กองทัพเรือ เสนอถึง ความสามัคคี รากฐานแห่งความมั่นคง

ข่าวทั่วไป Thursday May 20, 2004 11:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 พ.ค.--สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ
ในท่ามกลางความว้าวุ่นในยุคสมัยโลกาภิวัตน์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สังคมของเรากำลัง มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านวัตถุอย่างมากมายและรวดเร็ว จนบางครั้งทำให้เราลืมหลักวัฒนธรรม ประเพณีนิยม จริยธรรม และคุณธรรม ที่พวกเรายึดถือปฏิบัติมาแต่โบราณ และกลับไปรับอิทธิพลวิถีชีวิตของคนอีกซีกโลกมาเป็นวิถีชีวิตของตนเอง ซึ่งลักษณะของสังคมและวัฒนธรรมของคนเราบนโลกใบนี้ มีความหลากหลาย แม้แต่ชนในชาติเดียวกันยังมีความแตกต่างกัน จึงทำให้ความขัดแย้งยังคงปรากฏอยู่ในสังคมทุกระดับ ตั้งแต่ชุมชนขนาดเล็ก ระดับครอบครัว หมู่บ้าน ไปจนถึงชุมชนระดับใหญ่ที่สุด คือ สังคมโลก ซึ่งทางออกทางเดียวที่จะขจัดความขัดแย้งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างสันติวิธีก็คือ ความสามัคคี แต่การบ่มเพาะความสามัคคีให้แก่สังคมชนนั้น ถ้าไม่มีการพัฒนาด้านจิตวิญญาณให้ถึงพร้อมด้วย ความเมตตา ความกรุณา และปัญญา ควบคู่ไปด้วยแล้ว ความโลภ ความโกรธ และความหลง ซึ่งเป็นรากเหง้าแห่งกองกิเลสและเป็นต้นเหตุแห่งความรุนแรง ก็จะแสดงตนเป็นปัจจัยนำ ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นได้ ดังนั้น การสร้างสรรค์วัฒนธรรมแห่งสันติภาพ จึงต้องทำด้วยปัญญาบนฐานแห่งความเมตตา กรุณา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เพื่อให้ความชอบธรรม ความดีงาม และความบริสุทธิ์บังเกิดขึ้น เป็น รากฐานแห่งความมั่นคงของหมู่คณะ ในบ้านเมืองเราทุกวันนี้ ประเทศชาติกำลังพัฒนาในทุกด้าน แต่ความคิดจิตใจของคนเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เสื่อม ความประพฤติที่เป็นความทุจริตหลายอย่างมีท่าทีที่จะกลายเป็นสิ่งที่คนทั่วไปพากันยอมรับและสมยอมให้กระทำกันได้เป็นธรรมดา สภาพการณ์เช่นนี้ย่อมทำให้วิถีชีวิตของแต่ละคนมืดมัวลงไปเป็นปัญหาใหญ่ที่เหมือนกระแสคลื่นอันไหลบ่าเข้ามาท่วมทั่วไปหมด เราจึงจำเป็นต้องช่วยกันฝืนคลื่นที่กล่าวนั้น ด้วยการพัฒนาจิตวิญญาณของเราให้ถึงพร้อมด้วยคุณธรรมความดี เพราะคุณธรรมคือสิ่งที่จะนำพาชีวิตเราให้ก้าวไปสู่หนทางที่ถูกต้องได้อย่างเข้มแข็ง ดังพระบรมราโชวาทเกี่ยวกับการสร้างสรรค์แผ่นดินไทยให้เป็นแผ่นดินทององค์หนึ่ง ความว่า "… การสร้างสรรค์แผ่นดินไทยให้เป็นแผ่นดินทอง หรือการช่วยตัวเองในปัจจุบันนี้ เห็นว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความสงบให้เกิดขึ้นก่อนโดยเร็ว เพราะถ้าความสงบยังไม่เกิด เราจะคิดอ่านแก้ปัญหาหรือจะรวมกำลังกันทำการงานช่วยตัวเองไม่ได้ ความสงบนั้นภายนอกได้แก่สภาวะการณ์อันเป็นปกติ ไม่มีความวุ่นวายขัดแย้ง ไม่มีการเอาเปรียบเบียดเบียนหรือมุ่งร้ายทำลายกัน ภายใน ได้แก่ ความคิดจิตใจ ที่ไม่ฟุ้งซ่าน หวั่นไหว หรือเดือดร้อนกระวนกระวายด้วยอำนาจ ความมักได้ เห็นแก่ตัว ความร้ายกาจเพ่งโทษ ความหลงใหลเห่อเหิม อันเป็นต้นเหตุของอกุศลทุจริตทั้งหมด การทำความสงบนั้นต้องเริ่มที่ภายในตัวในใจก่อน …"
