กรุงเทพฯ--24 เม.ย.--คาร์ล บายร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์
อินเทล คอร์ โปรเซสเซอร์ เจนเนอเรชั่น 3 เปิดประสบการณ์ใหม่อันน่าตื่นเต้นสู่พีซีกับควอด คอร์ โปรเซสเซอร์ 22 นาโนเมตรรุ่นแรกของโลก เพิ่มประสิทธิภาพการแสดงภาพสองเท่า พร้อมประสบการณ์การใช้งานเหนือชั้น
ประเด็นข่าว
- เปิดตัววันนี้กับควอด คอร์ โปรเซสเซอร์ สำหรับเดสก์ท็อปและแล็ปท็อปทรงพลัง และในเครื่องแบบออล-อิน-วัน ที่มีรูปลักษณ์สวยหรูและบางเฉียบ
- แซงโมเดล ‘Tick-Tock’ ได้เป็นครั้งแรก ด้วยการพัฒนาโปรเซสเซอร์ที่ ใช้เทคโนโลยีการผลิตขนาด 22 นาโนเมตรรุ่นแรกของโลก ที่นำนวัตกรรมอันล้ำสมัยจากทรานซิสเตอร์ 3 มิติ แบบTri-Gate พร้อมสถาปัตยกรรมกราฟิกใหม่มานำเสนอ
- เพิ่มประสิทธิภาพเพื่อรองรับระบบไฮเดฟินิชั่นและกราฟิกแบบ 3 มิติ รวมถึงการทำงานหลักของโปรเซสเซอร์มากถึงสองเท่าตัว เพื่อมอบประสบการณ์ในการชมภาพที่น่าตื่นตาตื่นใจตั้งแต่เล่นเกมไปจนถึงดูวิดีโอด้วยระบบไฮเดฟินิชั่น
- อัลตร้าบุ๊ก แบบต่างๆ แพลตฟอร์มแบบออล-อิน-วัน พีซีสำหรับธุรกิจ รวมถึงระบบอัจฉริยะต่างๆ ในร้านค้าปลีก สถานพยาบาล ตลอดจนอุตสาหกรรมอื่นๆ จะได้รับประโยชน์จากโปรเซสเซอร์รุ่นใหม่ล่าสุดของอินเทล โดยการแถลงข่าวเปิดตัวอย่างเป็นทางการจะมีขึ้นในเร็วๆ นี้
วันนี้ อินเทล คอร์ปอเรชั่น เปิดตัวชิป อินเทล คอร์ โปรเซสเซอร์ เจนเนอเรชั่น 3 ตระกูลควอดคอร์ ที่ช่วยเปิดโลกทัศน์ประสบการณ์ในการรับชมภาพอันน่าทึ่ง และเพิ่มประสิทธิภาพในการประมวลผลสำหรับคอเกม ผู้ที่ทำงานด้านสื่อ และผู้ใช้งานทั่วไป โปรเซสเซอร์รุ่นใหม่นี้เป็นชิปรุ่นแรกของโลกที่นำเทคโนโลยีทรานซิสเตอร์ 3 มิติ แบบTri-Gate ซึ่งใช้กระบวนการผลิตแบบ 22 นาโนเมตรมาใช้ และพร้อมวางจำหน่ายในเดสก์ท็อปและแล็ปท็อประดับไฮเอนด์แบบออล-อิน-วัน ภายใต้รูปลักษณ์ที่สวยหรู และบางเฉียบแล้ว
โปรเซสเซอร์รุ่นใหม่นี้เกิดขึ้นจากการผสานที่สุดของเทคโนโลยีทรานซิสเตอร์ 3 มิติ แบบ Tri-Gate ของอินเทลอันล้ำสมัยกับอีกขั้นของการพัฒนาสถาปัตยกรรม ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรองรับกราฟิกแบบ 3 มิติ และมีเดียในระบบไฮเดฟินิชั่นได้มากถึงสองเท่า เมื่อเทียบกับชิปเจนเนอเรชั่นอื่นของ อินเทลที่ผ่านมา ผลที่ได้คือประสบการณ์ในการรับชมภาพอันเหนือชั้น เพื่อรองรับการทำงานต่างๆ ที่ต้องการใช้บนพีซี ตั้งแต่การสร้างและตัดต่อวิดีโอและภาพ การเล่นอินเทอร์เน็ต การชมภาพยนตร์คุณภาพระดับไฮเดฟฟินิชั่น หรือเล่นเกมส์ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว คมชัดและเสมือนจริงมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้โปรเซสเซอร์รุ่นใหม่ยังตอกย้ำความเป็นผู้นำของอินเทลในด้านประสิทธิภาพ โดยสามารถพัฒนาการประมวลของไมโครโปรเซสเซอร์มากถึงร้อยละ 20 ไปพร้อมๆ กับเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเร่งความเร็วในการถ่ายโอนข้อมูลจากชิป
