวดวัสดุก่อสร้างและตกแต่งที่มีสัดส่วนกำไรสุทธิร้อยละ 78 ของกลุ่มอุตสาหกรรม มีการเติบโตของยอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 20
4. กลุ่มบริการจำนวน 75 บริษัท มีกำไรสุทธิ 14,441 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 29 เป็นผลจากการเติบโตของยอดขายร้อยละ 15 โดยหมวดขนส่งที่มีสัดส่วนกำไรสุทธิร้อยละ 64 ของกลุ่มอุตสาหกรรม มียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 11 และมีอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 25 เป็นร้อยละ 29 เนื่องจากปริมาณการใช้บริการเพิ่มขึ้นและอัตราค่าระวางการขนส่งทางน้ำปรับตัวดีขึ้น
5. กลุ่มเทคโนโลยี ประกอบด้วยบริษัทจดทะเบียนในหมวดสื่อสาร ชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์รวม 38 บริษัท มีกำไรสุทธิรวม 11,167 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 22 เป็นผลจากการเติบโตของยอดขายร้อยละ 16 และดอกเบี้ยจ่ายลดลงร้อยละ 13 โดยหมวดสื่อสารที่มีสัดส่วนกำไรสุทธิร้อยละ 81 ของกลุ่มอุตสาหกรรม มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 35 เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน โดยมียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 เนื่องจากมีจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นและมีกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ 961 ล้านบาท
6. กลุ่มวัตถุดิบและสินค้าอุตสาหกรรมจำนวน 39 บริษัท มีกำไรสุทธิ 5,998 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6 เป็นผลมาจากมียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 ตามการขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจ และดอกเบี้ยจ่ายลดลงร้อยละ 37 โดยหมวดเคมีภัณฑ์และพลาสติกที่มีสัดส่วนกำไรสุทธิร้อยละ 70 ของกลุ่มอุตสาหกรรม มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 6
7. กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ประกอบด้วยหมวดอาหารและเครื่องดื่ม และหมวดธุรกิจการเกษตร รวมจำนวน 41 บริษัท มีกำไรสุทธิ 1,165 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1 โดยหมวดอาหารและเครื่องดื่มมีกำไรสุทธิลดลงร้อยละ 24 และมีอัตรากำไรขั้นต้นลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนเป็นร้อยละ 19 จากเดิมร้อยละ 23 เนื่องจากวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่หมวดธุรกิจการเกษตรมีผลขาดทุนลดลงร้อยละ 72 เนื่องจากมียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 และมีอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 9 จากเดิมร้อยละ 7
8. กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคจำนวน 33 บริษัท มีกำไรสุทธิ 1,137 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 12 เป็นผลมาจากในไตรมาส 1/2547 มียอดขายลดลงร้อยละ 1 โดยหมวดสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่มีสัดส่วนกำไรสุทธิร้อยละ 69 ของกลุ่มอุตสาหกรรม มียอดขายลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5 เนื่องจากปริมาณขายลดลง
นายกิตติรัตน์กล่าวต่อไปว่า "สำหรับผลประกอบการของหมวดธนาคารพาณิชย์ ซึ่งอยู่ในกลุ่มธุรกิจการเงิน ประกอบด้วยธนาคารพาณิชย์ 13 แห่ง และบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีผลกำไรสุทธิรวมดีขึ้นจากปีก่อน โดยมีผลกำไรสุทธิรวม 24,538 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 77 เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 13,832 ล้านบาท โดยมีสาเหตุจากรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 ซึ่งเกิดจากกำไรจากเงินลงทุนอันเนื่องมาจากภาวะตลาดทุนที่ดีขึ้นกว่าปีก่อน และรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิก่อนหักหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นร้อยละ 17 เป็นผลมาจากสินเชื่อขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลดลง ทั้งนี้หนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นร้อยละ 130 โดยมีการขาดทุนจากการปรับโครงสร้างหนี้จำนวน 5,881 ล้านบาท"
