สถานการณ์ราคาน้ำมันประจำสัปดาห์ ที่ 16 - 20 เม.ย. 55 และแนวโน้มในสัปดาห์นี้ ที่ 23 - 27 เม.ย. 55

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 23, 2012 14:12 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 เม.ย.--ปตท. ฝ่ายบริหารความเสี่ยงราคาและวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สรุปรายงานสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์ที่ผ่านมาว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เฉลี่ยปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อน 2.74 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล อยู่ที่ระดับ 115.55 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เฉลี่ยปรับตัวลดลง 2.69 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล อยู่ที่ 118.44 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล อย่างไรก็ตามน้ำมันดิบเวสเท็กซัส (WTI) เฉลี่ยปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.66 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรลอยู่ที่ 103.19 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยปรับตัวลดลง 2.02 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล อยู่ที่ 133.37 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล และน้ำมันดีเซลเฉลี่ยปรับตัวลดลง 1.57 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล อยู่ที่ 131.43 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล โดยมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคา ได้แก่ ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงลบ - สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (Energy Information Administration: EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 13 เม.ย. 55 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 3.90 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ระดับ 369 ล้านบาร์เรล - บริษัทน้ำมันแห่งชาติ (National Oil Corporation) ของลิเบียคาดการณ์ปริมาณส่งออกน้ำมันดิบของประเทศในเดือน พ.ค. 55 จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 40 ล้านบาร์เรล หรือประมาณ 1.29 ล้านบาร์เรลต่อวัน - JX Nippon Oil and Energy Corp. ปิดดำเนินการฉุกเฉินโรงกลั่นน้ำมัน Marifu (127,000 บาร์เรลต่อวัน) ที่ประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่วันที่ 19 เม.ย. 55 เนื่องจากกระแสไฟฟ้าขัดข้อง - กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯรายงานยอดขายบ้านมือสอง (Existing Home Sale) ในเดือน มี.ค. 55 ลดลงจากเดือนก่อน 0.11 ล้านหลัง มาอยู่ที่ 4.48 ล้านหลัง - กระทรวงพาณิชย์ของจีนเปิดเผยยอดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในเดือน มี.ค. 55 ลดลงจากปีก่อน 6.1% อยู่ที่ระดับ 1.17 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 - ธนาคารกลางของเกาหลีใต้ปรับลดอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจปี พ.ศ. 2555 จากเดิม 3.7% มาอยู่ที่ 3.5% เนื่องจากภาคการส่งออกชะลอตัว ปัจจัยที่ผลกระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงบวก - อิรักระงับการส่งออกน้ำมันดิบไปยังประเทศตุรกีเนื่องจากท่อขนส่งขัดข้องทางเทคนิค โดยปกติอิรักส่งออกน้ำมันดิบผ่านตุรกีประมาณ 450,00-500,000 บาร์เรลต่อวัน - National Bureau of Statistics ของจีนรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในเดือน มี.ค. 55 ลดลงจากปีก่อน 2.2% อยู่ที่ระดับ 4.16 ล้านบาร์เรลต่อวัน - Mangalore Refinery and Petrochemicals Ltd. (MRPL) ของอินเดียมีแผนปรับลดปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านลง 15% ภายในปีงบประมาณนี้ (เม.ย. 55 - มี.ค. 56) - กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในปีพ.ศ. 2555 จากเดิม 1.8% มาอยู่ที่ 2.1% - กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ รายงานยอดอนุมัติสร้างบ้านใหม่ (Housing Permits) ในเดือน มี.ค. 55 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 4.5% มาอยู่ที่ 747,000 หลัง - กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ รายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) ประจำเดือน มี.ค. 55 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.8% มากกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้ - The Office for National Statistics ของอังกฤษรายงานยอดขายปลีก (Retail Sale) ในเดือน มี.ค. 55 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.8% แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ ที่ 23-27 เม.ย. 55 ในระยะสั้นราคาน้ำมันดิบ Brent และ WTI มีแนวรับแนวต้านอยู่ที่ 115-122 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ 100-105 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลตามลำดับ ทั้งนี้ราคาน้ำมันมีความผันผวนปรับตัวขึ้นลงตามปัจจัยพื้นฐานและปัจจัยทางจิตวิทยา โดยกลุ่มสหภาพยุโรปมีแผนจะทบทวนมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านซึ่งห้ามกลุ่มประเทศสมาชิกนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านตั้งแต่เดือน ก.ค. 55 เนื่องจากมาตรการดังกล่าวกระทบต่อราคาน้ำมันในตลาดโลก และปัญหาในการหาอุปทานทดแทน ทั้งนี้การผ่อนคลายมาจากที่อิหร่านยินยอมเจรจาการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์กับกลุ่มประเทศ UN 5 + 1 โดยการเจรจาครั้งที่ 2 จะมีขึ้นที่กรุงแบกแดดในวันที่ 23 พ.ค. 55 อย่างไรก็ตามรัฐบาลญี่ปุ่นมีแผนปิดซ่อมบำรุงโรงงานนิวเคลียร์แห่งสุดท้ายที่เปิดใช้งานอยู่ขณะนี้ตังแต่วันที่ 5 พ.ค. 55 อีกทั้งรัฐบาลยังไม่มีแผนการเปิดดำเนินการโรงงานนิวเคลียร์ทั้งหมด 54 แห่ง ถึงแม้ว่าหลายที่จะเสร็จสิ้นการซ่อมบำรุงแล้วก็ตาม ส่งผลให้นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าญี่ปุ่นมีแนวโน้มนำเข้าน้ำมันดิบและน้ำมันเตาเพื่อใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ประกอบกับนักลงทุนคลายความวิตกกังวลต่อปัญหาหนี้สินของกลุ่มสหภาพยุโรป หลังข้อมูลทางเศรษฐกิจของเยอรมนีออกมาแข็งแกร่ง อาทิ ดัชนีชี้วัดภาคธุรกิจ (Business Sentiment) ในเดือน เม.ย. 55 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 109.9 จุด สูงสุดตั้งแต่เดือน ก.ค. 54 และดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ (Economic Sentiment) ในเดือน เม.ย. 55 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 23.4 จุด สูงสุดในรอบ 2 ปี อีกทั้งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเทศสเปนประสบความสำเร็จในการขายพันธบัตรรัฐบาล โดยมีผู้สนใจซื้อมากกว่าที่ประกาศขายถึง 2.5 เท่า บ่งชี้ว่าตลาดยังมีความมั่นใจต่อเสถียรภายในการรับมือหนี้สินของสเปน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