ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ สร้างชื่อให้คนไทย คว้ารางวัลสุดยอดนวัตกรรม

ข่าวทั่วไป Monday April 23, 2012 11:19 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 เม.ย.--pla communication ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ สร้างชื่อให้คนไทย คว้ารางวัลสุดยอดนวัตกรรมBest Innovations ในงาน World Halal Research Summit 2012 ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยอีกครั้งด้วยการคว้ารางวัล Best Innovations สุดยอดนวัตกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาล จากผลงานนวัตกรรมแห่งศตวรรษ เรื่อง “Two-Dimensional Barcode Application Incorporated with Najis Cleaning Procedure for Preparation of Promising HAL-Q Halal Logistics and Traceability System” โดยได้รับโล่เกียรติยศจาก Dato Sri Mustapa Bin Mohamed รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรมของมาเลเซีย ในงาน World Halal Research Summit 2012 ณ ศูนย์ประชุม Kula Lumpur Convention Center (KLCC) กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งจัดขึ้นติดต่อกันเป็นปีที่ 5 สืบเนื่องมากจากการจัดงานสัปดาห์ฮาลาลภายใต้แนวคิด “Innovation Catalyst as Business Transformation” เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาและต่อยอดงานวิจัยตลอดจนนวัตกรรมต่าง ๆ ที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของโลกมุสลิม ซึ่งมีประชากรรวมกันกว่า 1 ใน 3 ของประชากรโลก ไปสู่ระบบธุรกิจและอุตสาหกรรม โดยมีนักเรียนนักศึกษา นักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ นักอุตสาหกรรม และนักธุรกิจ จากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกให้ความสนใจเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับรางวัลอันทรงคุณค่านี้ ซึ่งเป็นการการรันตีและสร้างความมั่นใจในระดับโลกได้ว่าประเทศไทยเป็นมือหนึ่งในเรื่องของ Halal Logistic โดยผลงานที่ได้รับรางวัล Best Innovations ในครั้งนี้เป็นนวัตกรรมการพัฒนาระบบ 2D Barcode และซอฟต์แวร์เพื่อใช้ในการตรวจสอบและติดตามตู้ คอนเทนเนอร์บรรจุสินค้าที่ใช้ขนส่งผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองฮาลาลรวมถึงได้รับการควบคุมความสะอาดตามหลักการของศาสนาอิสลาม โดยการขนส่งสินค้าและผลิตภัณฑ์จากผู้ผลิตไปยังผู้บริโภคถือเป็นจุดอ่อนสำคัญอีกประการหนึ่งที่อาจก่อให้เกิดการปนเปื้อนระหว่างสิ่งที่อนุญาต (ฮาลาล) และสิ่งต้องห้าม (หะรอม) ตามหลักการของศาสนาได้โดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ดังนั้นการพัฒนานวัตกรรมระบบตรวจสอบและติดตามตู้คอนเทนเนอร์ด้วย 2D Barcode และซอฟต์แวร์ จะทำให้ผู้บริโภคที่เป็นมุสลิมสามารถมั่นใจได้ว่า ผลิตภัณฑ์ต่างๆที่มาถึงมือนั้นได้ถูกควบคุมให้ปลอดภัยจากนญิสหรือสิ่งสกปกตามหลักการของศาสนาอิสลามตั้งแต่กระบวนการผลิตและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระบวนการขนส่ง ที่สำคัญนวัตกรรมชิ้นนี้ยังช่วยให้เกิดความสะดวก และประหยัดในเรื่องของอุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ ซึ่งคนทั่วไปสามารถใช้ได้” นอกจากนี้ภายในงาน ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังจัดบูธแสดงนิทรรศการและนวัตกรรมของศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล พร้อมทั้งงานวิจัยและนวัตกรรมต่าง ๆ ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ร่วมงานเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะ Dato’ Mukhriz Bin Mahathir รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรมของมาเลเซีย กล่าวชื่นชมผลงานนวัตกรรมของศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลว่า “ต่อไป หากพบเห็นตู้สินค้าจากประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นที่ใดในโลก ก็จะมั่นใจได้ว่าสินค้านั้นฮาลาลอย่างแท้จริง”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