ปัญญาสมาพันธ์ฯ แนะครอบครัวมีส่วนร่วม เฝ้าระวังพิษภัยจากโลกไซเบอร์ ให้เด็กห่างไกลพฤติกรรมรังแกกันทางเน็ต

ข่าวเทคโนโลยี Wednesday April 25, 2012 10:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 เม.ย.--ไอเดียเวิร์คส์ คอมมิวนิเคชั่นส์ ปัญญาสมาพันธ์เพื่อการวิจัยความเห็นสาธารณะแห่งประเทศไทย ร่วมกับ บมจ.ซีพี ออลล์ เผยผลงานวิจัยส่งเสริมสถาบันครอบครัว เรื่อง “การจัดการพฤติกรรมการข่มเหงรังแกผ่านโลกไซเบอร์ด้วยการมีส่วนร่วมของครอบครัว” เพื่อศึกษาวัดระดับความรู้และความตระหนักของพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่มีต่อการข่มเหงรังแกผ่านโลกไซเบอร์ ตลอดจนหาแนวทางหรือรูปแบบการจัดการที่นำไปใช้ได้จริง เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการกระทำความรุนแรงผ่านโลกออนไลน์ ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของครอบครัว ภายในงานได้จัดเสวนาพิเศษประเด็นร้อน “เตรียมพร้อมครอบครัวไทย ระวังภัยจากโลกไซเบอร์” โดยนักวิชาการและผู้เกี่ยวข้องในวงการต่างๆ อาทิ ลัดดา ตั้งสุภาชัย ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ศิวัตร เชาวรียวงษ์ นายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย และดร.วิมลทิพย์ มุสิกพันธ์ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ ปัญญาสมาพันธ์ฯ เพื่อหาแนวทางที่เป็นไปได้ในการจัดการกับปัญหาความรุนแรงนี้ด้วยสถาบันครอบครัวที่มีความรับผิดชอบต่อเด็กโดยตรง ตลอดจนให้ความรู้และสร้างความตระหนักกับกลุ่มพ่อแม่บางส่วนที่ไม่เคยทราบถึงรูปแบบการรังแกชนิดนี้มาก่อน ดำเนินรายการโดย อมรรัตน์ มหิทธิรุกข์ งานวิจัย “การจัดการพฤติกรรมการข่มเหงรังแกผ่านโลกไซเบอร์ด้วยการมีส่วนร่วมของครอบครัว” ได้ทำการสอบถามความคิดเห็นโดยเจาะกลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่มคือ 1.กลุ่มเด็กและเยาวชนที่กำลังศึกษาในระดับมัธยมศึกษาทั้งตอนต้น ตอนปลาย และอาชีวศึกษา อายุระหว่าง 15-24 ปี ซึ่งพบว่าเป็นกลุ่มที่มีพฤติกรรมการรังแกผ่านโลกไซเบอร์สูงที่สุด 2.กลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่มีอายุอยู่ในช่วง 37-63 ปี โดยแยกผลการศึกษาเป็น 2 ส่วนคือ 1.เชิงปริมาณ จำนวน 1,600 ตัวอย่าง และ 2.เชิงคุณภาพ กลุ่มละ 30 คน รวมทั้งสิ้น 60 คน ในสถานศึกษา 4 ประเภทของกรุงเทพมหานครจำนวน 11 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนมัธยมของรัฐ มัธยมของเอกชน อาชีวศึกษาของรัฐ และอาชีวศึกษาของเอกชน และสถานที่ทำงาน พื้นที่สาธารณะและบ้านพักอาศัยในเขตบึงกุ่ม จอมทอง คลองเตย และจตุจักร เพื่อนำข้อมูลทั้งสองส่วนนี้มาวิเคราะห์ร่วมกัน หาความคาดหวังและแนวทางที่เป็นไปได้ที่ครอบครัว จะเข้าไปรับรู้ปัญหาหรือสร้างแนวป้องกันให้กับเด็กและเยาวชนในการจัดการปัญหาการข่มเหงรังแกนี้ จากผลการสำรวจพบข้อเท็จจริงที่น่าสนใจหลายประการ อาทิ - ครอบครัวใช้เวลารับประทานอาหารเช้าร่วมกันน้อยกว่า 2 วัน/สัปดาห์ (ร้อยละ 38.2) เช่นเดียวกับประเด็นการรับประทานอาหารเย็นร่วมกันน้อยกว่า 2 วัน/สัปดาห์ ในอัตราส่วนร้อยละ 32.8 เท่ากัน - ผู้ปกครองไม่ทราบว่าเด็กในปกครองใช้คอมพิวเตอร์วันละเท่าใด (ร้อยละ 27.1) และไม่ทราบว่าเด็กในปกครองใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการใด (ร้อยละ 21.8) - ผู้ปกครองร้อยละ 20.4-30.5 ไม่ทราบว่าบุตรหลานเคยเป็นผู้กระทำความรุนแรง ที่น่าสนใจคือผู้ปกครองส่วนใหญ่ ไม่ทราบเลยว่าบุตรหลานมีประสบการณ์รังแกหรือถูกรังแกผ่านโลกไซเบอร์หรือไม่ (ร้อยละ 21.3-33.1) - สำหรับหัวข้อที่โดนกระทำมากที่สุด คือ ถูกด่าด้วยถ้อยคำหยาบคายจากเพื่อน/เด็กอื่นผ่านอินเตอร์เน็ตหลายครั้ง - ผลสำรวจผู้ปกครองบางกลุ่มยอมรับว่าการรังแกผ่านโลกไซเบอร์เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ (ร้อยละ 16.0) แต่ส่วนใหญ่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะให้รูปแบบการรังแกผ่านโลกไซเบอร์ได้รับการแก้ไข (ร้อยละ 70.12 ) ส่วนเรื่องการรังแกผ่านโลกไซเบอร์ในทัศนะของผู้ปกครอง กรณีศึกษาส่วนใหญ่ถือว่าเป็นเรื่องที่ “ไกลตัว” เนื่องจากเชื่อใจ มั่นใจ และไว้วางใจในตัวลูกว่าไม่เคยเกี่ยวข้องกับการรังแกผ่านโลกไซเบอร์ทั้งเป็นผู้กระทำและถูกกระทำ ที่น่าตกใจคือการตั้งคำถามประเด็นสถานการณ์สมมุติ ทั้งหมด 15 ประเด็น เพื่อเช็คสอบว่าพ่อแม่ผู้ปกครองว่าทราบหรือไม่ว่าสถานการณ์นั้นจัดเป็นความรุนแรงผ่านโลกไซเบอร์ พบว่าผู้ปกครองไม่ทราบว่าสถานการณ์ส่ง MSN ดูถูกเหยียดหยามหรือข่มขู่บ่อยๆ จัดเป็นความรุนแรงที่กระทำผ่านโลกไซเบอร์ (ร้อยละ 44.1) และส่วนใหญ่เข้าใจว่าประเด็นเรื่องโทรศัพท์เข้ามารบกวนโดยที่ไม่พูดสาย ไม่ใช่ความรุนแรงผ่านโลกไซเบอร์ ซึ่งเป็นคำตอบที่ไม่ถูกต้อง (ร้อยละ 74.8) สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ปกครองส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจต่อปัญหาการรังแกผ่านโลกไซเบอร์ที่คลาดเคลื่อนอยู่มาก ดร.วิมลทิพย์ มุสิกพันธ์ รองผู้อำนวยการด้านวิชาการ สถาบันแห่งชาติเพื่อพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า ในฐานะองค์กรที่ทำหน้าที่เชิงวิชาการในการสร้างความเข้มแข็งให้กับเยาวชนและครอบครัว เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการศึกษาถึงรูปแบบการให้พ่อแม่ผู้ปกครองได้ทราบถึงรูปแบบพฤติกรรมการข่มเหงรังแกกันรูปแบบใหม่ ที่กำลังแพร่หลายอยู่ในหมู่เด็กและเยาวชนขณะนี้ ตลอดจนกลไกจำเป็นที่ครอบครัวจะเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการป้องกันดูแลเด็กและเยาวชนให้มีความรู้เท่าทันอันตรายที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยี บนความเชื่อตามหลักทฤษฏีว่าครอบครัวจะเป็นกลไกสำคัญที่สุดในการจัดการกับปัญหานี้ สำหรับข้อค้นพบจากการศึกษาต่อยอดครั้งนี้จะเป็นข้อมูลที่จำเป็นที่จะนำไปสู่การพัฒนารูปแบบการจัดการกับปัญหาในระดับนโยบายที่เกี่ยวข้องต่อไป “พ่อแม่จำนวนมากเห็นว่าเทคโนโลยีเป็นเรื่องไกลตัว และเป็นสิ่งที่ตนไม่สามารถเรียนรู้ได้ จึงเปิดโอกาสให้เทคโนโลยีอยู่ใกล้ชิดกับลูกมากกว่า ทำให้เกิดช่องว่างในการสร้างความสัมพันธ์ที่แนบแน่นปรากฏการณ์นี้เป็นความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธ” “ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า ผู้ปกครองส่วนใหญ่มีความคิดจะแก้ปัญหาโดยการต่อว่า