กรุงเทพฯ--24 เม.ย.--ไอแอมพีอาร์
“ผมมีลูก...ลูกผมก็อายุไล่เลี่ยกับนักโทษกลุ่มนี้ ผมจึงมองเห็นพวกเขาเป็นเพียงเด็กคนหนึ่ง ไม่ว่าเขาจะเคยเดินหลงทางและทำผิดในเรื่องใดจึงไม่ใช่สาระสำคัญที่จะนำมาใส่ใจ ขอเพียงเมื่อเขาตัดสินใจเดินเข้าสู่แดนการศึกษาแห่งนี้ ขอให้เขาใช้สภาพความเป็นเด็กเปิดรับสิ่งดีๆ และกอบโกยผลประโยชน์ด้านการศึกษาจากผมและครูทุกคนในทัณฑสถานแห่งนี้ไปให้ได้มากที่สุด”
ความในใจดังกล่าวของ ครูรังสรรค์ ธรรมวัฒนา เปรียบได้กับแสงแห่งความหวังในดินแดนหลังม่านเหล็ก ซึ่งฉายนำทางให้นักโทษชายนับพันคนที่ถูกคุมขัง ได้กลับมีความหวังและเป้าหมายในชีวิตอีกครั้ง โดยใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาความรู้และกล่อมเกลาจิตใจให้เป็นคนดีที่พร้อมจะกลับคืนสู่สังคมเมื่อถึงเวลา
ครูรังสรรค์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายการศึกษาและพัฒนาจิตใจ ส่วนพัฒนาผู้ต้องขัง ทัณฑสถานวัยหนุ่มกลาง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี อีกทั้งยังเป็นว่าที่ครูสอนดีที่ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับ “ทุนครูสอนดี” ตามโครงการ “สังคมไทยร่วมกันคืนครูดีให้ศิษย์ เชิดชู ยกย่อง ครูสอนดี ” หรือ “ครูสอนดี” ที่ขับเคลื่อนโดย สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) อีกด้วย
ครูรังสรรค์ อธิบายว่า การจัดการหลักสูตรการศึกษาเป็นนโยบายของกรมราชทัณฑ์ที่ต้องการส่งเสริมการศึกษาให้แก่ผู้ต้องขังในทุกเรือนจำ ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐานในระดับประถมศึกษา ไปจนถึงระดับอุดมศึกษา แม้จะมีการส่งเสริมด้านการศึกษามาช้านาน แต่จากประสบการณ์การเป็น ครูนอกระบบ มากว่า 30 ปี การจัดการศึกษาที่เหมาะสมกับผู้ต้องขังในทัณฑสถานวัยหนุ่มกลาง ซึ่งส่วนใหญ่ยังอยู่ในวัยเรียน ควรเป็นวิชาที่จะช่วยพัฒนาความคิด ทักษะและประสบการณ์ ตอบรับความต้องการของตลาดแรงงาน ไม่ใช่ฝึกให้เป็นแรงงานรับจ้างที่ต้องก้มหน้ารับค่าแรงอันน้อยนิด
“กระบวนการจัดการเรียนการสอนของทัณฑสถานวัยหนุ่มกลาง เริ่มดำเนินการอย่างจริงจังเมื่อปี 2547 โดยมีการจัดหลักสูตรให้ตรงความต้องการของผู้เรียนเป็นหลัก ด้วยการจัดทำแบบสำรวจความคิดเห็น เมื่อจัดทำหลักสูตรแล้ว ก็จัดตั้งทีมเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้คุมในเรือนจำ ให้มารับบทบาทเป็นครูสอนในวิชาที่ถนัด และประสานเครือข่ายสถาบันการศึกษาภายนอกให้มาช่วยสอนวิชาเฉพาะทาง แล้วยังต้องศึกษาเอกสารคำสั่งราชการและพรบ.