กรุงเทพฯ--21 พ.ค.--กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
เนื่องจากวันที่ 22 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหน่วยงานประสานการดำเนินงานอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ได้เห็นความสำคัญของวันดังกล่าวจึงได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ : อาหาร น้ำ สุขภาพ ขึ้น เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบว่าประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพแล้ว ซึ่งถือเป็นการแสดงเจตนารมณ์ว่าประเทศไทยจะดำเนินการส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน ตลอดจนแบ่งปันผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมอย่างเท่าเทียมและยุติธรรม สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของอนุสัญญาฯ
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ทวีศักดิ์ ปิยะกาญจน์ ประธานพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ได้กล่าวว่า ความหลากหลายทางชีวภาพนั้นมีคุณค่าโดยตรงต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ เพราะความหลากหลายทางชีวภาพที่อุดมสมบูรณ์จะให้ผลผลิตและบริการที่สร้างประโยชน์ให้แก่ระบบเศรษฐกิจทั้งในเขตเมืองและชนบท ซึ่งได้มีการประเมินคุณค่าทางเศรษฐกิจของผลผลิตและบริการจากระบบนิเวศเอาไว้สูงถึง 1,353 ล้านล้านบาทต่อปี หรือ 33 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ซึ่งสูงกว่าผลผลิตและบริการทางเศรษฐกิจอื่นๆ ทั้งหมดรวมกัน ดังนั้นผลผลิตและบริการจากความหลากหลายทางชีวภาพจึงเป็นปัจจัยพื้นฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืนและช่วยในการขจัดปัญหาความยากจนและความอดอยากได้
ขณะเดียวกันการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ก็เป็นดัชนีชี้วัดที่ชัดเจนที่สุด ที่จะแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน โดยแผนปฏิบัติการจากการประชุมสุดยอดว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้ระบุว่า การจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนและผสมผสาน เป็นแนวทางสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน และความหลากหลายทางชีวภาพเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตและความกินดีอยู่ดีของมนุษย์ รวมทั้งช่วยสนับสนุนกระบวนการพัฒนาอย่างยั่งยืน และแก้ไขปัญหาความความยากจน
ในทางกลับกันความยากจนก็อาจส่งผลให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพได้ โดยประชาชนที่มีรายได้น้อยต้องพยายามดำรงชีวิตรอด ก็อาจจะเก็บเกี่ยวและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่ยั่งยืน เช่น ลักลอบฆ่าสัตว์ ตัดไม้ทำลายป่า ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพลดลง และปัญหาการสูญเสียเหล่านี้ ได้เป็นแรงผลักดันให้เกิดการพัฒนาโปรแกรมงานต่างๆ ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพขึ้น
โดยประเด็นสำคัญของโปรแกรมงานดังกล่าวนั้นได้แก่ โปรแกรมงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลและชายฝั่ง , โปรแกรมงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพทางการเกษตร , โปรแกรมงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพของป่าไม้ , โปรแกรมงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศแหล่งน้ำในแผ่นดิน และโปรแกรมงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่แห้งแล้งและพื้นที่กึ่งชื้น ซึ่งโปรแกรมงานทั้งหมดนี้ได้รับการรับรองจากที่ประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาฯ อันประกอบด้วยผู้แทนจากทั่วโลกและผู้แทนจากประเทศไทยแล้ว
ดังนั้น ในการประชุมเชิงปฏิบัติการความหลากหลายทางชีวภาพ : อาหาร น้ำ สุขภาพครั้งนี้ จึงเป็นการนำเสนอรายละเอียดจากโปรแกรมที่สำคัญเหล่านี้ให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องได้หารือ และให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการตามโปรแกรมต่างๆ เพื่อให้การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศเป็นไปอย่างยั่งยืนต่อไป
อนึ่ง วันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพในปีนี้ สำนักงานเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ได้กำหนดว่า "ความหลายทางชีวภาพ : อาหาร น้ำ สุขภาพ" ซึ่งสามารถสื่อสารได้ชัดเจนถึงความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพต่อการดำรงชีวิต ตลอดจนสอดคล้องกับการที่ปีนี้ได้รับการประกาศให้เป็นปีสากลของข้าว รวมทั้งยังเป็นการตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษที่ต้องการให้มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมภายในปี พ.ศ.2558 หรือ ค.ศ.2015 ด้วยการขจัดปัญหาความยากจนอดอยาก และสร้างความยั่งยืนแก่สิ่งแวดล้อม--จบ--
-นท-