กรุงเทพฯ--29 เม.ย.--ซีเกท เทคโนโลยี
เมื่อคุณเปิดโลกทัศน์ให้นักเรียนหญิงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวนกว่า 100 คน ได้รู้จักวงจรไฟฟ้า เซลล์แสงอาทิตย์และสิ่งอื่น ๆ สิ่งที่พวกเขาจะได้รับก็คือความสนุกสนานเพลิดเพลิน เมื่อเร็วๆนี้ นักเรียนหญิงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 2-3 จำนวน 116 คน ในกรุงเทพฯ จังหวัดปทุมธานีและจังหวัดสมุทรปราการเข้าร่วมโครงการอีวายเอช: ขยายขอบข่ายความรู้สู่ความคิดวิทยาศาสตร์ ประจำปี พ.ศ. 2555 โครงการนี้จัดขึ้นด้วยความร่วมมือระหว่างบริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมีวัตถุประสงค์ในการสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงสนใจศึกษาต่อและประกอบอาชีพในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์
นักเรียนหญิงเหล่านี้เดินทางมายังคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์เป็นเวลาหนึ่งวัน
นักเรียนหญิงแต่ละคนเข้าร่วมเวิร์คช็อปในหัวข้อที่แตกต่างกันออกไป จัดโดยนักวิทยาศาสตร์หญิง แพทย์และอาสาสมัคร จากเนคเทค ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักโภชนาการจากโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ และพนักงานบริษัทซีเกท ในหัวข้อดังต่อไปนี้
- ความน่าจะเป็น...คณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวัน
- ชั่ง ตวง วัด กับการนำไปใช้งานในชีวิตประจำวัน
- ตุ๊กตาน้อยเตือนไฟ
- เจลแอลกอฮอล์ขจัดเชื้อร้ายรอบตัว
- พบคุณหมอ Happy & Healthy กินอย่างไรไร้โรคา
- Save The World: ลดภาวะโลกร้อนด้วยมือเรา
- ขจัดขยะอย่างไรช่วยลดโลกร้อน
โครงการอีวายเอช: ขยายขอบข่ายความรู้สู่ความคิดวิทยาศาสตร์ ประจำปี พ.ศ. 2555 เริ่มด้วยการบรรยายพิเศษ โดยรองศาสตราจารย์ ดร. สุชนา ชวนิตย์ ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์หญิงคนแรกของไทยที่เข้าร่วมทีมสำรวจทวีปแอนตาร์กติกเพื่อศึกษาผลกระทบของภาวะโลกร้อน รศ.ดร. สุชนาได้รับคัดเลือกจากสถาบันวิจัยขั้วโลกแห่งชาติ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อร่วมเดินทางไปกับคณะสำรวจทวีปแอนตาร์กติกญี่ปุ่น รุ่นที่ 51 ณ สถานีวิจัยโชวะ
รศ. ดร. สุชนาเชื่อว่าเราไม่สามารถหยุดยั้งภาวะโลกร้อนได้ แต่เราสามารถชะลอการเกิดภาวะโลกร้อนได้โดย ความร่วมมือของพวกเราทุกคนในแต่ละวัน
“นี่เป็นโอกาสอันดีที่จะแสดงให้นักเรียนหญิงเห็นว่าวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์คืออะไร” ดร. พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าว “โอกาสในการเรียนรู้จากโครงการอีวายเอช: ขยายขอบข่ายความรู้สู่ความคิดวิทยาศาสตร์ ปีนี้ จึงมีความสำคัญต่อความสำเร็จของพวกเขาในอนาคต ในโครงการนี้ เราเปิดโอกาสให้นักเรียนหญิงได้เสริมสร้างความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาเหล่านี้ตลอดจนทักษะต่าง ๆ เพื่อให้พวกเขาได้ตระหนักถึงศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ เป้าหมายของเราคือการจุดประกายให้พวกเขาเรียนรู้นอกห้องเรียนและประกอบอาชีพในสาขาวิชาที่มีความน่าสนใจเหล่านี้”
เวิร์คช็อป “ท่องโลกกว้างด้วยปลายนิ้ว” เปิดโอกาสให้นักเรียนหญิงได้เห็นโลกกว้างจากภาพถ่ายดาวเทียมในกูเกิล เอิร์ธ (Google Earth) ภาพเหล่านี้แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงในส่วนต่าง ๆ ของโลกด้วยรูปภาพที่มีความคมชัดสูง
“อีวายเอช: ขยายขอบข่ายความรู้สู่ความคิดวิทยาศาสตร์ ช่วยตอบสนองความต้องการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ของนักเรียนหญิง เปิดโอกาสให้พวกเขาได้เรียนรู้ศาสตร์ต่าง ๆ โดยการปฏิบัติจริง” รองศาสตราจารย์ ดร. ธัญญะ เกียรติวัฒน์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าว