ไม่กี่เดือนหลังจากนี้ อินเทลเตรียมแผนเปิดตัว อินเทล คอร์ โปรเซสเซอร์ เจนเนอเรชั่น 3 เพิ่มเติมสำหรับการคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ๆ ตั้งแต่อุปกรณ์อัลตร้าบุ๊ก เซิร์ฟเวอร์ และระบบอัจฉริยะแห่งการประมวลผลสำหรับร้านค้าปลีก สถานพยาบาล และอุตสาหกรรมอื่นๆ อีกด้วย
“อินเทล คอร์ โปรเซสเซอร์ เจนเนอเรชั่น 3 ได้รับการคิดค้นขึ้นเพื่อสร้างประสบการณ์อันน่าตื่นเต้น โดยวิศวกรของอินเทลได้ทำงานเกินกว่าที่เราคาดหมาย โดยเขาสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานสำหรับมีเดียและกราฟิกได้มากขึ้นเป็นสองเท่าให้แก่โปรเซสเซอร์ที่ดีที่สุดที่เราเคยมีมา ซึ่งหมายความว่าประสบการณ์ในการรับชมภาพอันเหนือชั้นได้มาถึงแล้วสำหรับ ออล-อิน-วัน พีซี และอัลตร้าบุ๊กชนิดต่างๆ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้จากการผสานความเป็นผู้นำของอินเทลในกระบวนการผลิตและสถาปัตยกรรมโปรเซสเซอร์ กับความมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ของอินเทลในการผลักดันนวัตกรรมการประมวลผลให้ล้ำหน้าไปอีกขั้น” เอกรัศมิ์ อวยสินประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว
“Tick-Plus” ข้อได้เปรียบของอินเทล
ประสิทธิภาพที่ได้จากโปรเซสเซอร์รุ่นใหม่นี้ เกิดขึ้นจากโครงสร้าง 3 มิติอันล้ำสมัยจากอินเทล ทรานซิสเตอร์ ซึ่งปัจจุบันนี้คอมพิวเตอร์ เซิร์ฟเวอร์ และอุปกรณ์อื่นใช้ทรานซิสเตอร์ 2 มิติแบบเก่าเท่านั้น ดังนั้นการผนวกมิติที่ 3 ให้กับทรานซิสเตอร์จึงช่วยเพิ่มความหนาแน่นของทรานซิสเตอร์ และเพิ่มความสามารถที่จะเข้าไปเพิ่มเติมอยู่ในทุกๆ ตารางมิลลิเมตรของโปรเซสเซอร์รุ่นนี้ ทรานซิสเตอร์รุ่นใหม่ที่อินเทลได้รังสรรค์ขึ้นนี้เป็นการผสมผสานกันอย่างลงตัวของประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นและอัตราการใช้พลังงานที่ลดลง ซึ่งนับเป็นการสร้างความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้อย่างยั่งยืนและพิสูจน์ว่ากฎของมัวร์ยังคงเป็นจริงต่อไปในปีต่อ ๆ ไปที่กำลังจะมาถึง
