ทริสเรทติ้งมองปัจจัยกังวลอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ -- โครงการเหลือขายในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม และภาระหนี้ที่สูงขึ้นของผู้ประกอบการ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 26, 2012 10:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 เม.ย.--ทริสเรทติ้ง บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด มองอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องแม้ผู้ประกอบการบางรายยังคงได้รับผลกระทบเชิงลบจากมหาอุทกภัยที่ผ่านมา โดยผู้ประกอบการที่มีโครงการเหลือขายในพื้นที่ประสบภัยยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายในการขายโครงการในพื้นที่ดังกล่าว และความเสี่ยงจะเพิ่มมากยิ่งขึ้นในกรณีที่ผู้ประกอบการมีภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น ทริสเรทติ้งกล่าววันนี้ว่า แนวโน้มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะยังคงเติบโตจากแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่ดี ส่วนนโยบายภาครัฐในการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ด้วยผลประโยชน์ทางภาษีและเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำนั้นไม่น่าจะช่วยกระตุ้นความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยได้อย่างมีนัยสำคัญนัก โครงการแนวราบในพี้นที่ที่ไม่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมน่าจะยังขายได้ดี ในขณะที่โครงการแนวราบในพื้นที่เสี่ยงจะมียอดขายที่ค่อนข้างช้า โดยทริสเรทติ้งคาดว่าคงต้องใช้เวลาอย่างน้อยจนถึงปี 2556 ที่ผู้ประกอบการจะสามารถขายสินค้าคงเหลือในพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมได้อย่างมีนัยสำคัญ ส่วนการซื้อขายโครงการอาคารชุดนั้นกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งหนึ่ง และยอดขายอาคารชุดก็น่าจะเป็นปัจจัยผลักดันให้อุตสาหกรรมเติบโตได้ในช่วง 12 — 18 เดือนข้างหน้า สถาบันจัดอันดับเครดิตกล่าวว่า การเติบโตของอุตสาหกรรมอาจหยุดชะงักลงหากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมกลับมาอีกครั้งในช่วงครึ่งหลังของปี 2555 ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝน ปัญหาการขาดแคลนแรงงานกลายเป็นประเด็นสำคัญสำหรับผู้ประกอบการและทำให้ผู้ประกอบการหลายรายเริ่มหันมาพึ่งพาการก่อสร้างโดยใช้ชิ้นส่วนสำเร็จรูป (Precast) มากขึ้นเพื่อลดการพึ่งพาแรงงาน การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะกดดันอัตรากำไรของผู้ประกอบการเพียงในระยะสั้นเนื่องจากผลประกอบการในอดีตแสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการสามารถส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นไปยังผู้ซื้อได้ในที่สุด ณ สิ้นปี 2554 สินค้าคงเหลือสะสมของผู้ประกอบการที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตโดยทริสเรทติ้งอยู่ที่ 2.37 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% จากปี 2553 โดยระดับสินค้าคงเหลือดังกล่าวน่าจะต้องใช้เวลาประมาณ 2.87 ปีในการระบายออกจนหมด อย่างไรก็ตาม สินค้าคงเหลือสะสมในปัจจุบันมีสัดส่วนที่เป็นอาคารชุดระหว่างก่อสร้างค่อนข้างมาก ดังนั้น ความเสี่ยงจากการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของสินค้าคงเหลือจึงลดลงบางส่วนจากยอดขายอาคารชุดที่เป็นที่น่าพอใจในช่วงที่ผ่านมา โดยโครงการอาคารชุดส่วนใหญ่น่าจะมียอดขายอยู่ในระดับ 60% - 80% เมื่ออาคารสร้างแล้วเสร็จพร้อมโอน ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนกำไรของผู้ประกอบการที่มีโครงการเหลือขายน้อยในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมจะมีเสถียรภาพค่อนข้างดี ส่วนผู้ประกอบการที่มีสินค้าคงเหลือมากในพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมจะมีอัตรากำไรที่ได้รับแรงกดดันต่อเนื่องไปอีก 1 — 2 ปีข้างหน้า ภาระหนี้ของผู้ประกอบการหลายรายคาดว่าจะเพิ่มขึ้นทั้งจากสินค้าคงเหลือสะสมในพื้นที่น้ำท่วมที่ไม่ยังสามารถขายออกได้ หรือการเปิดโครงการใหม่ในพื้นที่ปลอดน้ำท่วมและการเพิ่มสัดส่วนของโครงการอาคารชุด ทั้งนี้ ภาระหนี้ที่สูงขึ้นน่าจะบรรเทาลงได้บางส่วนจากอัตราการโอนหน่วยในโครงการอาคารชุดที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงไตรมาสข้างหน้าหลังจากที่มีการเปิดขายโครงการอาคารชุดจำนวนมากเมื่อปี 2553

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