กรุงเทพฯ--24 เม.ย.--Hill+Knowlton Strategies
- วิศวกรของฟอร์ดใช้เวลาหลายปีในการแต่งเสียงเตือนที่เหมาะสมสำหรับเทคโนโลยีใหม่ๆ อาทิ เสียงเตือนจากเรดาร์ที่ใช้ในระบบช่วยหลีกเลี่ยงการชน เพื่อช่วยให้ผู้ขับขี่ตอบสนองได้อย่างเหมาะสมต่ออันตรายที่อาจเกิดขึ้น
- ผลวิจัยของฟอร์ดชี้ให้เห็นว่า เสียงแต่ละประเภทเหมาะสำหรับการเตือนผู้ขับขี่ในบางสถานการณ์เท่านั้น ขณะที่ความถี่และจังหวะของเสียงนับว่ามีบทบาทสำคัญต่อการตอบสนองของผู้ขับขี่เช่นกัน
- ฟอร์ดเลือกทดสอบเสียงที่น่าสนใจมากมาย อาทิ เสียงลูกกอล์ฟกลิ้งในแก้วน้ำ เสียงจากธรรมชาติ อย่างเช่นเสียงนกร้องและเสียงจิ้งหรีด รวมทั้งเสียงแนววัยรุ่น อย่างเช่นการสแครชแผ่นเสียง ซึ่งผลปรากฏว่าเสียงหลายประเภทไม่ผ่านการคัดเลือกเพื่อนำมาใช้งานจริง
ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ฟอร์ด โฟกัส ใหม่ จะใช้แสง สี และเสียงที่เหมาะสม เพื่อเตือนผู้ขับขี่ในสถานการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเตือนให้ผู้โดยสารคาดเข็มขัดนิรภัย ไปจนถึงการเตือนผู้ขับขี่เมื่อมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ
ทีมวิศวกรของฟอร์ดต้องใช้จินตนาการอย่างมากในการคิดถึงเสียงต่างๆ ที่น่าจะนำมาใช้ภายในรถ และทดสอบการใช้เสียงเหล่านั้นอีกหลายครั้งเพื่อพิสูจน์ว่า เสียงเตือนแบบใดช่วยให้ผู้ขับขี่เกิดการตอบสนองได้อย่างเหมาะสมที่สุดในสถานการณ์ฉุกเฉิน และยังทำงานสอดคล้องกับเสียงอื่นๆ ภายในรถได้อย่างกลมกลืน โดยกระบวนการทดสอบเสียงต่างๆ ประกอบด้วยขั้นตอนการทำงานมากมาย อาทิ การนำทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ที่มีความซับซ้อนมาใช้ การทดสอบเสียงในห้องทดสอบการฟัง และการจำลองสภาพการขับขี่จริง ทั้งนี้ เพื่อตัดตัวเลือกที่ไม่เหมาะสมออกไป และเลือกใช้เสียงเพียงบางส่วนที่ผ่านการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพสูงสุด
“วิศวกรของฟอร์ดทุ่มเทเวลามากมายเพื่อเลือกเฟ้นเสียงที่เหมาะสมที่สุดสำหรับแต่ละสถานการณ์ เพื่อช่วยให้ผู้ขับขี่ตอบสนองได้อย่างทันท่วงทีต่ออันตรายที่อาจเกิดขึ้น” มร. พอล แมสคาเรนาส รองประธานด้านวิศวกรรม ประจำฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ระดับโลกของฟอร์ด กล่าว “เรารับฟังความคิดเห็นของผู้บริโภคเพราะเราอยากให้พวกเขาฟังเสียงเตือนจากรถในยามจำเป็น เราไม่อยากให้ผู้ขับขี่รู้สึกรำคาญ และปิดเสียงเตือนที่มีความสำคัญต่อการขับขี่”
ประพันธ์เสียงเพลงเพื่อความปลอดภัย
ในการพัฒนาเสียงเตือนสำหรับอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย ฟอร์ดได้ผสานทฤษฎีทางดนตรีเข้ากับการวิเคราะห์ตัวเลขและหลักการด้านจิตสวนศาสตร์ ซึ่งเป็นการศึกษาเกี่ยวกับประสาทสัมผัสการได้ยินของมนุษย์ เพื่อใช้วิจัยเสียงที่ให้ความรู้สึกรื่นรมย์ มีระดับความดัง และความทุ้มแหลมในระดับที่พอเหมาะ เช่นเดียวกับที่นักแต่งเพลงต้องเลือกเสียงประเภทต่างๆ มาผสมผสานกันเพื่อทำให้เกิดอารมณ์เพลง ทีมด้านเทคนิคของฟอร์ดต้องเลือกเสียงจากมาตรวัดทางจิตสวนศาสตร์ในการสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมทางหน่วยเสียงและการสั่นสะเทือนที่ลงตัวที่สุด โดยคำนึงถึงสิ่งต่างๆ ดังนี้
