วอร์เนอร์ บราเดอร์ส พิกเจอร์ส ภูมิใจเสนอภาพยนตร์ เรื่อง MAN ON FIRE

ข่าวทั่วไป Thursday May 20, 2004 11:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 พ.ค.--วอร์เนอร์ บราเดอร์ส พิกเจอร์ส
เบื้องหลังการสร้างและถ่ายทำ
ขบวนการลักพาตัวที่จู่โจมไปทั่วเม็กซิโก ได้สร้างกระแสแห่งความหวาดกลัวให้กับบรรดาพลเมืองผู้ร่ำรวย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกพ่อแม่ ในช่วงเวลาเพียงหกวัน เกิดการลักพาตัวถึง 24 ราย ทำให้หลายๆ ครอบครัวต้องจ้างผู้คุ้มกันให้กับลูกๆ ของพวกเขา
ผู้ที่ได้เหยียบย่างเข้ามาในโลกแห่งนี้ ก็คือ จอห์น ครีซี่ (เดนเซล วอชิงตัน) อดีตเจ้าหน้าที่/มือสังหารซีไอเอไฟมอดผู้ทอดอาลัยกับชีวิต โดยที่เรย์เบิร์น เพื่อนของครีซี่ (คริสโตเฟอร์ วอล์กเคน) ได้พาเขามายังเม็กซิโกซิตี้เพื่อทำหน้าที่คุ้มกันให้กับ ปิต้า รามอส (ดาโกต้า แฟนนิ่ง) ลูกสาววัยเก้าขวบของนักธุรกิจ แซมมวล รามอส (มาร์ค แอนโทนี่) และลิซ่า (ราด้า มิทเชล) ภรรยาของเขา ครีซี่ไม่ได้สนใจกับการเป็นผู้คุ้มกัน โดยเฉพาะให้เด็ก แต่เห็นว่าไม่มีงานอย่างอื่นที่ดีไปกว่านั้น จึงตกลงรับหน้าที่นั้น
ครีซี่แทบจะทนไม่ไหวกับเด็กแก่แดด ที่คอยตั้งคำถามน่ารำคาญเกี่ยวกับตัวเขาและชีวิตส่วนตัว แต่เธอก็ค่อยๆ กะเทาะเปลือกนอกที่แข็งกระด้างของเขาจนกระทั่งเกราะป้องกันหลุดออก และเขาก็ยอมเปิดใจกับเธอ
เป้าหมายใหม่ของชีวิตที่ครีซี่เพิ่งค้นพบ ต้องถูกสั่นคลอนเมื่อปิต้าถูกลักพาตัวไป โดยไม่คำนึงถึงบาดแผลสาหัสที่เขาได้รับในระหว่างการต่อสู้เพื่อขัดขวางลักพาตัว ครีซี่ได้กลายเป็น "คนที่นั่งอยู่บนกองไฟ" เมื่อเขาสาบานว่าจะฆ่าทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือมีผลประโยชน์จากการลักพาครั้งนี้ และไม่มีใครจะหยุดเขาได้ ฟอกซ์ 2000 พิกเจอร์ส และรีเจนซี่ เอ็นเตอร์ไพรซ์ ภูมิใจเสนอผลงานของนิวรีเจนซี่ / สก็อต ฟรี โปรดักชั่น ภาพยนตร์โดยโทนี่ สก็อต นำแสดงโดย เดนเซล วอชิงตัน ในเรื่อง MAN ON FIRE และร่วมแสดงโดย ดาโกต้า แฟนนิ่ง, คริสโตเฟอร์ วอล์กเคน, จิอันคาร์โล จิอันนีนี่, ราด้า มิทเชล, มาร์ค แอนโทนี่, เรเชล ทิโคทิน และมิกกี้ เริร์ก กำกับการแสดงโดย โทนี่ สก็อต อำนวยการสร้างโดย อาร์นอน มิลแคน, โทนี่ สก็อต และ ลูคัส ฟอสเตอร์ บทภาพยนตร์โดย ไบรอัน เฮลเกแลนด์ จากนวนิยายของ เอ. เจ. ควินเนล อำนวยการบริหารโดย แลนซ์ ฮูล และเจมส์ ดับบลิว สก็อตช์โดโพล