ตักเตือน ห้ามปราม ควบคุมการใช้สื่อ ลงโทษ และคอยสอดส่องพฤติกรรม ในกรณีที่ลูกเป็นฝ่ายกระทำ แต่หากเป็นกรณีที่ลูกถูกกระทำ ส่วนใหญ่คาดว่าจะใช้วิธีการสืบหาตัวผู้กระทำและเจรจาปัญหา ให้กำลังใจลูก บอกให้หลีกเลี่ยงและระมัดระวังตัวมากขึ้น มีจำนวนน้อยรายที่บรรยายถึงมาตรการเชิงรุกอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การแจ้งความ หรือตรวจสอบประวัติการใช้สื่อ ประเด็นสำคัญคือข้อมูลการแก้ปัญหาส่วนใหญ่สื่อออกมาในลักษณะวิถีเชิงอุดมคติทั่วไปอย่างที่ควรจะเป็น มากกว่าการเฉพาะเจาะจงต่อปัญหา ซึ่งหากไม่มีการดำเนินการใดต่อปัญหาอย่างเร่งด่วนตั้งแต่บัดนี้ หรือปล่อยทิ้งไว้นานอาจเรื้อรังหรือไม่ก็ทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย” ดร.วิมลทิพย์ กล่าว ด้าน ลัดดา ตั้งสุภาชัย ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า “ปัจจุบันโลกไซเบอร์เป็นช่องทางหนึ่งที่ก่อให้เกิดการรังแกกันประเภทใหม่ เรียกว่า Cyber-bullying (การรังแกผ่านโลกไซเบอร์) สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ทุกสถานที่ และมีประสิทธิภาพรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการเขียนข้อความต่อว่า ดูถูก ล้อเลียนหรือใช้รูปภาพ คลิปวีดิโอเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตหรือโทรศัพท์มือถือ ในขณะที่ผู้ถูกกระทำไม่สามารถตอบโต้ได้ นำมาซึ่งความรู้สึกเครียด เจ็บปวด อับอายและสูญเสียความมั่นใจในการอยู่ในสังคม บางครั้งอาจนำมาสู่ปัญหาด้านอารมณ์อย่างรุนแรง” “เมื่อเกิดการข่มเหงรังแกเมื่อใด เยาวชนมักเลือกปิดบังปัญหาไม่ให้ครูหรือพ่อแม่ผู้ปกครองรับรู้ แต่จะบอกเล่ากับเพื่อนมากกว่า ซึ่งส่วนใหญ่จะตอบโต้กลับไป ท้ายสุดแล้ว วงจรการรังแกกันผ่านโลกไซเบอร์ก็ดำเนินต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด” “ที่สำคัญผู้ปกครองมักเน้นมุมมองไปในทางผู้กระทำมากกว่า และแสดงความคิดเห็นในกรณีฝ่ายถูกรังแกน้อยกว่า ลักษณะข้อมูลที่ไม่สมดุลเช่นนี้ อาจมองว่าผู้ปกครองไม่ได้คาดคิดถึงโอกาสที่ถูกจะถูกกระทำว่าเป็นความเสี่ยงเช่นเดียวกัน ซึ่งอาจเป็นความเสี่ยงที่ต้องใส่ใจให้มากด้วยซ้ำ เพราะเด็กตกเป็นเหยื่อได้ทุกเวลา การสร้างภูมิคุ้มกันผู้ถูกรังแกด้วยแนวคิด “เหยื่อไม่ใช่เหยื่อ” คือ สื่อสารให้เด็กเข้าใจว่าถ้าไม่ยินยอมให้การรังแก การดำเนินชีวิตก็จะเป็นไปอย่างปกติเพราะไม่ได้เป็นฝ่ายผิด แต่เมื่อมีความผิดเกิดขึ้น ก็ไม่ปล่อยให้ผู้กระทำลอยนวล ด้วยการดำเนินการอย่างเด็ดขาด ควรใช้เทคโนโลยีย้อนกลับไปค้นหาตัวผู้กระทำอย่างจริงจัง ด้วยการประสานขอความร่วมมือจากเว็บไซต์และตำรวจ โดยใช้กลไกทางกฎหมายที่มีอยู่และตรวจสอบประวัติการใช้งานอินเทอร์เน็ตในคอมพิวเตอร์ รวมทั้งให้ผู้ที่มีความชำนาญค้นหาข้อมูลที่ถูกลบไปแล้ว เพื่อตรวจสอบข้อมูลที่น่าสงสัยและทำให้รู้เหตุการณ์อย่างเท่าทัน” ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กล่าว ศิวัตร เชาวรียวงษ์ นายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย กล่าวว่า “ประเด็นที่น่ากังวล คือ ในกลุ่มพ่อแม่ที่ไม่มีความรู้เทคโนโลยีเท่าทันลูกมากนัก