ส่วนผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มธุรกิจเงินทุนและธุรกิจหลักทรัพย์ (ไม่รวมบริษัทที่ประกอบธุรกิจเช่าซื้อและลีสซิ่ง) จำนวน 18 บริษัท มีกำไรรวม 3,676 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1,524 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 141 โดยมีสาเหตุหลักจากรายได้ธุรกิจหลักทรัพย์สุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายการกู้ยืมเงินและค่าธรรมเนียมและบริการจ่ายของบริษัทหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นร้อยละ 120 ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากรายได้ค่านายหน้าและรายได้ค่าธรรมเนียมจากการรับประกันการจำหน่ายหลักทรัพย์ (Underwriter) เพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลดลง ทำให้นักลงทุนลงทุนในตลาดทุนมากขึ้นส่งผลให้ปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์เพิ่มสูงขึ้นมาก รายได้อื่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 45 เนื่องจากกำไรจากการขายเงินลงทุน อันเนื่องมาจากภาวะตลาดทุนที่ดีขึ้นดังกล่าว สำหรับบริษัทเงินทุนมีรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 ซึ่งเกิดจากรายได้จากการให้สินเชื่อเช่าซื้อเพิ่มขึ้นเนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์มียอดขายรถยนต์เพิ่มขึ้นมาก โดยเงินให้กู้ยืมและดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ทั้งนี้มีหนี้สูญเพิ่มขึ้นร้อยละ 125
ด้านผลการดำเนินงานของหมวดประกันชีวิตและประกันภัย ซึ่งประกอบด้วยบริษัทประกันชีวิต 2 แห่ง และประกันภัย 16 แห่ง มีกำไรสุทธิรวม 1,081 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 94 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 558 ล้านบาท มีสาเหตุหลักจากรายได้จากการลงทุนและกำไรจากการลงทุนในหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น 770 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 181 เนื่องจากมีการปรับโครงสร้างการลงทุนในตราสารทุนและตราสารหนี้ โดยมีเบี้ยประกันภัยรับเพิ่มขึ้น 1,006 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 23
"สำหรับบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ระหว่างฟื้นฟูการดำเนินงานหรือกลุ่ม REHABCO นั้น ณ วันที่ 18 พฤษภาคม 2547 มีจำนวน 41 บริษัท นำส่งงบการเงินจำนวน 28 บริษัท คิดเป็นร้อยละ 68 ของบริษัทหมวด REHABCO ทั้งหมด มีกำไรสุทธิรวม 5,506 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 4,896 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 803 โดยเป็นบริษัทที่มีผลกำไรสุทธิ 15 บริษัท และมีผลขาดทุนสุทธิ 13 บริษัท เนื่องจากมียอดขายเพิ่มขึ้น 13,307 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 และ มีกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ 3,107 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,822 ล้านบาท" กรรมการและผู้จัดการกล่าว
บริษัทจดทะเบียนที่มีความคืบหน้าในการปรับโครงสร้างหนี้ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2547 มีบริษัทจดทะเบียนที่มีหนี้คงค้างของกลุ่มบริษัทนี้รวม 202,512 ล้านบาท ลดลง 5,944 ล้านบาท จากเมื่อสิ้นปี 2546 ซึ่งมีมูลหนี้ทั้งสิ้น 208,456 ล้านบาท ทั้งนี้ สามารถสรุปสถานะการฟื้นฟูกิจการของบริษัทในหมวด REHABCO ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-18 พฤษภาคม 2547 ได้ดังนี้
- บริษัทที่เปิดซื้อขายในหมวด REHABCO มีจำนวนทั้งสิ้น 14 บริษัท โดยไม่มีบริษัทที่ได้รับอนุญาตให้เปิดซื้อขายในหมวด REHABCO เพิ่มเติม
- บริษัทที่ย้ายเข้าหมวด REHABCO เพิ่มจำนวน 2 บริษัท ได้แก่ บมจ. ทุนเท็กซ์ (ประเทศไทย) (TUNTEX), บมจ. บางกอกรับเบอร์ (BRC)
- บริษัทที่ย้ายกลับไปซื้อขายหมวดปกติจำนวน 3 บริษัท ได้แก่ บมจ. อีเอ็มซี (EMC), บมจ.แนเชอรัล พาร์ค (N-PARK) และ บมจ. มิลเลนเนียม สตีล (MS)
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร :
ลดาวัลย์ กันทวงศ์ โทร. 0-2229 - 2036 /
กุลวิดา จินตกะวงส์ โทร. 0-2229 - 2037 /
ณัฐพร บุญประภา โทร. 0-2229-2049--จบ--
-นห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