การเริ่มต้นงานสร้างภาพยนตร์เรื่อง Man on Fire ในกรุงเม็กซิโกซิตี้นั้นถือเป็นสุดยอดของการทำงานอันยาวนานในระยะเวลา 20 ปีของผู้กำกับการแสดง โทนี่ สก๊อตและบริษัท รีเจนซี่ เอ็นเตอร์ไพร์ซ ที่จะให้เรื่องนี้ให้เกิดขึ้นเป็นภาพยนตร์ เจ้าของผู้ก่อตั้งบริษัทรีเจนซี่ - อานอน มิลแคน ได้ซื้อลิขสิทธิ์การทำเรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ในปี 1980 เรื่อง Man on Fire ที่เขียนขึ้นโดย เอ เจ ควินเนล (นามแฝง - จนกระทั่งทุกวันนี้ชื่อจริงของผู้เขียนยังไม่เป็นที่เปิดเผยต่อสาธารณชน) เรื่องของตัวเอก ผู้ซึ่งเป็นซี ไอ เอที่ต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายอย่าง จอห์น ครีซี่ นั้นปรากฏ ในเรื่องแนวฆาตกรรมของ ควินเนลถึงสามเรื่อง: The Perfect Kill, The Blue Ring และเรื่อง Message from Hell
มิลแคนเห็นว่าหนังสือนั้นมีความเป็นไปได้ที่จะนำมาทำเป็นภาพยนตร์และได้ติดต่อกับผู้กำกับ โทนี่ สก๊อต ที่เพิ่งเสร็จจากงานเรื่อง The Hunger ในการสร้างภาพยนตร์ที่นำมาจากนวนิยายนั้น "มันเป็นเรื่องของอารมณ์ที่ขึ้นลงอย่างรุนแรงมาก" สก๊อตกล่าว "เรื่องที่เกี่ยวกับชายคนหนึ่งที่เสียความเป็นตัวเองและได้รับโอกาสใหม่โดยได้คุ้มกันเด็กหญิงอายุเก้าขวบ และเมื่อเธอได้ถูกลักพาตัวไป เขาจึงได้ไล่ล่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและพยายามสืบหาตัวบงการที่ชักใยอยู่เบื้องหลัง นอกจากเขาจะไม่ยกโทษให้เขายังไล่ตามอย่างไม่ลดละ"
แม้ว่าจะเต็มไปด้วยความกระตือรือร้นสำหรับโครงการภาพยนตร์เรื่องนี้ สก๊อตกลับหันไปกำกับภาพยนตร์เรื่อง Top Gun แต่กระนั้น เกือบสองทศวรรษที่ทำให้ความสนใจในเรื่อง The Man on Fire เป็นไปอย่างต่อเนื่องไม่ลดถอย "โครงการภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่กับผมมาตลอดเวลา" เขากล่าว "ผมแทบไม่เคยละสายตาจากมันเลยก็ว่าได้"
ในหลายปีต่อมา ผู้สร้างลูคัส ฟอสเตอร์ ได้ร่วมกับ รีเจนซี่เพื่อสร้างเรื่องดัดแปลงของ The Man on Fire อีกครั้งหนึ่ง และผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับรางวัลตุ๊กตาทองด้านการเขียนบทภาพยนตร์อย่าง ไบรอัน เฮลเกแลนด์ (เรื่อง L.A. Confidential และเรื่อง Mystic River) ได้เขียนบทภาพยนตร์ขึ้นมาใหม่ ในปี 2003 โทนี่ สก๊อต ผู้ที่ฟอสเตอร์ร่วมงานด้วยจากภาพยนตร์เรื่อง Crimson Tide เซ็นสัญญาที่จะรับกำกับภาพยนตร์เรื่องนี้นับเป็นเวลาเกือบสองทศวรรษหลังจากที่เขาได้รู้เกี่ยวกับโครงการเรื่องนี้เป็นครั้งแรก