วิศวกรของอินเทลได้ปรับรูปแบบสถาปัตยกรรมของชิป อินเทล คอร์ โปรเซสเซอร์ เจนเนอเรชั่น 3 เพื่อพัฒนาประสบการณ์ในการรับชมภาพทั้งหมด การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของชิปในขณะที่ลดขนาดของทรานซิสเตอร์ลงแสดงถึงการเร่งกฎแห่งเวลาของโมเดล “ทิค-ทอค” (tick-tock model) ที่ผ่านมาอินเทลให้ความสำคัญกับการยึดตามเงื่อนไขเวลาตามรูปแบบ “ทิค-ทอค” ซึ่ง “ทิค” หมายถึงปีที่จะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในกระบวนการผลิตชิป ในขณะที่ “ทอค” หมายถึงปีที่อินเทลจะพัฒนาสถาปัตยกรรมของชิป แต่ครั้งนี้ อินเทลสามารถเร่งแผนพัฒนาและปรับเปลี่ยนสถาปัตยกรรมของชิป ที่เกิดขึ้นพร้อมกับกระบวนการผลิตให้เกิดขึ้นภายในปีเดียวกันได้ เนื่องจากอินเทลเป็นหนึ่งในไม่กี่บริษัทที่นำการผลิตแบบครบวงจร หรือ Integrated Device Manufacturing มาใช้ในในการออกแบบและผลิตชิป
ประสบการณ์ชมภาพและเล่นเกมส์อันสุดล้ำ
อินเทล คอร์ โปรเซสเซอร์ เจนเนอเรชั่น 3 มาพร้อมกับ Intel HD Graphics 4000 ที่เสริมประสิทธิภาพในการรับชมกราฟิกแบบ 3 มิติได้ดียิ่งขึ้นถึงสองเท่าเมื่อเทียบกับโปรเซสเซอร์เจนเนอเรชั่นเดิม โดยผู้ใช้จะเพลิดเพลินไปกับการเล่นเกมมากกว่าเดิมด้วยรายละเอียดความคมชัดที่สูงขึ้น โดย Intel HD Graphics 4000 สนับสนุนระบบปฏิบัติการของ Microsoft* DirectX 11, OpenGL 3.1 และ OpenCL 1.1
“ประสิทธิภาพของกราฟิกแบบ 3 มิติ ในชิป อินเทล คอร์ โปรเซสเซอร์ เจนเนอเรชั่น 3 บ่งบอกถึงความก้าวหน้าครั้งสำคัญสำหรับการเล่นเกมคอมพิวเตอร์ คอเกมจะมันอย่างสุด ๆ ไปกับเกม DOTA 2 ที่กำลังจะเปิดตัวบน Intel HD Graphics 4000 อย่างแน่นอน” เกบ นิวเวล ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการของ Valve Software ผู้นำด้านการให้บริการเกมส์ออนไลน์ กล่าว
ประสบการณ์ในการรับชมภาพที่ดีนั้นไม่ได้หมายถึงการเล่นเกมเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ปัจจุบันวิดีโอออนไลน์ถูกอัพโหลดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นจำนวนมาก และคาดการณ์ว่าจะมากถึงครึ่งหนึ่งของปริมาณข้อมูลที่อยู่บนอินเทอร์เน็ตทั้งหมดของปีนี้** สิ่งสำคัญที่ทำให้วิดีโอสนุกคือความสามารถในการแปลงไฟล์เพื่อแชร์บนช่องทางออนไลน์กับเพื่อนฝูงและครอบครัวได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเทคโนโลยี Intel Quick Sync Video 2.0 ที่ฝังอยู่ในโปรเซสเซอร์รุ่นใหม่นี้ ผู้ใช้งานสามารถแปลงไฟล์วิดีโอได้เร็วขึ้นเป็นสองเท่าตัวเมื่อเทียบกับโปรเซสเซอร์ตัวเดิมในปีที่ผ่านมา และเร็วกว่าพีซีธรรมดาที่มีอายุการใช้งานเพียง 3 ปีถึง 23 เท่า
ประสบการณ์ที่อัดแน่นด้วยความปลอดภัย พร้อมแพลตฟอร์มอันล้ำหน้า
