กรุงเทพฯ--27 เม.ย.--สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย
คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ร่วมกับคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สมาพันธ์แรงงานัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ โซลิดาริตี้เซ็นเตอร์ (SC) องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท(FES) จัดการเสวนา “มาตรการลดช่องว่างทางสังคมในกลุ่มแรงงาน : อนุสัญญา 87/98 และกลไกแรงงานสัมพันธ์” ที่โรงแรมอิสติน มักกะสัน
นางสุนี ไชยรส รองประธานกรรมการการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่องบทบาทกฎหมายกับการลดช่องว่างทางสังคมในกลุ่มแรงงานว่า ช่องว่างทางสังคมที่สำคัญคือ ปัญหาที่ดินและทรัพย์สินกระจุกตัวอยู่กับคนจำนวนน้อย จึงไม่สามารถแก้ปัญหาช่องว่างทางสังคมได้ ดังนั้นรากเหง้าของปัญหาที่แท้จริงคือการให้ความสำคัญกับการพัฒนาทุนนิยม การให้ความสำคัญกับตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การส่งออกและรายได้ของประเทศ รวมถึงการยึดหลักแรงงานราคาถูก เมื่อกฎหมายร่างขึ้นโดยใครก็มักจะรับใช้คนกลุ่มนั้น ขณะเดียวกันยังพบว่ายังมีกฎหมายหลายฉบับที่ยังมีปัญหาทั้งกฎหมายประกันสังคม กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับงานบ้าน รวมถึงอนุสัญญาต่างๆที่เกี่ยวข้อง ขณะที่รัฐธรรมนูญที่กำลังดำเนินการแก้ไขก็ยังไม่แน่ชัดว่าจะนำไปสู่ผลในทางบวกหรือลบ และจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการลดช่องว่างทางสังคมได้หรือไม่ เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด
นางสุนี กล่าวว่า จะต้องสร้างองค์ความรู้ที่ชัดเจน และมีองค์ความรู้ที่สร้างขึ้นเพื่อต่อสู้กับนโยบายนักการเมือง ให้สังคมยอมรับในความชอบธรรม อย่าปล่อยให้คนจำนวนหนึ่งใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการริดรอนสิทธิของประชาชน ภาคประชาชนจึงต้องมีความเข้มแข็งเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปกฎหมายด้านแรงงานอย่างจริงจัง โดยเรื่องเร่งด่วนที่คปก.จะดำเนินการคือ การเร่งสร้างฐานสวัสดิการสังคมที่มีกฎหมายเอื้ออำนวย และส่งเสริมประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการปฏิรูปกฎหมาย
นายทิม เดอ เมเยอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐานแรงงาน องค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) กล่าวอภิปราย “อนุสัญญา 87/98 และกลไกด้านแรงงานสัมพันธ์”ว่า ความไม่เท่าเทียมกันทำให้การรวมตัวในสังคมน้อยลง และสะท้อนถึงความล้มเหลวและการไร้ธรรมาภิบาลของสังคม ขณะเดียวกันก็มองว่าความไม่เท่าเทียมกันดังกล่าวจะนำมาสู่นโยบายประชานิยมต่างๆ จึงมีข้อเสนอว่า นโยบายค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำและการเพิ่มผลิตภาพทั้งสององค์ประกอบจะต้องไปด้วยกัน เพราะแม้ว่านโยบายค่าจ้างขั้นต่ำจะเป็นผลประโยชน์ของแรงงาน แต่นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำอย่างเดียวไม่สามารถทดแทนสิทธิในการต่อรองได้