ร่างบทภาพยนตร์ในช่วงแรกของเฮลเกแลนด์เหมือนกับในหนังสือคือเดินเรื่องในประเทศ
อิตาลี แต่ฟอสเตอร์และสก๊อตรู้ว่าคนท้องถิ่น และพวกผู้ร้ายมาเฟียทั้งหลายเป็นสิ่งที่น่าหนักใจ - และการลักพาตัวได้ถูกกำจัดไปหมดแล้วจากประเทศอิตาลี และต้องขอบคุณสำหรับกฎหมายใหม่ที่ค่อนข้างเข้มงวด - พวกเขาจึงมองหาสถานที่ถ่ายทำในประเทศบราซิล, ประเทศกัวเตมาลา และประเทศเม็กซิโกทีมงานสร้างได้ทำการค้นคว้าอย่างมากมายซึ่งทำให้เห็นว่าการลักพาตัวนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่อย่างสม่ำเสมอในกรุงเม็กซิโกซิตี้ "การลักพาตัวกลายเป็นธุรกิจที่มโหฬารที่นั่น" สก๊อตเล่า "มีการคุมงานและวางแผนกันเป็นอย่างดี มันเป็นเหมือนอุตสาหกรรมอย่างหนึ่งทีเดียว" สก๊อตได้ทำการค้นคว้าประวัติคดีลักพาตัวหลายต่อหลายคดีในประเทศเม็กซิโกและไบรอัน เฮลเกแลนด์ผู้เขียนบทก็ได้ปรับเค้าโครงบทภาพยนตร์ให้เป็นไปตามนั้น "การค้นคว้ามีความหมายมากในการในการทำภาพยนตร์ให้เหมือนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง " สก๊อตกล่าว " ถึงแม้ว่าผู้ชมจะไม่เคยได้รู้ขั้นตอนและโลกที่เราบรรยายเอาไว้ในหนังเรื่องนี้ แต่มันจะทำให้เกิดความรู้สึกสมจริง"
สก๊อตกล่าวอีกว่า ความทุ่มเทของ เฮลเกแลนด์ให้กับโครงการภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ประเมินค่าไม่ได้ " สิ่งที่ไบรอันทำได้ดีก็คือ สร้างสรรค์เรื่องขึ้นมาสองเรื่อง" ผู้กำกับกล่าว " เรื่องแรกหรือครึ่งแรกของภาพยนตร์เป็นเรื่องของชายคนหนึ่งที่พยายามหาทางกลับสู่ชีวิตของตัวเองโดยผ่านทางเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง และเรื่องที่สองนั้นคือความมุ่งมั่นของเขาในการแก้แค้น"
เฮลเกแลนด์ โยงเรื่อง Man on Fire กับเรื่อง Beauty and the Beast "ปิต้ารู้ว่ายังมีหัวใจซึ่งเต้นรัวอยู่ในตัวของครีซี่แม่ว่าตัวเขาเองกลับไม่เคยรู้เลย" เขากล่าว "แต่เมื่อสิ่งที่ทำให้เขากลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งหนึ่ง ถูกพรากจากไป จึงทำให้เขาเดือดดาลเพราะคราวนี้มันทำให้หัวใจในตัวเขาต้องเต้นรัวขึ้นอีกครั้ง" ผู้สวมบทบาทของชายในกองไฟนั้น