การศึกษา เพื่อเปิดทางให้นักเรียนได้มีสิทธิในการเรียนรู้เทียบเท่าคนอื่นๆ ในสังคม และสุดท้ายจะต้องไม่ลืมจัดสถานที่ เครื่องมือและอุปกรณ์ที่จะใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนอย่างเหมาะสม เพื่อให้กระบวนการเรียนการสอนดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด” ครูรังสรรค์กล่าว
ปัจจุบัน ทัณฑสถานวัยหนุ่มกลาง มีการจัดหลักสูตรอาชีวะศึกษาที่โดดเด่นแตกต่างจากเรือนจำอื่นๆ ถึง 3 หลักสูตร ได้แก่ สารสนเทศคอมพิวเตอร์ ช่างยนต์ และช่างก่อสร้าง โดยได้รับความช่วยเหลือจาก วิทยาลัยเทคนิคธัญบุรี และวิทยาลัยเทคโนโลยีปทุมธานี ในการจัดครูผู้สอนในวิชาเฉพาะทาง อาทิ งานปูน งานไม้ งานเชื่อม งานเครื่องยนต์ ฯลฯ มาสอนนักเรียนจนจบหลักสูตร พร้อมสนับสนุนเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการเรียนให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
นายประสาท แก้วเหลา ผู้อำนวยการส่วนพัฒนาผู้ต้องขัง ทัณฑสถานวัยหนุ่มกลาง กล่าวว่า ผู้ที่ประสงค์จะเรียนหนังสือ ขอเพียงมีหลักฐาน 3 อย่าง ได้แก่ บัตรประจำประชาชน ทะเบียนบ้าน และวุฒิการศึกษาล่าสุด หลังจากนั้นจะมีการสอบวัดระดับความรู้เพื่อคัดเลือกให้ได้เรียนในสาขาวิชาที่เหมาะสมกับระดับความสามารถ
“ผู้ที่ต้องการเรียนต่อจะต้องยอมรับว่าตนเองมีความสามารถในระดับใด และเมื่อได้รับคัดเลือกเข้ามาเรียนในแดน 4 หรือแดนการศึกษาแล้วจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของแดนอย่างเคร่งครัด หากมีการทำผิดกฎเช่น เล่นการพนัน ทะเลาะวิวาท หรือเสพยาเสพติด จะถูกพักการเรียน 2 เทอม และย้ายไปแดนอื่นทันที ซึ่งในปัจจุบันทัณฑสถานวัยหนุ่มกลางแบ่งออกเป็น 7 แดน มีผู้ต้องขังประมาณ 6,800 คน มีนักเรียนอยู่ในแดนการศึกษาประมาณ 640 คน ซึ่งผู้ปกครองล้วนมีความสุขที่ลูกๆ ได้กลับมาสู่ห้องเรียนอีกครั้ง แม้จะเป็นห้องเรียนหลังลูกกรง แต่ทุกคนยืนยันว่าจะเป็นความภาคภูมิใจที่สุดในชีวิตหากลูกเรียนจบ” ผอ.ส่วนพัฒนาผู้ต้องขังกล่าว
การศึกษานอกจากจะเป็นเครื่องมือที่จะช่วยพัฒนาคนให้เกิดทักษะความรู้ ยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่ครูจะใช้สอนนักเรียนให้รู้จักแยกถูกผิด ซึ่งครูจำเป็นต้องประพฤติปฏิบัติตัวเป็นแบบที่ดี นักเรียนจึงจะเกิดความศรัทธาและเชื่อถือ ยอมรับฟังในคำชี้แนะที่ครูต้องการสั่งสอน ดังเช่น วิธีการของ “อุดม สุขทอง” นักวิชาการอบรมและฝึกวิชาชีพชำนาญการ ที่ยอมละทิ้งตำแหน่งงานระดับสูง เพื่อมาเป็น ครูในเรือนจำ และหวังเพียงให้ลูกศิษย์ได้ประกอบอาชีพสุจริตหลังพ้นโทษ
