ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กร "ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น" ที่ระดับ "BBB+"

ข่าวทั่วไป Thursday May 20, 2004 08:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 พ.ค.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จัดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ "BBB+" ซึ่งสะท้อนถึงประสบการณ์อันยาวนานในธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ความสามารถและประสบการณ์ของทีมผู้บริหาร และสถานะทางการเงินของบริษัทที่แข็งแกร่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนด้วยความเสี่ยงของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่มีความผันผวนและมีการแข่งขันค่อนข้างสูง ประกอบกับความกดดันด้านอัตราผลตอบแทนอันเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาวัสดุก่อสร้างและการกลับเข้ามาของผู้รับเหมาก่อสร้างที่ปรับโครงสร้างหนี้สำเร็จแล้ว
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่นเป็นผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศซึ่งก่อตั้งในปี 2505 โดยนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล เพื่อดำเนินธุรกิจประกอบและติดตั้งโครงสร้างเหล็ก ต่อมาบริษัทได้ขยายธุรกิจเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างงานทุกประเภททั้งของภาคเอกชนและภาครัฐ บริษัทมีความชำนาญสูงและมีประสบการณ์ยาวนานในงานก่อสร้างภาคพลังงานและอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงกลั่นน้ำมันและโรงไฟฟ้า บริษัทประสบปัญหาทางการเงินในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 และได้ปรับโครงสร้างทางการเงินสำเร็จในปลายปี 2543 โดยกลุ่มตระกูลชาญวีรกูลยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 17.7% ณ เดือนธันวาคม 2546 และเป็นผู้นำทีมบริหารมาตั้งแต่ก่อตั้งบริษัททริสเรทติ้งกล่าวว่าทีมผู้บริหารของบริษัทมีความสามารถในการปรับกลยุทธ์เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ธุรกิจที่เปลี่ยนแปลง หลังจากวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 บริษัทได้ปรับกลยุทธ์จากเดิมที่เน้นให้ความสำคัญกับงานภาคเอกชนมาเป็นงานรับเหมาก่อสร้างของภาครัฐมากขึ้น โดยเข้าร่วมประมูลงานด้วยวิธีร่วมกิจการกับบริษัทคู่ค้าและเสนอราคาประมูลที่ค่อนข้างต่ำกว่าคู่แข่ง บริษัทประสบความ
สำเร็จในงานรับเหมาก่อสร้างหลายโครงการให้ภาครัฐและสามารถประมูลงานของภาครัฐได้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก แม้โครงการของภาครัฐโดยทั่วไปจะให้อัตรากำไรที่ต่ำกว่าภาคเอกชน แต่การชำระเงินของภาครัฐก็มีความน่าเชื่อถือและแน่นอนกว่า ในขณะเดียวกัน ภาครัฐยังมีการจ่ายเงินล่วงหน้า 10% ของงานตามสัญญาว่าจ้างซึ่งช่วยลดความต้องการเงินทุนหมุนเวียนของผู้ประกอบการได้บางส่วน นอกจากนี้ สัญญาก่อสร้างแบบปรับราคาได้หรือสัญญาที่มีค่า K ระบุไว้ในโครงการของภาครัฐก็ช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาวัสดุก่อสร้างได้เช่นกัน ปัจจุบันบริษัทมีงานโครงการจากภาครัฐจำนวน 71% ของงานก่อสร้างที่มีอยู่ ซึ่งคาดว่าจะเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของบริษัทในอนาคต ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทสามารถประมูลงานได้เพิ่มขึ้นโดยมีมูลค่างานเพิ่มขึ้นจาก 4,200 ล้านบาทในปี 2544 เป็น 11,480 ล้านบาทในปี 2546 ด้วยอายุงานเฉลี่ยประมาณ 1.5-2 ปี ซึ่งจำนวนงานดังกล่าวคิดเป็น 1.6 เท่าของที่บริษัทเคยมีสูงสุดในปี 2542 โดยชื่อเสียงที่บริษัทได้สั่งสมมามีส่วนช่วยให้บริษัทสามารถประมูลโครงการขนาดใหญ่ได้มากขึ้นซึ่งจะก่อให้เกิดการประหยัดจากขนาดในอนาคต ในปี 2546 บริษัทประมูลงานที่มีมูลค่าสูงกว่า 1,000 ล้านบาทได้หลายโครงการ คิดเป็นสัดส่วน 37% ของมูลค่าสัญญาใหม่ทั้งหมดในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงจากงานที่เป็นโครงการเร่งด่วนซึ่งการก่อสร้างค่อนข้างเร่งรีบถือเป็นสิ่งที่น่าห่วง แม้ว่าโครงการเหล่านี้จะให้ผลตอบแทนที่สูง แต่ก็มีความเสี่ยงที่สูงกว่าโครงการทั่วไป ซึ่งบริษัทจะต้องบริการโครงการดังกล่าวอย่างระมัดระวัง
ทริสเรทติ้งยังกล่าวด้วยว่า ในปี 2546 บริษัทซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่นมีรายได้ 5,316 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจาก 3,931 ล้านบาทในปี 2545 บริษัทมีผลประกอบการดีขึ้นตั้งแต่ปี 2544 โดยมีอัตรากำไรขั้นต้นประมาณ 13% ในช่วงปี 2544-2546 ณ สิ้นปี 2546 บริษัทมีเงินสดในมือและเงินลงทุนในหลักทรัพย์ที่สูงกว่าหนี้สินทางการเงิน หนี้สินส่วนใหญ่ของบริษัทจำนวน 556 ล้านบาทมีอัตราดอกเบี้ยคงที่ซึ่งทำให้บริษัทมีความเสี่ยงต่อความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยไม่มาก อย่างไรก็ตาม งานที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2546 อาจทำให้บริษัทต้องการใช้เงินทุนจากแหล่งภายนอกเป็นทุนหมุนเวียนหากการบริหารเงินสดไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
งานรับเหมาก่อสร้างเป็นธุรกิจที่มีความผันผวนและมีการแข่งขันค่อนข้างสูง การเติบโตของอุตสาหกรรมขึ้นอยู่กับงบประมาณใช้จ่ายในการก่อสร้างของภาครัฐและการใช้จ่ายลงทุนของภาคเอกชน การมีจำนวนโครงการเพิ่มมากขึ้นในอนาคตมีส่วนช่วยลดความรุนแรงของการแข่งขันลงได้บางส่วน อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของราคาวัสดุก่อสร้างเป็นปัจจัยเสี่ยงและส่งผลลบต่อความสามารถในการทำกำไรของผู้ประกอบการ เนื่องจากธุรกิจรับเหมาก่อสร้างมีความผันผวนค่อนข้างสูง บริษัทจึงควรดำเนินนโยบายทางการเงินที่เคร่งครัด โดยเฉพาะนโยบายการจ่ายเงินปันผล อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน และสภาพคล่อง ทั้งนี้เพื่อที่จะรักษาสถานะทางการเงินให้แข็งแกร่งและสามารถรองรับเหตุการณ์ในอนาคตที่อาจจะกระทบต่อธุรกิจได้ ทริสเรทติ้งกล่าว --จบ--
-นท-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