คือ เดนเซล วอชิงตัน ผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลตุ๊กตาทองในฐานะผู้แสดงนำยอดเยี่ยมถึงสองครั้ง เขาเคยร่วมงานกับ โทนี่ สก๊อตมาแล้วจากหนังแนวฆาตกรรมเรื่อง Crimson Tide สก๊อตยอมรับความมีคุณภาพหลายอย่างในตัวเดนเซล ที่จะทำให้เขารับบท ครีซี่ได้ "ผมชอบความหลงใหลใฝ่ฝันและความเถื่อนที่ซ่อนอยู่ในตัวของเดนเซล" ผู้กำกับกล่าว " มันเป็นการยากสำหรับเดนเซลซึ่งมันน่าสนใจมาก เขารู้ว่าจะนำเสนอมันออกมาได้อย่างไรและใช้มันได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย เดนเซลสามารถนำเสนอได้ว่าครีซี่สร้างเกราะป้องกันตัวเองโดยปิดตัวเองจากโลกภายนอกได้อย่างไร และเมื่อหัวใจของเขาถูกทำให้อ่อนลง มันก็เคลื่อนไหวต่อไปได้"
"ครีซี่จมตัวเองอยู่กับเหล้า สูญเสียจุดมุ่งหมายในชีวิตและไม่สามารถยอมรับกับสิ่งที่เขาได้ทำลงไปในอดีต โดยการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ฝ่ายปฏิบัติการนักฆ่า ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาถนัด" วอชิงตันกล่าว "เขาโดดเดี่ยวตัวเอง และนั่นจะเกิดขึ้นกับคุณถ้าคุณมีอาชีพฆ่าคนเพื่อเลี้ยงชีวิต ครีซี่เป็นเหมือนพวกนอกรีตที่ไม่มีความรักให้กับใคร และโดยผ่านทางเด็กผู้หญิงตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งที่เชื่อมโยงจิตวิญญาณของเขาให้กลับมาสู่โลกความเป็นจริงอีกครั้งหนึ่ง"
อันที่จริงแล้วนั้น นอกจากปฏิกิริยาต่อต้านของเขาต่อ ปิต้า ครีซี่ไม่สามารถต้านทานเด็กน้อย ผู้ซึ่งเต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้สึกของชีวิตชีวา "เธออัดแน่นไปด้วยความสามารถ ความกระตือรือร้นและความรู้สึก - ทุกอย่างที่ครีซี่ต่อต้านและปฏิเสธกับตัวเอง" วอชิงตันเล่า
โทนี่ สก๊อตและผู้สร้าง ลูคัส ฟอสเตอร์ เลือก ดาโกต้า แฟนนิ่งมารับบท ปิต้าหลังจากที่พวกเขาได้เห็นผลงานของเธอที่แสดงร่วมกับ ฌอน เพนน์ จากภาพยนตร์เรื่อง I Am Sam การแสวงหาและความเชื่อมั่นในนักแสดงสาวน้อยนั้นได้รับผลดีเป็นอย่างมาก " ดาโกต้านั้นจัดว่าเป็นหนึ่งในบรรดานักแสดงเด็กที่มีพรสวรรค์ ที่ผมเคยร่วมงานด้วย แล้วเธอก็อายุแค่ 9 ขวบเท่านั้นเอง" ฟอสเตอร์กล่าว "เธอเป็นเหมือนดวงอาทิตย์ - เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังงาน" สก๊อตเสริม " ดาโกต้าเป็นเด็กที่เหลือเชื่อ - เธออายุ 9 ขวบที่เหมือนคนอายุ 19 เธอมีความสามารถในการเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ พวกเราได้เห็นเดนเซลเล่นสดและรุกเร้าในหลายฉากต่าง ๆ กัน เธอก็ยังสามารถแสดงต่อไปได้อย่างไม่ติดขัด"