โปรเซสเซอร์ อินเทล คอร์ เจนเนอเรชั่น 3 ยังมาพร้อมกับคุณสมบัติด้านความปลอดภัย Intel Secure Key and Intel OS Guard ที่ทำหน้าที่ปกป้องข้อมูลและอัตลักษณ์ส่วนบุคคล Intel Secure Key ประกอบด้วยเจนเนอเรเตอร์แบบดิจิตอลแบบสุ่มหมายเลขที่สร้างตัวเลขแบบสุ่มอย่างแท้จริงที่ส่งผลให้กระบวนการเปลี่ยนข้อความเป็นรหัสมีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น Intel OS Guard ช่วยป้องกันการแฮ็คข้อมูลในระดับสูงที่แฮ็คเกอร์ลักลอบเข้าระบบข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นจากคอมพิวเตอร์อีกเครื่องหนึ่ง คุณสมบัติทั้ง 2 อย่างนี้ได้นำมาผนวกเข้ากับแพลตฟอร์มด้านความปลอดภัยที่มีอยู่แล้วทั้ง Intel Identity Protection Technology (Intel IPT) และ Intel Anti-Theft technology (Intel AT) ที่รวมประสิทธิภาพแพลตฟอร์มของอินเทลที่ให้ความปลอดภัยสูงสุดในอุตสาหกรรม ชิปใหม่ที่มี IPT นี้เมื่อนำมารวมกับชิปเซ็ตของ อินเทลTM ซีรี่ส์ 7 จะให้คุณสมบัติที่ “ป้องกันการแสดงผลข้อมูลทางธุรกรรม” ที่สปายแวร์จะไม่สามารถอ่านข้อมูลบางส่วนบนหน้าจอได้ และแฮ็คเกอร์จะไม่สามารถเห็นถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับการเข้าระบบเพื่อไปกระทำการขโมยอัตลักษณ์ส่วนบุคคลได้
แพลตฟอร์มที่ใช้โปรเซสเซอร์ อินเทล คอร์ เจนเนอเรชั่น 3 ยังช่วยหนุนการส่งผ่านข้อมูลได้เร็วยิ่งขึ้นด้วย USB 3.0 ที่รวมอยู่ใน Platform Controller Hub (PCH) ของซีรี่ส์ 7 และ PCI Express 3.0 ในตัวโปรเซสเซอร์ เทคโนโลยีการรับส่งข้อมูลเข้าและออกในเจนเนอเรชั่นถัดไปจะมาพร้อมกับช่องทางลำเลียงข้อมูลขนาดใหญ่ขึ้นไปยังแพลตฟอร์มเพื่อให้ข้อมูลไหลผ่านไปได้อย่างต่อเนื่อง และผู้ใช้ได้สัมผัสประสบการณ์พีซีอย่างไม่ติดขัด
โปรเซสเซอร์และประสิทธิภาพของระบบ
ผลิตภัณฑ์ที่ใช้โปรเซสเซอร์ อินเทล คอร์ เจนเนอเรชั่น 3 จะเริ่มออกสู่ตลาดในวันที่ 29 เมษายนนี้ผ่านร้านค้าปลีกและร้านตัวแทนจำหน่ายของทั้ง Ingram Micro, Synnex และ WPG ส่วนโปรเซสเซอร์ อินเทล คอร์ เจนเนอเรชั่น 3 สำหรับเซิร์ฟเวอร์ ระบบอัจฉริยะในร้านค้าปลีก สถานพยาบาล และสำหรับอุตสาหกรรมอื่นๆ รวมทั้งในอัลตร้าบุ๊กและโน้ตบุ๊กที่จะมีออกหลังจากนี้
เกี่ยวกับอินเทล
อินเทล (NASDAQ:INTC) เป็นผู้นำระดับโลกในด้านนวัตกรรมซิลิกอน สร้างสรรค์เทคโนโลยี สินค้า รวมทั้งการริเริ่มต่างๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและการทำงานของผู้คนอย่างต่อเนื่อง ท่านสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับอินเทลได้ที่ newsroom.intel.com และ blogs.intel.com.