กรุงเทพฯ--27 เม.ย.--มายด์พีอาร์
สสวท. ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สพฐ. สกอ. และสวทช.จัดงานการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเยาวชน ครั้งที่ 7ในหัวข้อ “เยาวชนวิทย์ คิด-เรียนรู้ อยู่กับธรรมชาติ”
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) รวมพลังขับเคลื่อนนักวิทย์รุ่นใหม่ ประสานจัดงานการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเยาวชน ครั้งที่ 7 (วทท. เพื่อเยาวชน ครั้งที่ 7) ในหัวข้อ “เยาวชนวิทย์ คิด-เรียนรู้ อยู่กับธรรมชาติ” ระหว่างวันที่ 2-4 พฤษภาคม 2555 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ
ดร. พรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สสวท.) เปิดเผยว่า ในยุคเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยี ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ถือเป็นรากฐานในการพัฒนาประเทศ การสร้างนักวิทยาศาสตร์จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศไทย โดยทางสสวท. ได้ให้การสนับสนุนผู้ที่มีความสามารถในระดับเยาวชนโดยให้ทุนพสวท. หรือ โครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตลอดระยะหลายปีที่ผ่านมา และสามารถสร้างนักวิทยาศาสตร์ที่มีบทบาทมากมายในสังคมไทย อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีการผลักดันสร้างนักวิทยาศาสตร์มากขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอ โดยตั้งเป้าว่าในปี 2560 ต้องมีนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ 15 คน ต่อประชากร 10,000 คน แต่ขณะนี้มีเพียง 6.7 คน เท่านั้น
การจัดงานการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเยาวชน ครั้งที่ 7 (วทท. เพื่อเยาวชน ครั้งที่ 7) ในหัวข้อ “เยาวชนวิทย์ คิด-เรียนรู้ อยู่กับธรรมชาติ” ระหว่างวันที่ 2-4 พฤษภาคม 2555 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ ซึ่งสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยี (สสวท.) ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกันจัดขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ นักเรียน นิสิต นักศึกษาที่มีผลงานวิจัยด้าน วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี นำเสนอและเผยแพร่ผลงานวิจัยที่มีคุณภาพให้แก่เยาวชนและประชาชนผู้สนใจทั่วไป ตลอดจนสร้างเวทีแสดงความสามารถ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและสร้างเครือข่ายทางวิชาการ ระหว่างนักเรียน นิสิต นักศึกษา เยาวชน กับผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิจัย และนักวิชาการทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้ผู้เข้าชมงานสนใจงานด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น
“การจัดงานในปีนี้ ใช้หัวข้อ “เยาวชนวิทย์ คิด-เรียนรู้ อยู่กับธรรมชาติ” เพื่อชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติ เพราะวิทยาศาสตร์เป็นความรู้ที่อยู่รอบๆ ตัวเรา มีพื้นฐานจากความช่างสังเกต รู้จักเก็บรวบรวมข้อมูล คิด วิเคราะห์ อย่างมีเหตุและผล โดยเชื่อมโยงความรู้กับสภาพแวดล้อมเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาอย่างยั่งยืน สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสร้างสรรค์ ผู้ปกครองและเยาวชนที่มาร่วมในงานนอกจากจะไม่เสียค่าใช้จ่ายแล้ว ยังเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กๆ สนใจเรียนด้านวิทยาศาสตร์ หรืออาจจะก้าวไปสู่อาชีพนักวิทยาศาสตร์ในอนาคตก็ได้” ดร.พรพรรณ กล่าว
ผศ.ดร.เทียนทอง ทองพันชั่ง รองคณบดี ฝ่ายการศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีภารกิจหลักในการผลิตบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ซึ่งในระยะที่ผ่านมาพบว่ามีการตื่นตัวด้านการเรียนวิทยาศาสตร์มากขึ้นจากการผลักดันของหลายๆ หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพราะตระหนักถึงความสำคัญที่ประเทศไทยจำเป็นต้องเพิ่มจำนวนนักวิทยาศาสตร์ ลดช่องว่างการขาดแคลนทรัพยากรบุคคลด้านนี้เพื่อพัฒนาประเทศ ไม่ใช่เพียงแค่ซื้อหรือพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศเพียงอย่างเดียว นี่เองทำให้เห็นเส้นทางอาชีพของนักวิทยาศาสตร์ ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะรัฐบาลได้สนับสนุนทุนการศึกษาเพื่อส่งเสริมให้คนเก่งสนใจเรียนวิทยาศาสตร์มากขึ้น ช่วยกระตุ้นให้เยาวชนรุ่นใหม่สนใจเรียนวิทยาศาสตร์มากกว่าเดิม
การจัดงานการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเยาวชน ครั้งที่ 7 ที่จะจัดขึ้นนี้ ถือว่าเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เยาวชนที่มีผลงานด้านวิทยาศาสตร์ได้แสดงความสามารถต่อสาธารณชนตลอดจนเป็นแรงบันดาลใจให้ทั้งเยาวชนและประชาชนหันมาสนใจวิทยาศาสตร์มากขึ้นจากกิจกรรมภายใน เพราะนอกจากจะนำเสนอผลงานวิจัยแบบบรรยายและโปสเตอร์แล้ว ยังมีการจัดกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย อาทิ นิทรรศการแสดงผลงานวิจัย เรื่อง ตามรอยเส้นทางวิทยาศาสตร์ นักวิจัยไทย การเสวนาทางวิชาการ อาทิ “บันไดสู่ดวงดาว…นักวิทย์” โดย กลุ่มนักวิจัยรุ่นใหม่ “เอาอยู่…เมื่อรู้ธรรมชาติ” โดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านดิน น้ำ อากาศ และ “ตามรอย…วาฬ” โดยทีมงาน รู้ สู้ Flood และ ไขปริศนา “โลกาวินาศ 2012” โลกแตกจริง หรือ แค่กระแสตื่นตูม โดย ดร. บัญชา ธนบุญสมบัติ
นางสาววีณา อัครธรรม ผู้อำนวยการ สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดเผยว่า จากการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีพันธกิจ คือ พัฒนาพัฒนาและส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษาพื้นฐานให้ประชากรวัยเรียนทุกคนได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพ โดยพัฒนาผู้เรียนให้เป็นบุคคลที่มีความรู้คู่คุณธรรม มีความสามารถตามมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานและนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพระดับสากล การส่งเสริมให้เยาวชนสนใจทางด้านวิทยาศาสตร์ ก็ถือว่า เป็นบทบาทที่สำคัญ โดยได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆในการสนับสนุนและส่งเสริมเยาวชนทางด้านวิทยาศาสตร์
งานการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเยาวชน เป็นครั้งที่ 7 นับว่าเป็นงานที่มีส่งเสริมศักยภาพของเยาวชนอย่างตรงเป้าหมายเพราะเป็นเวทีแสดงความสามารถที่เปิดโอกาสให้นักเรียนระดับมัธยมตอนปลายได้นำเสนอผลงานวิจัย และโครงงานวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะการนำเสนอผลงานทางวิทยาศาสตร์นี้ เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ผู้เรียนเกิดการพัฒนาและกระตุ้นผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน พัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ สร้างเจตคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์ รวมถึงพัฒนาสมรรถนะสำคัญของผู้เรียน 5 ประการ ได้แก่ ความสามารถในการสื่อสาร ความสามารถในการคิด การแก้ปัญหา การใช้ทักษะชีวิต และการใช้เทคโนโลยี ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 ซึ่งมีกิจกรรมมากมายภายในงานปีนี้ อาทิ การบรรยายทักษะชีวิตที่นักเรียนควรมีในศตวรรษที่ 21 และแนวทางการดูแลเด็กเก่ง “พ่อแม่เลี้ยงเองได้” โดย พญ. จิตรา วงศ์บุณสิน พร้อมทั้งกิจกรรมการอบรมแนะนำเทคนิคและเคล็ดลับการเขียน บทความวิทยาศาสตร์ การแนะแนวการศึกษาต่อ และเส้นทางอาชีพ นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ อีกทั้งการจัดกิจกรรม Math and Science Rally และชมการประลองความคิดทางวิทยาศาสตร์กับ มินิวิทยสัประยุทธ์ สุดยอดเกมโชว์แห่งเอเชีย
ผู้สนใจสามารถเข้าชมฟรีและดูรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่เว็บไซต์ สสวท. www.ipst.ac.th หรือ http://stt4youth.ipst.ac.th
สื่อมวลชนสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
คุณอุษณีย์ เอื้ออริยะทรัพย์ และคุณศรีสุพัฒ เสียงเย็น
บริษัท มายด์พีอาร์ จำกัด
อีเมล์ utsanee@mind-pr.com และ srisuput@mind-pr.com