แฟนนิ่งบรรยายความเป็นปิต้าว่าเป็นเด็กหญิงที่ "รักการมีชีวิตและรักการว่ายน้ำ" อันที่จริงแล้ว ในบุคคลิกที่เกี่ยวข้องกับความสามารถทางน้ำเป็นสิ่งสำคัญที่โยงเธอและครีซี่เข้าด้วยกัน เมื่อบอดี้การ์ดจอมเกรี้ยวกราดไม่เต็มใจที่จะยอมรับเป็นโค้ชว่ายน้ำให้กับเธอเพื่อจะได้เข้าแข่งขันว่ายน้ำ และในขณะที่วอชิงตันต้องฝึกที่จะเคลื่อนไหวและคิดอย่างบอดี้การ์ดภายใต้การแนะนำทางด้านเทคนิคจากนักบริหารผู้เชี่ยวชาญทางด้านการป้องกันคือ ดอน โรเช่ แฟนนิ่งก็ต้องใช้เวลาเป็นเดือน ๆ ในการฝึกว่ายน้ำ และภาษาสเปน (ปิต้า ผู้ซึ่งมีบิดาเป็นชาวเม็กซิกันและมารดาเป็นชาวอเมริกัน พูดได้สองภาษา) รวมทั้งฝึกเรียนเปียโนอีกด้วย เธอเองยังต้องใช้เวลาอย่างมากในช่วงที่ไม่ได้เข้าฉากเพื่ออยู่กับพ่อแม่ในภาพยนตร์คือ มาร์ค แอนโทนี่และ ราด้า มิทเชล เพื่อให้ได้ความใกล้ชิดเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน
ผู้ที่รวมครีซี่ ปิต้า และครอบครัวของเธอเข้าด้วยกันคือเรย์ เบิรน์ ผู้ซึ่งประสบความสำเร็จจากทางตอนใต้ของพรมแดน ในตอนแรก สก๊อตมีผู้ได้รับรางวัลตุ๊กตาทองคริสโตเฟอร์ วอลค์เกนอยู่ในใจว่าจะให้รับบททนายความขี้ฉ้ออย่าง จอร์แดน คัลฟัส (บทบาทที่แสดงโดยมิคกี้ เริร์ก) "แต่ผมบอกกับโทนี่ไปว่าผมเบื่อที่จะรับบทผู้ร้ายแล้ว" วอลค์เกนเล่าพร้อมกับหัวเราะ "ผมอยากรับบทเป็นเรย์ เบิร์นมากกว่า" สก๊อตเองก็ยินดีที่จะให้วอลค์เกนรับบทของเรย์ เบิร์น " คริสสามารถอ่านสมุดโทรศัพท์และทำให้มันฟังดูน่าสนใจและน่าสนุกได้ เขาได้ทำให้ความเป็นเรย์ เบิร์นมีสีสันมากยิ่งขึ้น" ราด้า มิทเชล เกิดในประเทศออสเตรเลีย เป็นผู้ที่รับบทแม่ของปิต้า ริซ่า รามอส ผู้ซึ่งเป็นภรรยายอดเยี่ยม ชาวอเมริกันของนักธุรกิจอุตสาหกรรมหนุ่ม บทของริซ่าคล้ายคลึงกับบทของครีซี่ที่จะต้องประสบกับความซับซ้อนและบางบุคคลิกที่คาดไม่ถึงซึ่งเป็นสิ่งที่มิทเชลสนุกกับการที่ทำให้มันมีชีวิตขึ้นมาได้ "ในตอนแรกลิซ่าอยู่ในจุดที่ค่อนข้างสับสน แต่พอเรื่องผ่านไปเธอก็ค่อนข้างกระจ่างว่าเธอต้องการอะไรกับชีวิตและอะไรที่เป็นสิ่งสำคัญสำหรับเธอ" มิทเชลเล่า "เธอรู้สึกแย่มากกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแต่เธอก็สามารถรวบรวมมันกลับมาในวิถีทางใหม่ได้" สามีของลิซ่า รามอส คือ แซมมวล เป็นสมาชิกของชาวเม็กซิกันชั้นสูงผู้มีความกลัวว่าจะสูญเสียชีวิตความเป็นอยู่ที่หรูหราและครอบครัวของเขาไปจากภาระหนี้สินที่หนักหน่วง - นี่เองทำให้เขาเลือกการกระทำสุดโต่งที่ทำให้ผลอันร้ายกาจเกิดขึ้นตามมา
"แซมมวลรู้สึกกดดันอย่างมากมาก เพราะเขาไม่มีเงินที่ครั้งหนึ่งเขาเคยมี และภรรยาของเขาก็เป็นนักใช้เงินตัวยง " มาร์ค แอนโทนี่ ผู้ซึ่งเป็นนักร้องนักแสดงชื่อดังและรับบทนี้เล่า "เขารักลูกสาวของเขาแต่ก็ไม่มีเวลาจะอยู่กับเธออย่างที่อยากทำมากนัก เพราะเขาต้องเดินทางไปทำธุรกิจอยู่บ่อย ๆ" แอนโทนี่ ผู้ผ่านการเล่นภาพยนตร์มาแล้วถึง 7 เรื่อง กล่าวว่าภาพยนตร์เรื่อง Man on Fire นี้เป็นบทบาทที่ท้าทายสำหรับเขาในปัจจุบัน "หลายครั้งผมยังรู้สึก สั่น ๆเมื่อต้องทำงานกับโทนี่ สก๊อตและ เดนเซล วอชิงตัน - พวกเขามีความสามารถพิเศษที่น่าสะพรึงกลัว" เขากล่าวนักแสดงที่มีชื่อเสียงชาวอิตาเลี่ยน จิอันคาร์โล จิอันนีนี่ พรรณาถึง แมนซาโน่ ผู้ซึ่งเขาเรียกว่า "ตำรวจใจซื่อที่อยู่ในแวดวงของพวกคอร์รัปชั่น" แมนซาโน่ใช้ครีซี่ - และครีซี่ก็ใช้เขา - เพื่อจะต่อสู้กับคลื่นกระแสการลักพาตัวในกรุงเม็กซิโกซิตี้ สก๊อตและเฮลเกแลนด์ได้สร้างตัวแสดงที่จะให้มีใครซักคนที่จะคอยช่วยเหลือครีซี่ในความทรหดของเขาเพื่อตามไล่ล่าพวกโจรลักพาตัว - คนที่จะป้อนขัอมูลที่เขาเจาะเข้าไม่ได้ และให้เขาทำในสิ่งที่มอนซาโน่ไม่สามารถทำได้: คือการตามหาและหยุดความชั่วร้ายของขบวนการลักพาตัว
บทบาทมอนซาโน่และอีกตัวแสดงหนึ่งคือบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ซึ่งรับบทโดย ราเชล ติโคติน ซึ่งเป็นตัวแทนของภาพลักษณ์ในด้านดีของเม็กซิโกและชี้ให้เห็นความแตกต่างอย่างโดดเด่นท่ามกลางโลกมืดของการลักพาตัว การโกงกินและอาชญากรรม "ภาพยนตร์เรื่อง Man on Fire บรรยายให้เห็นภาพ 2 อย่างของเม็กซิโก" ผู้อำนวยการสร้างฟอสเตอร์ ลูคัสกล่าว "ส่วนครึ่งหนึ่งก็ดาษดื่นไปด้วยการโกงกินและความยากจนและส่วนในอีกครึ่งหนึ่งประกอบไปด้วยผู้คนที่พยายามจะชำระอาชญากรรมออกไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งการลักพาตัว" การเป็นมาเรียน่าของราเชล ติโคตินนั้น ชี้ให้เห็นถึงความจริงเบื้องหลังการลักพาตัว