นายทิม กล่าวว่า องค์การแรงงานระหว่างประเทศค่อนข้างให้ความสำคัญกับความยุติธรรมในสังคมโดยจะต้องมีเสรีภาพอย่างทั่วถึงจึงต้องหากลไกต่างๆมารองรับเพื่อให้ความยุติธรรมเกิดขึ้นได้จริง ทั้งนี้ถ้ามองความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างคงต้องหาจุดที่จะประนีประนอมกันได้ ซึ่งอนุสัญญา87/98 ได้ระบุไว้ และล่าสุดมีรายงานของธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย(เอดีบี) รายงานว่าภูมิภาคอินเดียและจีนยังมีความไม่เท่าเทียมกันอยู่มาก แม้ประเทศไทยเมื่อเทียบกับอินเดียและจีนแล้วจะไม่ถือว่าไม่อยู่ในระดับที่รุนแรงนัก แต่เอดีบีมองว่า ความไม่เท่าเทียมกันเป็นเรื่องที่อันตรายสำหรับประเทศไทย
นายสมชาย วงษ์ทอง รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า อนุสัญญา87/98 จะมีผลเมื่อมีการรับรองแล้วและทุกส่วนจะต้องแก้กฎหมายให้สอดคล้องกับอนุสัญญา87/98 โดยคาดว่าเร็วๆนี้กระทรวงแรงงานจะประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความเห็นเพิ่มเติมในวันที่ 8 พฤษภาคมนี้ก่อนที่จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาต่อไป อย่างไรก็ตามส่วนตัวคิดว่ากระทรวงแรงงานได้มีมติและความเห็นไว้แล้วว่า ประเทศไทยมีความพร้อมและเห็นควรให้รับรองอนุสัญญาดังกล่าว ก็ไม่น่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลง เพียงแต่ให้เกิดความรอบคอบอีกครั้งหนึ่งซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาไม่นาน ส่วนที่มีข้อสังเกตว่าการดำเนินการรับฟังความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้งเป็นกระบวนการที่ถอยหลังหรือไม่นั้น ข้อเท็จจริงคือ เป็นการเปิดโอกาสให้หน่วยงานต่างๆให้ความเห็นและเป็นการดำเนินการที่รอบคอบ
นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า โดยกระบวนการไม่จำเป็นต้องให้หน่วยงานใดไปพิจารณาให้ความเห็นอีกครั้ง ซึ่งมีข้อสังเกตว่า หากวันที่ 8 พฤษภาคมนี้ทุกกระทรวงไม่เห็นด้วยจะทำอย่างไร คิดว่าการรับรองอนุสัญญา87/98 ไม่ได้เป็นสิ่งที่เสียหาย จึงคิดว่าการเคลื่อนไหวหลังจากนี้คงไม่มีการขับเคลื่อนและรณรงค์เฉพาะเครือข่ายแรงงานในกรุงเทพฯอย่างเดียวแล้วอาจจะต้องมีการรณรงค์ให้มีการรับรองอนุสัญญา87/98 กระจายไปยังภูมิภาคต่างๆด้วย
นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กล่าวว่า ประเทศไทยอยูในฐานะประเทศผู้ร่วมก่อตั้งอนุสัญญา87/98 ขณะที่ฝ่ายแรงงานได้ใช้งบประมาณเพื่อดำเนินการเคลื่อนไหวให้มีการรับรองไปแล้ว 100 ล้านบาทแต่รัฐยังไม่มีการให้สัตยาบันแต่อย่างใด ดังนั้นปัญหาของการรับรองส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับการเมือง แม้ส่วนตัวไม่เชื่อว่าอนุสัญญา87/98 จะทำให้ชีวิตแรงงานดีขึ้นแต่อนุสัญญานี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้เกิดการรวมตัว และเกิดพลังอำนาจในการต่อรองของแรงงาน โดยสถานการณ์ของไทยที่ผ่านมาผู้นำแรงงาน และสมาชิกสหภาพมักจะถูกกลั่นแกล้งด้วยการกระทำที่ไม่เป็นธรรม ถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ไม่มีเสรีภาพในการรวมตัวได้จริงและถูกกีดกันแบ่งแยกกำลังจากภาครัฐ