นอกจากนี้ คนในชาติจะต้องมีความสามัคคี เพื่อให้ประเทศชาติเกิดความมั่นคง สงบเรียบร้อย ซึ่งผลดีทั้งปวงดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ด้วยประชาชนมีหลักของใจอันมั่นคง มีศรัทธาและปัญญาอันถูกต้อง และปฏิบัติตนอยู่ในทางที่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม ดังกระแสพระราชดำรัสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่ สามัคคีสมาคม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ.๒๕๒๕ มีความตอนหนึ่งว่า "… ความสามัคคีพร้อมเพรียงกันเป็นพื้นฐานที่สำคัญยิ่งในการปฏิบัติบริหารงานใหญ่ ๆ เช่นงานของแผ่นดิน และความสามัคคีนี้จะเกิดมีขึ้นมั่นคงได้ ก็ด้วยบุคคลในหมู่ในคณะ มีคุณธรรม เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวผูกพันจิตใจของกันและกันไว้ คุณธรรมเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจนั้น ประการหนึ่งได้แก่ การให้ คือให้การสงเคราะห์ช่วยเหลือกัน ให้อภัยไม่ถือโทษกัน ให้คำแนะนำตักเตือนที่ดีต่อกัน ประการที่สอง ได้แก่ การมีวาจาดี คือพูดแต่คำสัจคำจริงต่อกัน พูดให้กำลังใจกัน พูดแนะนำประโยชน์กัน และพูดให้รักใคร่ปรองดองกัน ประการที่สาม ได้แก่ การทำประโยชน์ให้แก่กัน คือประพฤติปฏิบัติตนให้เกิดประโยชน์เกื้อกูล ทั้งแก่กันและกัน และแก่หมู่คณะโดยส่วนรวม ประการที่สี่ ได้แก่ การวางตนได้สม่ำเสมออย่างเหมาะสม คือ ไม่ทำตัวให้ดีเด่นเกินกว่าผู้อื่น และไม่ด้อยให้ต่ำทรามไปจากหมู่คณะ หมู่คณะใดมีคุณธรรมเครื่องยึดเหนี่ยวกันไว้ดังกล่าว หมู่คณะนั้นย่อมจะมีความเจริญมั่นคงขึ้นด้วยสามัคคีธรรม ..."
นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงกล่าวอีกว่า "…การรักษาอิสรภาพและความเป็นไทยให้ดำรงมั่นคง นอกจากจะต้องอาศัยการบริหารประเทศที่ฉลาด สามารถ และสุจริตเป็นธรรมแล้ว ยังต้องอาศัยความร่วมมือสนับสนุนจากประชาชน ทั้งประเทศด้วย คือ ต้องรู้จักควบคุมจิตใจ ควบคุมสติของตัว ให้สามารถใช้ความรู้ทางวัตถุนี้ เพื่อประโยชน์ของตัวเอง ประโยชน์ของสังคมด้วย เพราะเราอยู่ในสังคม ถ้าไม่รู้จักควบคุม ความรู้ ที่มีในทางวัตถุก็อาจเกิดความเดือดร้อนต่อผู้อื่น ในที่สุดก็เป็นความเดือดร้อนต่อตนเอง ..."
จะเห็นได้ว่า หลักธรรมที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานให้ในวาระต่าง ๆ ล้วนแต่เป็นข้อเตือนสติ และก่อประโยชน์ให้กับเรา ดังนั้นพวกเราจึงควรน้อมนำพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสคำสั่งสอนทั้งหลายของพระองค์ท่าน มาพินิจพิจารณาและยึดถือปฏิบัติ เพื่อความเป็นสิริมงคล เพราะนอกจากจะเป็นแนวทางนำไปสู่ความสุขความสงบในชีวิตยุคนี้ได้แล้ว ยังจะช่วยให้ประเทศชาติบังเกิดความสงบสุขร่มเย็น และมีโอกาสที่จะปรับปรุงพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าและมั่นคงยิ่งขึ้นต่อไป--จบ--
-นท-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