โดยช่วยครีซี่นำทางไปหาบรรดาขบวนการลักพาตัวที่ซับซ้อน "เธอจับโน่นผสมนี่ทำให้เขาทำในสิ่งที่ไม่มีใครสามารถจะทำได้ " ติโคตินเล่า "ถึงมันจะเป็นสัมพันธภาพที่ประหลาด - เพราะเขาก็อาศัยซึ่งกันและกัน" "ครีซี่ไม่รู้เลยว่าใครอยู่เบื้องหลังการลักพาตัวของปิต้า" เดนเซล วอชิงตันกล่าว "เพราะฉะนั้นเขาจึงต้องพึ่งพามาเรียน่าและแมนซาโน่ เขาทั้งสองเข้าไม่ถึงผู้บงการแต่ครีซี่ทำได้เพราะเขาได้รับการฝึกฝนมาเป็นพิเศษและความจริงที่ว่าเขาไม่ต้องกังวลกับระบบการเมืองของเม็กซิกัน" การที่โทนี่ สก๊อต ได้ทำงานค้นคว้าอย่างหนักเกี่ยวกับเม็กซิโกและวงสังคมและแวดวงการเมืองที่ทำให้ประเทศนี้ได้รับการจัดอันดับให้เป็นที่สามของโลกในการลักพาตัว มันไม่เป็นที่น่าแปลกใจเลยว่าประเทศนี้และเมืองหลวงคือกรุงเม็กซิโกซิตี้จะเป็นฉากที่สำคัญในภาพยนตร์เรื่อง Man of Fire สก๊อตได้จับเอามลภาวะ การจราจร เสียงอึกทึกครึกโครมที่กระหน่ำใส่ชาวเมืองของกรุงเม็กซิโกซิตี้มาไว้ "ผมอยากให้เมืองเป็นส่วนสำคัญในหนัง" สก๊อตเล่า "มันมีประวัติสูงส่งและวัฒนธรรมที่ยาวนานและมันยังเต็มไปด้วยความขัดแย้งที่แสดงออกมาและสถาปัตยกรรมที่สวยงาม มันสวยงามมีชีวิตชีวาและในเวลาเดียวกันนั้นเองมันมีด้านมืดแล้วเต็มไปด้วยอันตราย" เพื่อจะจะให้ได้แง่คิด ความรู้สึกหวาดกลัวในที่แคบ และความรู้สึกที่เหมือนจริง ทีมงานเก็บภาพส่วนใหญ่ในกรุงเม็กซิโก ซิตี้ การถ่ายทำในเมืองที่เก่าแก่ที่สุด ใหญ่ที่สุดและการจราจรหนาแน่นที่สุดในอเมริกาเหนือนั้นเป็นงานที่ท้าทาย พาหนะมากกว่า 50 คัน เคลื่อนที่ไปมา ทีมงานเครื่องมือต้องรับมือกับถนนที่คับแคบและหนาแน่น ใช้เวลาหลายชั่วโมงเพื่อนำทางผ่านการจราจรที่วุ่นวาย นอกจากนี้ การกระทบกระแทกกันถือเป็นเรื่องประจำวัน และทีมงานต้องลุยผ่านระบบอันยุ่งเหยิงของกรุงเม็กซิโกซิตี้ ซึ่งแบ่งเป็นรัฐเล็ก ๆ ถึง 17 รัฐ และแต่ละรัฐ มีส่วนปกครองและเจ้าหน้าที่ของตนเอง"ถึงกระนั้นมันก็ยังคุ้มค่า" ฟอสเตอร์กล่าว "เพราะผู้ชมจะได้เห็นความเป็นเมืองเม็กซิโกร่วมสมัย ความรุนแรง สีแสงของไฟ และผู้คน"