นางเพียงฤทัย ศิวารัตน์ รองประธานฝ่ายปฏิบัติการ โรงงานโคราช บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “เราคาดว่าอนาคตนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยหญิงจะเป็นผู้นำในการพัฒนานวัตกรรมและการค้นพบสิ่งใหม่ ๆ
โครงการอีวายเอช เปิดโอกาสให้เยาวชนหญิงเหล่านี้ทราบว่าโลกของนวัตกรรมเป็นอย่างไร และเราหวังว่าจะสร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขาประกอบอาชีพในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อไป”
นางสาวดวงพร ตันตระบัณฑิตย์ พนักงานแผนกเทคโนโลยีสารสนเทศบริษัทซีเกท ซึ่งเป็นอาสาสมัครของโครงการกล่าวว่า “ดิฉันรู้สึกยินดีที่ได้มาร่วมเป็นอาสาสมัครของโครงการอีวายเอช ซึ่งเป็นโครงการที่สร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนหญิงสนใจด้านวิทยาศาสตร์และต่อยอดไปในการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจนถึงระดับอุดมศึกษา นอกจากนี้ เนื่องจากดิฉันจบการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ จึงอยากให้น้อง ๆ เห็นความสำคัญของงานทางด้านวิทยาศาสตร์ ในการจัดโครงการอีวายเอชในปีหน้า ดิฉันสนใจที่จะเข้าร่วมเป็นหนึ่งในอาสาสมัครด้วย”
ด.ญ. ศุขจิภา ศรีภิรมย์ หรือ “น้องมายด์” นักเรียนโรงเรียนนวมินทราชินูทิศ เตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ซึ่งเป็นหนึ่งในนักเรียนหญิงที่เข้าร่วมโครงการอีวายเอช กล่าวว่า “โตขึ้นดิฉันอยากเป็นหมอเพราะอยากรักษาคนอื่น และตัวดิฉันเองก็ไม่สบายบ่อยด้วย การเป็นหมอจึงน่าจะทำให้ดิฉันดูแลสุขภาพของตนเองได้ดียิ่งขึ้น การเข้าร่วมโครงการอีวายเอช: ขยายขอบข่ายความรู้สู่ความคิดวิทยาศาสตร์ ช่วยเปิดโลกทัศน์ให้ดิฉันได้ความรู้ใหม่ ๆ ที่ไม่เคยรู้มาก่อน ตัวอย่างเช่น จากการฟังบรรยายพิเศษ เรื่องทวีปแอนตาร์กติก ทำให้ทราบว่าเป็นพื้นที่ที่แห้งแล้งและมีสัตว์เพียงบางชนิดเท่านั้นที่สามารถอาศัยอยู่ได้ การเข้าร่วมกิจกรรมด้านคณิตศาสตร์เรื่อง “ความน่าจะเป็น...คณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวัน” ทำให้ทราบว่าดิฉันเรียนรู้และสามารถคำนวณสิ่งต่าง ๆ ได้ง่าย ส่วนกิจกรรมท่องโลกกว้างด้วยปลายนิ้ว ทำให้ดิฉันสามารถค้นหาสถานที่ต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วและสะดวกยิ่งขึ้น”
ข้อมูลเกี่ยวกับเนคเทค
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ( สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มุ่งเน้นงานทางด้านการวิจัย พัฒนา ออกแบบ และวิศวกรรม (Research Development Design and Engineering: RDDE) ซึ่งถือว่าเป็นภารกิจหลักที่สำคัญที่สุดของเนคเทค นอกจากนี้ ศูนย์ฯ ยังมีภาคกิจทางด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านนโยบาย กฏหมาย และโครงสร้างพื้นฐานทาง ICT ซึ่งเนคเทคได้ดำเนินภารกิจหลักนี้มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งองค์กรในปี พ.ศ. 2529 มาจนถึงปัจจุบัน มีผลงานจากโครงการวิจัยต่างๆนำไปถ่ายทอดให้กับผู้ใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆเป็นจำนวนมาก ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.nectec.or.th
ข้อมูลเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นมหาวิทยาลัยที่มีความเป็นเลิศทางวิชาการระดับนานาชาติ มีผลงานเป็นที่ยอมรับในมาตรฐานสากล เป็นแกนนำในการระดมภูมิปัญญา เพื่อพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และให้มีอำนาจต่อรองในประชาคมโลก
ข้อมูลเกี่ยวกับซีเกท
ซีเกทคือผู้นำทั่วโลกในด้านฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์และโซลูชั่นสำหรับจัดเก็บข้อมูล ท่านสามารถพบข้อมูลเกี่ยวกับซีเกทได้ที่ http://www.seagate.com