ไม่ทราบว่าจะจัดการปัญหาการรังแกผ่านโลกไซเบอร์อย่างไร เนื่องจากไม่มีความรู้ความเข้าใจ แม้พ่อแม่บางรายที่ใช้อินเทอร์เน็ตในชีวิตประจำวันยังไม่มีการวางแผนที่ชัดเจนตราบใดที่ปัญหายังไม่เกิดขึ้นจริง และผู้ปกครองบางรายยังยินดีที่จะใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือในการต่อรองให้เยาวชนอยู่ติดบ้าน ด้วยหวังจะปกป้องบุตรหลานจากปัญหาอื่นๆ ที่อยู่ในการรับรู้และเห็นว่าสำคัญ โดยที่ปัญหาการรังแกผ่านโลกไซเบอร์ถูกมองข้ามไปอย่างสิ้นเชิงโดยไม่รู้ตัว” “นอกจากนี้ ผู้ปกครองบางรายไม่สามารถควบคุมการใช้สื่อของลูกได้เลย ทั้งกลุ่มพ่อแม่ที่พอจะมีความรู้ด้านอินเทอร์เน็ตอยู่บ้าง และกลุ่มที่มีช่องว่างทางความรู้ด้านสื่อที่ห่างและแตกต่างกับลูกค่อนข้างมาก แม้เวลาเล่นเกม ผู้ปกครองก็อาจไม่รู้ว่าลูกทำอะไรอยู่” “ดังนั้น การสร้างและกระจายองค์ความรู้การรังแกผ่านโลกไซเบอร์ให้ถึงมือผู้ปกครอง รวมทั้งทำให้สังคมตระหนักโดยทั่วกันว่าสิ่งใดเป็นพฤติกรรมที่เป็นความผิด ที่สำคัญการให้ “โอกาส” วัยรุ่นได้พูดคุยกับพ่อแม่ด้วยความรู้สึกไว้วางใจ เพื่อนำไปสู่การรับรู้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที อาทิ ทานอาหารเย็นร่วมกันเพื่อให้เป็นช่วงบอกเล่าเรื่องราวไม่สบายใจสู่ครอบครัว ตลอดจนการปลูกจิตสำนึกของเยาวชนต่อการใช้เทคโนโลยีไซเบอร์อย่างถูกต้องตั้งแต่เริ่มแรก เหล่านี้อาจเป็นแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อีกทางหนึ่ง” นายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย กล่าว โดยรวมแล้วการรังแกกันผ่านโลกไซเบอร์เป็นปัญหาที่สังคมที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจ เป็นสิ่งที่ไม่คุ้นเคยและพ่อแม่ยังขาดโอกาสในการเข้าถึง และไม่เคยทราบว่าเป็น “การรังแกผ่านโลกไซเบอร์” ทำให้ผู้ปกครองสับสนและรวมปัญหาดังกล่าวกับปัญหาอื่นๆ ที่เกิดจากอินเทอร์เน็ต มือถือ หรือปัญหาในโลกจริงเข้าด้วยกัน ข้อมูลเหล่านี้สะท้อนว่าการสร้างความรู้ความเข้าใจต่อผู้ปกครองเป็นสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการ และต้องจัดทำสื่อกลางที่สื่อสารอย่างชัดเจนและเหมาะสมกับทุกกลุ่มพ่อแม่ต่อไป ปัญญาสมาพันธ์เพื่อการวิจัยความเห็นสาธารณะแห่งประเทศไทย (The Wisdom Society for Public Opinion Research of Thailand: WPORT) คือ กลุ่มนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาชั้นนำ 10 สถาบัน ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยศรีปทุม และสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ รวมตัวกันเพื่อศึกษาและสร้างสรรค์ผลงานวิจัยสาธารณะที่น่าเชื่อถือ โดยความสนับสนุนของ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.wport.org สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ บริษัทไอเดียเวิร์คส์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด Supamas Phulsawat Communications Consultant Idea Works Communications Co., Ltd. Tel / Fax: 02-254 1315 email: supamas@ideaworkscommunications.com www.ideaworkscommunications.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