"ความรุนแรง" อาจจะอธิบายได้ถึงการที่ โทนี่ สก๊อต และผู้กำกับภาพ พอล คาเมรอนในการใช้แสงใช้สีเพื่อนำเสนอในภาพยนตร์เพื่อให้สะท้อนอารมณ์และความคิดการพลิกผันในระหว่างและหลังจากการถูกลักพาตัวไป "ผมชอบที่จะทดลองกับหลายวิธีที่จะแสดงออกมาในภาพยนตร์ที่จะแสดงให้เห็นอารมณ์" สก๊อตผู้ซึ่งคล้ายคลึงกับคาเมรอน พยายามนำเสนอในสิ่งที่ไม่เป็นการทำหนังแบบเดิม ในโลกที่มักไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับเชิงการค้า "ฉากการถูกลักพาตัว เป็นจุดที่ดีในการที่เราพยายามจะชี้ให้เห็นในห้วงความคิดของครีซี่ผ่านทางเทคนิคภาพยนตร์"
ในการที่จะได้และทำให้เกิดความตื่นตกใจขึ้นในภาพ สก๊อตและคาเมรอน ใช้วิธีกวาดภาพในกล้องด้วยมือเพื่อทำให้ได้ภาพช้าลงและเร็วขึ้น (เป็นเทคนิคที่ใช้ย้อนกลับไปในยุคหนังเงียบ) ใช้ฟิลม์ด้านหลังทำให้สีสรรจัดจ้าน ก่อให้เกิดหลายชั้นโดยการพิมพ์ฉาก 3 ฉากของรูปภาพลงบนฟิลม์เพลทแผ่นเดียวกัน และใช้ กล้องพานาวิชั่น XL และกล้อง 16 มิลลิเมตร เพื่อให้ได้การยักย้ายภาพที่มากที่สุด
เพื่อเป็นการเพิ่มเติมความสะดุดตาในภาพของบางเหตุการณ์ให้มากขึ้น สก๊อตและคาเมรอนได้ใช้กล้องหลายตัวซึ่งเป็นงานท้าทายช่างภาพเป็นอย่างมาก "การใช้กล้องหลายตัวเก็บภาพนั้นเป็นเรื่องเสียสติ" คาเมรอนกล่าว "พวกเราต้องให้แสงทุกอย่างถูกต้องลงตัว ซึ่งมันเป็นเรื่องจริง แต่มีข้อได้เปรียบหลายอย่างในการใช้กล้องหลายตัว ก็คือคุณจะได้ผลการแสดงออกมาตรงกับที่มันเกิดขึ้นจริง"
เดนเซล วอชิงตันเองก็ได้รับผลดีภายใต้การกำกับการแสดงของ สก๊อตและความชอบในการใช้กล้องหลายตัวของเขา "ครับพวกเราเรียกเขาว่า คุณโทนี่ กล้อง 9 ตัว" เขาหยอก "ผมไม่รู้ ว่าเขาจะไล่เลียงไปทำไมกับกล้องทั้งหลายนี่ (อันที่จริงสก๊อตใช้กล้องเพียง 4 ตัวเท่านั้น) แต่มันก็เป็นสิ่งที่น่าทึ่ง เพราะเขาได้วาดสิ่งสวยงามให้เกิดขึ้นจากกล้องเหล่านั้น" วอชิงตันผู้ซึ่งเริ่มงานกำกับการแสดงภาพยนตร์เรื่องแรก เรื่อง Antwone Fisher ในปี 2002 กล่าวเสริม "มันเป็นบทเรียนที่ดีทีเดียวสำหรับผมในฐานะผู้กำกับมือใหม่"
อย่างไรก็ตามความน่าเกรงขามของภาพยนตร์เรื่อง A Man on Fire มาจากการสไตล์ตัดต่อ สก๊อตเร็วมากที่จะชี้ให้เห็นถึงเท็คนิคให้สอดคล้องจะทำให้เนื้อเรื่อง นักแสดงและอารมณ์ผสมรวมกันได้ "ภาพยนตร์เรื่องนี้เกี่ยวกับการเดินทางที่เปี่ยมด้วยความรู้สึก" สก๊อตกล่าว "มันเป็นเรื่องของการได้เกิดใหม่และโอกาสครั้งที่สองและการที่ผู้ชายคนหนึ่งจะสามารถไปไกลได้ขนาดไหนถ้าโอกาสและสิ่งเหล่านั้นถูกพรากไปจากเขา"
(ยังมีต่อ)
-นท-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