“จากการศึกษาพบว่า ประเทศที่รับรองอนุสัญญา87/98 จะอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่รัฐบาลจะต้องมีความเข้มแข็งหรือมีพรรคแรงงานในรัฐบาล จึงเห็นว่าสิทธิเสรีภาพตามอนุสัญญา87/98 คือพลังอำนาจต่อรองแต่กระบวนการรับรองมีความสลับซับซ้อนเพื่อกันไม่ให้ลงสัตยาบัน ส่วนตัวเชื่อว่ามีหน่วยงานที่ไม่เห็นด้วยกับการรับรองอนุสัญญา87/98 โดยเฉพาะสภาความมั่นคงแห่งชาติซึ่งเป็นหน่วยงานเดียวที่มีความกังวลเรื่องการรวมตัวของแรงงาน จึงไม่เชื่อว่ากระบวนการรับรองต่อจากนี้จะราบรื่นอย่างที่หน่วยงานรัฐให้ความเชื่อมั่น” นายสาวิทย์ กล่าว
นายชฤทธิ์ มีสิทธิ์ นักวิชาการกฎหมายแรงงาน กล่าวว่า การรับรองอนุสัญญา87/98 ควรจะพิจารณาบนพื้นฐานของคุณค่าการผลิต หลักการของILO จะเกิดขึ้นไม่ได้หากปราศจากการรวมตัว ส่วนตัวเห็นว่าสถานการณ์ในประเทศไทยพร้อมที่จะให้สัตยาบัน เพราะรัฐไม่มีกำลังคนและเครื่องมือ ไม่มีการตรวจสอบและดูแลแรงงานที่ดีพอ แต่อนุสัญญา87/98 จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่จะทำให้สิ่งดังกล่าวเกิดขึ้น จึงไม่อยากให้มองการรวมกลุ่มของแรงงานในด้านไม่ดีเพียงด้านเดียว
นายชฤทธิ์ กล่าวว่า หากรัฐไม่ให้สัตยาบันในอนุสัญญาดังกล่าว กลุ่มแรงงานอาจจะกระบวนการระหว่างประเทศแทน ทั้งนี้หากพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานปัจจุบันที่มีอยู่ 14 ฉบับค่อนข้างล่าหลังและไม่สอดคล้องกับอนุสัญญา87/98 จึงมองว่าอนุสัญญา87/98 เป็นการเปลี่ยนแนวคิดของแรงงานสัมพันธ์ คือ กรอบนิยาม ความสัมพันธ์ของนายจ้างและลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานค่อนข้างแคบ และระบบการเจรจาต่อรองต้องให้ครอบคลุมทั้งด้านสวัสดิการความปลอดภัย และความมั่นคงของชีวิต อนุสัญญา87/98 จึงเป็นการให้สิทธิและเสรีภาพทั้งนายจ้างและลูกจ้าง
นายชัยสิทธิ์ สุขสมบูรณ์ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า มิติการบังคับใช้กฎหมายในปัจจุบันมีสองรูปแบบ คือ การบังคับใช้เพื่อควบคุม และการบังคับใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการร่างพรบ.แรงงานสัมพันธ์ฉบับใหม่ โดยตั้งอยู่บนหลักการที่สอดคล้องกับอนุสัญญา87/98 เช่น เปลี่ยนความสัมพันธ์นายจ้างลูกจ้างเป็นแบบหุ้นส่วนทางสังคม การเปลี่ยนนิยามนายจ้างลูกจ้าง โดยนิยามลูกจ้างเป็นคนทำงาน และนิยามนายจ้างเป็นผู้จ้างเพื่อให้ครอบคลุมแรงงานทุกกลุ่ม อย่างไรก็ตามควรมีกระบวนการแรงงานสัมพันธ์เพื่อความเป็นธรรม รวมถึงการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรแรงงานให้มีความเข้มแข็งมากขึ้นด้วย
ติดต่อ:
สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย : OFFICE OF LAW REFORM COMMISSION OF THAILAND อาคารซอฟต์แวร์ ปาร์ค ชั้น๑๙ ตำบลคลองเกลือ อำเภอปากเกล็ด จังหวัดนนทบุรี ๑๑๑๒๐ โทร.๐ ๒๕๐๒ ๖๐๐๐ ต่อ ๘๒๗๘ โทรสาร. ๐ ๒๕๐๒ ๖๐๐๐ ต่อ ๘๒๗๔