แพทย์เตือนน้ำหนักตัวมาก พับเพียบ หรือนั่งยองๆ นาน เสี่ยงโรคข้อเสื่อม

ข่าวทั่วไป Thursday May 20, 2004 13:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 พ.ค.--พีอาร์ แอนด์ แอสโซซิเอท
จากสถิติพบว่า 1 ใน 4 ของคนอเมริกันที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป มักจะมีปัญหาเกี่ยวกับโรคข้อเสื่อม ในขณะที่เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นประมาณ 60-65 ปี จะเป็นโรคนี้เพิ่มมากขึ้นถึง 2 เท่า อาการโรคข้อเสื่อมของผู้สูงอายุในเอเชียมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน ทั้งในประเทศจีน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เกาหลี ไต้หวัน หรือแม้แต่ในประเทศไทยเอง อายุที่มากขึ้นเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดโรคข้อเสื่อมมากที่สุด แต่หากเป็นคนหนุ่มสาวที่มีน้ำหนักตัวมาก หรือชอบนั่งพับเพียบ หรือนั่งยอง ๆ นาน ๆ ก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะทำให้เป็นโรคข้อเสื่อมได้เร็วขึ้น
นายแพทย์ คริสโตเฟอร์ เหมา แพทย์ศัลยกรรมกระดูกจากคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา ผู้อำนวยการโครงการฝึกอบรมและแลกเปลี่ยนศัลยแพทย์กระดูกและข้อ ระหว่างมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด และแพทย์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่าอาการข้อเสื่อมเกิดได้กับข้อในทุกส่วนของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นไหล่ ข้อศอก ข้อมือ ข้อเท้า แต่ที่เป็นมากคือที่ข้อสะโพก และข้อเข่า
ในอเมริกานั้น ประมาณว่ามีผู้ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าถึง 350,000 รายต่อปี ในขณะที่การผ่าตัดเปลี่ยนข้อที่สะโพกกว่า 300,000 รายในปีที่ผ่านมา แนวโน้มการผ่าตัดรักษาโรคข้อเสื่อมในผู้สูงอายุมีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากปัจจุบันคนมีอายุเฉลี่ยยืนยาวขึ้น อยู่ที่ประมาณ 75 ปี และต้องการมีคุณภาพชีวิตที่ยืนยาวขึ้นตามไปด้วย แต่ในบางกรณี เช่น อุบัติเหตุ หรือการใช้ข้อไม่เหมาะสมในบางอิริยาบถก็ทำให้เสี่ยงต่อโรคข้อเสื่อมได้เช่นกัน
โรคข้อเสื่อมเกิดจากภาวะที่มีความผิดปกติในลักษณะการเสื่อมสภาพของผิวกระดูกอ่อนซึ่งทำหน้าที่ลดแรงกระแทกและเสียดสีภายในข้อ ตลอดจนมีการสูญเสียคุณสมบัติของน้ำหล่อเลี้ยงข้อ ทำให้เกิดการเสียดสีเวลาเคลื่อนไหว จนเกิดการสึกหรอของกระดูกอ่อน ทำให้กระดูกอ่อนในข้อบางลง การสึกหรอของกระดูกจะทำให้บริเวณที่สึกหรอมีลักษณะแข็ง ผิวไม่เรียบ มีผลให้ในระหว่างที่เคลื่อนไหวจะมีเสียงดังภายในข้อ และทำให้เกิดอาการเจ็บปวดได้ หากปล่อยปละละเลยไม่ได้รับการรักษาแต่เนิ่น ๆ และมีภาวะเสื่อมมากขึ้น จนผิวกระดูกอ่อนสึกหรอไปหมด จะทำให้รู้สึกเจ็บปวดทุกครั้งที่มีอาการเคลื่อนไหว
รศ.นพ. พงศ์ศักดิ์ ยุกตะนันทน์ ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวอธิบายในเรื่องการรักษาโรคข้อเสื่อมว่ามีหลายระดับ บางระดับอาจเพียงบริหารกล้ามเนื้อ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ข้อ การทานยาหรือการฉีดสารหล่อเลี้ยงข้อเทียม แต่หากเป็นมากและมีอาการเจ็บปวดทรมาน ลุกขึ้นนั่งหรือเดินไม่ได้ ก็จะควรจะเข้ารับการรักษาเพื่อยืดอายุการใช้ข้อต่อไป
เนื่องจากการผ่าตัดเพื่อรักษาข้อเสื่อมในปัจจุบันได้พัฒนาไปมาก และมีการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย จึงมีความปลอดภัย แม่นยำและเชื่อถือผลของการผ่าตัดได้ โดยการผ่าตัดนั้นจะผ่าตัดเอาข้อส่วนที่มีปัญหาออก และใส่ข้อเทียมเข้าไปแทน ข้อเทียมจะเป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่แทนข้อจริงที่มีปัญหาของผู้ป่วย เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีข้อที่ไม่ทำให้เกิดอาการเจ็บปวด มีความมั่นคง เหมาะที่จะใช้งาน และสามารถ เคลื่อนไหวเลียนแบบการเคลื่อนไหวของร่างกายตามธรรมชาติได้ โดยส่วนใหญ่แพทย์มักแนะนำให้ผู้ป่วยโรคข้อที่มีอาการมากผ่าตัดเมื่อมีอายุ 60 ปีขึ้นไป เนื่องจากข้อเทียมมีอายุการใช้งานโดยเฉลี่ยประมาณ 15-20 ปี โดยปัจจุบันผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมที่เข้ารับการผ่าตัดในเมืองไทยมีเพียง 5,000 รายต่อปีเท่านั้น
น.พ.พงศ์ศักดิ์ ยังกล่าวเสริมว่า ผู้หญิงมีแนวโน้มเป็นโรคข้อเสื่อมมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะในช่วงวัยสูงอายุ ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากน้ำหนักตัวที่เพิ่มมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของร่างกาย กล้ามเนื้อที่มีกำลังน้อยลง การขาดการออกกำลังกาย และพฤติกรรมการทำงานบ้านในท่าทางที่มีการใช้ข้อมากๆ เช่น การนั่งพับเพียบ นั่งยองๆ การป้องกันโรคข้อเสื่อมในวัยสูงอายุ ทำได้ด้วยการออกกำลังกายอยู่เสมอ ควบคุมน้ำหนัก รับประทานอาหารให้เหมาะสม หลีกเลี่ยงการใช้ข้อในท่าทางที่ไม่เหมาะสม และปรึกษาแพทย์เมื่อเริ่มมีปัญหาในข้อตั้งแต่เนิ่นๆ
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
ศจิษฐา จงวัฒนา
พีอาร์ แอนด์ แอสโซซิเอท
โทรศัพท์ 0-2651-8989 ต่อ 331 โทรสาร 0-2651-9649-50--จบ--
-นห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