ลักษณะของเสียงที่เหมาะสม และความสามารถในการกระตุ้นการตอบสนองของผู้ฟัง อาทิ ความแตกต่างในการเลือกใช้เสียงที่นุ่มนวลเพื่อเตือนให้คาดเข็มขัดนิรภัย กับการเลือกใช้เสียงเตือนเมื่ออาจเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งจะต้องกระตุ้นให้ผู้ขับขี่มีปฏิกริยาตอบสนองทันที ระดับของเสียงที่สมดุลกับเสียงจากท้องถนน เสียงจากเครื่องยนต์ และเสียงลม การลดส่วนผสมของเสียงที่น่ารำคาญ อาทิ เสียงหอนและเสียงดังอี๊ดอ๊าดการเลือกใช้เซ็นเซอร์ต่างๆ อย่างพอเหมาะจะได้ไม่รบกวนสมาธิของผู้ขับขี่ “ฟอร์ดมีขั้นตอนมากมายในการพัฒนาเสียง เช่นเดียวกับที่นักแต่งเพลงนำเครื่องดนตรีหลายๆ ประเภทมาบรรเลงร่วมกันเป็นบทเพลง” มร. อเล็กซ์ เพ็ตนิวนาส ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคจากฝ่ายควบคุมคุณภาพเสียง กล่าว “สิ่งที่แตกต่างกันก็คือ เป้าหมายของเราไม่ใช่การสร้างเสียงเพื่อความบันเทิง เราสร้างเสียงที่ช่วยให้คุณตอบสนองได้อย่างรวดเร็วต่อสภาพแวดล้อมในการขับขี่ที่อาจเปลี่ยนแปลงแบบกะทันหัน”
ผลการวิจัยเบื้องต้นของฟอร์ดชี้ให้เห็นว่า เสียงแต่ละประเภทเหมาะสำหรับการเตือนผู้ขับขี่ในบางสถานการณ์เท่านั้น ขณะที่ความถี่และจังหวะของเสียงนับว่ามีบทบาทสำคัญต่อการตอบสนองของผู้ขับขี่เช่นกัน ตัวอย่างเช่น ในการศึกษาว่าอุปกรณ์ปกป้องความปลอดภัยก่อนเกิดอุบัติเหตุควรส่งเสียงเตือนผู้ขับขี่อย่างไรจึงจะเหมาะสมที่สุด ผลปรากฏว่า ผู้ขับขี่มักจะตอบสนองอย่างฉับพลันต่อเสียงเตือนที่ให้ความรู้สึกเหมือนการออกคำสั่งและใช้จังหวะแบบถี่ๆ
นอกจากนี้ ผู้ขับขี่ยังชอบการเตือนแบบผสมผสาน กล่าวคือ ใช้เสียงเตือนเป็นหลัก และมีภาพหรือสัญญาณไฟที่มองเห็นได้ประกอบด้วย ดังนั้น ในสถานการณ์ที่ผู้ขับขี่ต้องตอบสนองอย่างรวดเร็ว ฟอร์ดจึงใช้ทั้งสัญญาณเสียงและภาพประกอบกัน ควบคู่กับการพิจารณาถึงองค์ประกอบอีกประการหนึ่งที่มีความสำคัญ นั่นคือการคำนึงถึงเสียงอื่นๆ ภายในรถ อาทิ เสียงวิทยุ หรือสัญญาณอื่นๆ ภายในรถที่อาจเบี่ยงเบนความสนใจของผู้ขับขี่ได้
บททดสอบการเตือนด้วยภาพและเสียง
ฟอร์ดใช้หลากหลายวิธีในการทดสอบประสิทธิภาพขององค์ประกอบทางภาพและเสียง อาทิ การจำลองสภาพแวดล้อมที่คล้ายกับการขับขี่จริง ด้วยการดูดเสียงลมและเสียงจากถนนเข้าไปในรถที่จอดไว้ในอุโมงค์เก็บเสียง จากนั้นจึงติดตั้งไมโครโฟนที่สามารถตรวจจับเสียงเตือนต่างๆ ด้วยความแม่นยำสูงไว้ที่หุ่นจำลองภายในรถ เพื่อตรวจสอบว่าผู้ขับขี่ได้ยินเสียงเตือนในระดับที่เหมาะสมหรือไม่