“การที่ตัดสินใจเข้าร่วมทีมครูในแดนการศึกษาเพราะคิดว่า หากละทิ้งคนที่มีความตั้งใจจะเรียนต่อในที่แห่งนี้ไป แล้วเขาจะได้รับโอกาสในการพัฒนาตนเองอย่างไร อีกทั้งลูกศิษย์กลุ่มนี้แม้จะหลุดออกจากกรอบสังคมมาแล้ว แต่ในวันหนึ่งเขาก็ต้องกลับเข้าสังคม ไปใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นๆ ดังนั้นถ้าผมพัฒนาเขาให้เป็นคนดี ออกไปแล้วมีงานสุจริตทำ ไม่กลับเข้ามาในเรือนจำอีก ผมก็ภาคภูมิใจแล้ว ซึ่งในชั่วโมงการสอนผมจะใช้การแนะแนวมากกว่าแนะนำ รับฟังในสิ่งที่เขาคิด และไม่แสดงท่าทีที่ทำให้เขารู้สึกถูกแบ่งแยกหรือไม่เท่าเทียม เมื่อเขาเปิดใจรับและศรัทธาในตัวเราแล้ว ก็เป็นเรื่องง่ายที่จะป้อนสิ่งดีๆ ให้เขา” ครูอุดมเล่า
ทางด้าน นายต๊อบ ผู้ต้องขังวัย 24 ปี นักเรียนในระดับประถมศึกษา เล่าถึงการตัดสินใจกลับมาเรียนต่อว่า ช่วงที่ต้องนั่งทำงานอยู่ในแดนอื่น เกิดความคิดว่าหากปล่อยเวลาให้หมดไปวันๆ ก็จะไม่เกิดประโยชน์กับตัวเอง อีกทั้งหากพ้นโทษออกไปก็คงไม่มีโอกาสได้เรียน เพราะจะต้องช่วยครอบครัวทำงานรับจ้าง นี่จึงเป็นโอกาสดีที่จะพัฒนาตัวเองด้วยการเรียนเสริมความรู้
“นอกจากจะได้เรียนวิชาพื้นฐานแล้ว ครูยังเปิดโอกาสให้ทำกิจกรรมที่ชอบ อย่างการเล่นกีฬา เล่นดนตรี ฝึกทำงานฝีมือ ซึ่งครูทุกคนที่นี่มักจะเล่าประสบการณ์และสั่งสอนเรื่องดีๆ ให้ผมรู้จักแยกถูกผิด และครูจะสอนพวกเราอย่างเป็นกันเองไม่ถือตัว โดยผู้คุมที่อยู่ในแดนการศึกษาจะสวมเสื้อสีม่วง ทำให้ผมรู้สึกว่าที่นี่คือโรงเรียนกินนอนที่มีครูคอยดูแล ไม่ใช่ห้องขังกักกันเหมือนแดนอื่นๆ” นายต๊อบอธิบาย
นับตั้งแต่ปี 2547 ที่ทัณฑสถานวัยหนุ่มกลาง มีการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบโดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ได้มีนักเรียนที่พ้นโทษและออกไปประกอบอาชีพสุจริตแล้วเป็นจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจสูงสุดของผู้ที่เป็นครู แม้จะเป็นครูที่ใช้ม่านเหล็กเป็นฉากหน้าของห้องเรียนก็ตาม
“ผมจะบอกเด็กทุกคนเสมอว่า เมื่อจำเป็นต้องเข้ามาอยู่ในที่แห่งนี้ ไม่มีอะไรดีเท่ากับการใช้เวลาที่มีไปกับการพัฒนาตนเอง เมื่อถึงวันที่ได้รับอิสรภาพก็จะสามารถกลับเข้าสู่สังคมได้ง่าย แต่การเรียนที่นี่ไม่จำเป็นต้องใช้เงินแม้แต่บาทเดียว ขอเพียงมีความตั้งใจ ใฝ่ดีและมีคุณธรรมก็เพียงพอแล้ว” ครูรังสรรค์กล่าวสรุป.