กรุงเทพฯ--25 พ.ค.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศยืนยันอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ในระดับเดิมที่ "AA" โดยสะท้อนความสำคัญของบริษัทที่มีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ การเป็นผู้ให้บริการควบคุมการจราจรทางอากาศเพียงรายเดียวในประเทศไทย และความต้องการบริการขนส่งทางอากาศในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิกในระยะปานกลางและระยะยาวที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นแม้ว่าจะได้รับผลกระทบระยะสั้นจากโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (ซาร์ส) และการก่อการร้ายก็ตาม นอกจากนี้ การสนับสนุนจากรัฐบาลยังเป็นปัจจัยหลักในการเพิ่มความน่าเชื่อถือของบริษัท ทว่าจุดเด่นดังกล่าวถูกลดทอนด้วยความเสี่ยงจากอัตราส่วนเงินกู้ยืมของบริษัทที่สูง และคาดว่าจะสูงยิ่งขึ้นจากความต้องการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในอนาคต
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทยเป็นรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลถือหุ้น 91% รัฐบาลไทยในฐานะสมาชิกองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ( ICAO) ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบให้ความปลอดภัยในการขนส่งทางอากาศเหนือน่านฟ้าประเทศไทยได้มอบหมายให้บริษัทเป็นผู้เดียวที่ให้บริการควบคุมการจราจรทางอากาศและการสื่อสารการเดินอากาศของประเทศซึ่งถือเป็นบริการหลักในการให้ความปลอดภัยในการบริการขนส่งทางอากาศ โดยมีพื้นที่รับผิดชอบในเขตแถลงข่าวการบินกรุงเทพฯ และบริเวณทะเลจีนใต้ บริษัทได้ปฏิบัติการควบคุมจราจรทางอากาศตามมาตรฐานของ ICAO ด้วยความปลอดภัยมาโดยตลอด รัฐบาลเป็นผู้กำกับดูแลการดำเนินงานของบริษัท ส่วนงบประมาณต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการของบริษัทซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วยผู้แทนจากกระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม และกองทัพอากาศ โดยคณะกรรมการของบริษัทจำนวน 9 คนจาก 11 คนได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐบาล ส่วนอีก 2 คนเป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นที่เป็นสายการบินสมาชิก ในขณะที่อัตราค่าบริการของบริษัทต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการการบินพลเรือน และงบประมาณการลงทุนต้องได้รับอนุมัติจากกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า หลังจากที่ปริมาณจราจรทางอากาศลดลงอย่างมากในปี 2544 และยังคงซบเซาในระหว่างปี 2545 และปี 2546 ล่าสุดของ ICAO ประมาณการว่าปริมาณการเดินทางของผู้โดยสารทางอากาศจะเพิ่มขึ้น 4.4% ในปี 2547 และจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 6.3% ในปี 2548 ปริมาณการเดินทางของผู้โดยสารในรูปของจำนวนผู้โดยสาร-กิโลเมตรในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิกจะขยายตัว 4.9% ในปี 2547 และ 6.8% ในปี 2548 หลังจากลดลง 0.8% ในปี 2546 เพราะสถานการณ์โรคซาร์ส นอกจากนี้ สมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ยังคาดการณ์ว่าปริมาณการเดินทางของผู้โดยสารทางอากาศจะเติบโตในช่วงปี 2546-2547 โดยจะขยายตัวประมาณ 7% ในปี 2547 ส่วนปริมาณจราจรทางอากาศในความรับผิดชอบของบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทยลดลงอย่างมากจนถึงระดับ 8% ในปีงบประมาณ 2545 สาเหตุหลักเนื่องมาจากบริษัทได้คืนพื้นที่ความรับผิดชอบเหนือน่านฟ้ากัมพูชาให้แก่ประเทศกัมพูชา อย่างไรก็ตาม ในปี 2546 ปริมาณการจราจรทางอากาศในความรับผิดชอบของบริษัทลดลงเพียงเล็กน้อยที่ 1% แม้จะมีผลกระทบจากสงครามในประเทศอิรักและวิกฤตการณ์โรคซาร์ส ในขณะที่ปริมาณจราจรทางอากาศที่ขึ้นและลงในบริเวณท่าอากาศยานทั่วประเทศโดยรวมในปีงบประมาณ 2546 เพิ่มขึ้น 4% จากที่เพิ่มขึ้น 2% ในปี 2545
ตามสัญญาการถือหุ้น บริษัทสามารถเรียกเก็บค่าบริการส่วนขาดจากการมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่ารายได้จากสายการบินสมาชิกซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นได้ ในทางกลับกัน บริษัทจะคืนเงินแก่สายการบินสมาชิกหากบริษัทมีรายได้เกินกว่าค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น บริษัทเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินลงทุนอีกเป็นจำนวนมากในช่วง 2 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อสร้างหอควบคุมการบินและติดตั้งระบบควบคุมจราจรทางอากาศที่ท่าอากาศยานสุวรรรณภูมิ ดังนั้น จึงคาดว่าอัตราส่วนเงินกู้ยืมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะสูงขึ้นกว่า 80% ในปี 2547 และกระแสเงินสดจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมจะลดลง ทั้งนี้ ปริมาณการกู้ยืมที่สูงและกระแสเงินสดที่มีไม่มากนักเป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถในการบริหารการเงินของบริษัท แม้ว่าบริษัทจะมีสถานะทางการเงินที่ไม่ความแข็งแกร่งมากนัก แต่อันดับเครดิตของบริษัทก็ยังอยู่ในระดับสูงเนื่องมาจากการสนับสนุนของรัฐบาลที่คาดว่าจะยังคงมีต่อไปอย่างต่อเนื่อง ทริสเรทติ้งกล่าว--จบ--
-นท-