อีกวิธีการหนึ่งที่ฟอร์ดเลือกใช้คือการประเมินความคิดเห็นของลูกค้าโดยใช้ “แบบทดสอบเชิงเปรียบเทียบ” ซึ่งอาสาสมัครจะได้ยินเสียงหลายๆ แบบและเลือกเสียงที่เหมาะสมเพียงเสียงเดียว นอกจากนี้ ยังมีการทดสอบ “การเปรียบเทียบความหมาย” โดยอาสาสมัครจะได้ยินเสียงตัวอย่าง จากนั้น ฟอร์ดจะตั้งคำถามโดยมีคำตอบที่แตกต่างกัน 2 ขั้วให้เลือก เช่น “เสียงที่ได้ยินให้ความรู้สึกว่าเป็นรถที่มีราคาถูกหรือแพง” เป็นต้น
เสียงส่วนใหญ่ที่อาสาสมัครเลือก เป็นกลุ่มเสียงในบันไดเสียงเมเจอร์ คั่นจังหวะด้วยเสียงที่ให้ความรู้สึกรื่นรมย์ แต่มีความโดดเด่นพอที่จะดึงความสนใจของผู้ขับขี่ออกจากเสียงการทำงานของรถและเสียงอื่นๆ โดยรอบ เสียงที่นำมาทดสอบบางส่วนอาจเป็นที่ชื่นชอบของอาสาสมัคร แต่กลับไปผ่านมาตรฐานในการกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองอย่างฉับพลัน อาทิ การใช้ดนตรีอิเล็กทรอนิกแบบเบาๆ ที่เรียกว่าเสียง “Techno01” ซึ่งคล้ายกับเพลงที่เปิดตามคลับต่างๆ ทั่วโลก แม้ว่าผู้ขับขี่ส่วนใหญ่จะชื่นชอบ แต่เสียงนี้กลับไม่มีความโดดเด่นพอเมื่อต้องทำงานแข่งกับเสียงอื่นๆ ในรถ
การที่ทีมฟอร์ดได้รับแรงบันดาลใจมาจากหลายแหล่ง ทำให้มีเสียงหลายรูปแบบให้เลือกสรร แต่เมื่อทดสอบแล้วจึงพบว่าตัวเลือกมากมายไม่เหมาะที่จะนำมาใช้งานจริง ตัวอย่างเช่น เสียงที่เลียนแบบการร้องของจิ้งหรีดซึ่งผ่านการพิจารณาในเบื้องต้นแต่ไม่ได้รับคัดเลือกให้นำมาใช้เพราะเป็นเสียงที่ให้ความรู้สึกสบายๆ เกินไป ขณะที่เสียงเสียงแบบการสแครชแผ่นของดีเจได้รับความนิยมในกลุ่มผู้ขับขี่วัยรุ่น แต่ไม่ถูกใจผู้ขับขี่ที่เป็นผู้ใหญ่กว่า
การเลือกเฟ้นเสียงที่เหมาะสำหรับผู้ขับขี่ทุกเพศทุกวัยในประเทศหนึ่งๆ นับว่าเป็นงานที่ท้าทายอยู่แล้ว ยังไม่นับว่าผู้ขับขี่ในแต่ละประเทศมีความชอบและสามารถรับรู้ถึงสัญญาณเตือนในระดับที่แตกต่างกัน ฟอร์ดจึงพยายามตอบสนองต่อความต้องการอันหลากหลายนี้ด้วยการจัดการทดสอบเสียงในภูมิภาคต่างๆ ของโลก เพื่อพัฒนาเสียงที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งส่งผลให้เกิดการตอบสนองแบบเดียวกันต่อผู้ขับขี่ในทุกๆ ประเทศ
ตัวอย่างเช่น ฟอร์ดได้ทดสอบตัวเลือกถึง 24 แบบ เพื่อคัดเลือกเสียงสัญญาณไฟเลี้ยวที่จะใช้ทั้งในทวีปยุโรป อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ และเอเชีย การใช้ทรัพยากรระดับโลกของบริษัททำให้วิศวกรด้านเสียงของฟอร์ดใช้เวลาเพียง 1 สัปดาห์ในการเลือกเสียง “ติ๊กต็อก” แบบใหม่ที่ให้ความรู้สึกทันสมัย ด้วยการพัฒนาจากเสียงเครื่องจักรกลระบบอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นเสียงสัญญาณไฟเลี้ยวแบบดั้งเดิมที่ผู้ขับขี่คุ้นเคย
“การปรับจูนเสียงให้อยู่ในระดับที่สมบูรณ์แบบนั้น ต้องใช้ทั้งความคิดสร้างสรรค์และองค์ประกอบทางเทคนิค” มร. เพ็ตนิวนาส กล่าว “จุดมุ่งหมายสำคัญของเราก็คือการเลือกใช้เสียงเตือนที่มีประสิทธิภาพและง่ายต่อการทำความเข้าใจ เพื่อช่วยให้ผู้ขับขี่ใช้งานอุปกรณ์ปกป้องความปลอดภัยต่างๆ ในรถได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม”