กรุงเทพฯ--23 เม.ย.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี
นาย วิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีความเป็นห่วงสุขภาพของประชาชน เนื่องมาจากอากาศที่ร้อนถึงร้อนมากติดต่อกันหลายวัน นับตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ไปถึงกลางเดือนพฤษภาคม โดยเฉพาะเดือนเมษายนนี้แสงแดดจะแรง อากาศร้อนจัด และมีความชื้นสัมพัทธ์สูง ทำให้เหงื่อไม่สามารถระเหย และพาความร้อนออกจากร่างกายได้ เสี่ยงเป็นโรคลมแดด อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
นอก จากนี้ ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด และโรงพยาบาลทุกแห่ง ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนในการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการเสียชีวิตจาก อากาศที่ร้อนจัด โดยอยู่ในบ้านหรือในตัวอาคารที่มีร่มเงา และดื่มน้ำมากๆ เพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำของร่างกาย โดยเฉพาะในช่วงกลางวันจนถึง16.00 น. ซึ่งเป็นช่วงที่อุณหภูมิอากาศร้อนที่สุด โดยมอบหมายให้กรมควบคุมโรค ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งในด้านการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคที่อาจจะเกิดขึ้น
ดร.นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า แม้ขณะนี้ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูร้อน แต่พบว่าอากาศมีความเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เพราะบางครั้งอาจเกิดพายุฝน ทำให้อากาศเย็นลง และสลับอากาศร้อนถึงร้อนจัด กรมควบคุมโรคจึงมีความห่วงใยในสุขภาพของประชาชน เพราะอากาศที่ร้อนจัดในช่วงนี้อาจจะมีโอกาสร้อนต่อเนื่องติดต่อกันอีกหลาย วัน ซึ่งอากาศที่ร้อนถึงร้อนจัดในบางช่วงเวลานั้น พบว่าแต่ละวันอุณหภูมิช่วงกลางวันเวลาประมาณ 13.00น. ถึง 16.00น.จะเป็นช่วงที่อุณหภูมิอากาศร้อนที่สุด โดยเฉพาะเวลาประมาณ 14.00น. จะเป็นช่วงเวลาที่ร้อนที่สุดของวัน ประชาชนอาจได้รับความร้อนมากจนเกินไปและ เกิดภาวะขาดน้ำ เสี่ยงต่อการป่วยด้วย 4 โรคสำคัญ ได้แก่ 1.โรคลมแดดหรือฮีสโตรก (Heat Stroke) 2.โรคเพลียแดด (Heat Exhaustion) 3.โรคตะคริวแดด (Heat Cramps) และ4.ผิวหนังไหม้แดด (Sunburn) ที่อันตรายถึงขั้นเสียชีวิตคือโรคลมแดด
อาการสำคัญของแต่ละโรคมีดังนี้
1.โรคลมแดดหรือฮีสโตรก อาการ ที่สังเกตง่าย คือ ผิวหนังจะแดงร้อน และแห้ง ไม่มีเหงื่อ หากวัดปรอททางปาก อุณหภูมิจะสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส หรือ 103 องศาฟาเรนไฮต์ ผู้ป่วยจะชีพจร เต้นแรงและเร็ว มีอาการคลื่นไส้ สับสน ไม่รู้สึกตัว ในการช่วยเหลือเบื้องต้น ให้นำผู้ป่วยเข้าที่ร่มทันที และใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตัวหรือแช่ตัวในน้ำเย็น ในรายที่มีอาการหนัก อาจจะใช้ผ้าชุบน้ำเย็นห่อตัวไว้ และรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที ไม่เช่นนั้นอาจเสียชีวิตได้
2.โรคเพลียแดด จะ มีอาการเหงื่อออกมาก หน้าซีด ปวดหัว วิงเวียน คลื่นไส้หรืออาเจียน ผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อย อ่อนแรง หรือเป็นลม ผู้ป่วยประเภทนี้ จะมีอุณหภูมิในร่างกายสูงกว่า 37องศาเซลเซียส แต่ไม่เกิน 40 องศาเซลเซียส ในการช่วยเหลือคนที่เป็นโรคเพลียแดด ให้ดื่มน้ำเย็น ที่ไม่มีแอลกอฮอล์ผสม ให้พัก อาบน้ำหรือเช็ดตัวด้วยน้ำเย็น หากเป็นไปได้ให้อยู่ในสถานที่ที่มีเครื่องปรับอากาศ เพื่อลดอุณหภูมิร่างกาย และสวมเสื้อผ้าที่เบาสบาย อาการก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ และเป็นปกติได้เอง
3.โรคตะคริวแดด มัก พบในผู้ที่ทำงานกลางแดด หรือออกกำลังกายหักโหมขณะที่มีอากาศร้อน จะมีอาการปวดกล้ามเนื้อ หน้าท้อง แขน ขา มีอาการเกร็ง ผู้ป่วยต้องหยุดออกกำลังกายหรือหยุดใช้แรงทันที เมื่ออาการดีขึ้นแล้ว ไม่ควรออกกำลังกายซ้ำภายใน 2-3 ชั่วโมง ให้ดื่มน้ำผลไม้หรือเครื่องดื่มที่มีเกลือแร่ หากเป็นไปได้ให้อยู่ในที่ที่มีเครื่องปรับอากาศ หากอาการไม่ดีขึ้นใน 1 ชั่วโมงให้รีบไปพบแพทย์ และ
4.ผิวหนังไหม้แดด เป็นอาการที่เบาที่สุด ผิวหนังจะเป็นรอยแดงปวดแสบปวดร้อนเล็กน้อยหลังถูกแดด ซึ่งโดยทั่วไปอาการจะหายได้เองภายใน 1สัปดาห์ ในการดูแลหากผิวหนังไหม้แดด ขอให้หลีกเลี่ยงการออกแดดซ้ำ และประคบด้วยความเย็น เช่นผ้าเย็น กระเป๋าน้ำแข็ง ถุงเจลแช่เย็น และทาโลชั่นให้ความชุ่มชื้นบริเวณที่เป็นรอยไหม้ หากมีตุ่มพุพองขึ้นห้ามเจาะ เพราะจะทำให้อักเสบได้
ดร.นายแพทย์พรเทพ กล่าวต่อไปว่า ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง 6 กลุ่ม ได้แก่
1.เด็กแรกเกิดถึงอายุ 4 ขวบ
2.ผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป
3.ผู้ที่เป็นโรคอ้วนหรือมีน้ำหนักตัวมาก
4.คนป่วยหรือผู้ทานยาเป็นประจำ
5.ผู้ที่ต้องทำงานหรือออกกำลังกายกลางแจ้งเป็นเวลานานๆ และ
6.ผู้ที่ดื่มสุราหรือเบียร์ในขณะที่มีสภาพอากาศร้อน
คำแนะนำสำหรับป้องกันอันตรายจากอากาศร้อน คือ เตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำ หลีกเลี่ยงการอยู่ กลางแดดในวันที่อากาศร้อนจัด ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้วหรือประมาณวันละ 2 ลิตร สวมใส่เสื้อผ้าที่มีสีอ่อน ไม่หนา น้ำหนักเบา และสามารถระบายความร้อนได้ดี ใช้โลชั่นกันแดดที่มีค่า SPF 15 ขึ้นไปก่อนออกแดด 30 นาที เด็กเล็กหรือคนชราที่ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยควรดูแลเป็นพิเศษโดยจัดให้อยู่ ในสภาพแวดล้อมหรือห้องที่ระบายอากาศได้ดี อย่าเพิกเฉยต่อความรู้สึกร้อนหรือ เหนื่อยเกินไปของเด็กและคนชรา อย่าปล่อยให้เด็กหรือคนชราอยู่ในรถที่ปิดสนิท ตามลำพัง หลีกเลี่ยงการกินยาแก้แพ้ ลดน้ำมูก โดยเฉพาะก่อนการออกกำลังกายหรืออยู่กลางแดดเป็นเวลานานๆ และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด เนื่องจากฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ จะทำให้หลอดเลือดใต้ผิวหนังขยายตัว ผนวกกับอากาศที่ร้อนอบอ้าว จะทำให้สูญเสียน้ำทางเหงื่อและปัสสาวะได้ง่ายยิ่งขึ้น ทำให้ร่างกายขาดน้ำ อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น อาจช็อคหมดสติได้
“ใน กรณีที่ต้องทำงานหรือออกกำลังกายกลางแจ้ง กลางแดดร้อน ขอให้ดื่มน้ำเย็น 2-4 แก้วทุกชั่วโมง หากเสียเหงื่อมากให้ดื่มน้ำเกลือแร่ ในช่วงที่อากาศร้อนจัดมาก ขอให้ประชาชนควรอยู่ในอาคาร ส่วนวิธีที่ดีที่สุดในการลดอุณหภูมิของร่างกาย คือ ให้อาบน้ำหรือใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตัว และหากมีข้อสงสัยติดต่อได้ที่ศูนย์ บริการข้อมูลฮ็อตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข โทร 1422และศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค โทร 0 2590 3333” ดร.นายแพทย์พรเทพ กล่าวทิ้งท้าย