กรุงเทพฯ--29 เม.ย.--อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์
ราชบุรีโฮลดิ้ง เปิดโครงการ “รักษ์โลก...ลดโลกร้อนด้วยสาหร่าย”ชูนวัตกรรมลดโลกร้อนด้วยการใช้ CO2 เหลือทิ้งเลี้ยงสาหร่ายพร้อมเปิด “ศูนย์การเรียนรู้ลดโลกร้อน” ขยายแนวคิดและจิตสำนึกรักษ์โลก
บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เปิดโครงการ “รักษ์โลก...ลดโลกร้อนด้วยสาหร่าย” นวัตกรรมใหม่ในการใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตไฟฟ้าเพาะเลี้ยงสาหร่าย สไปรูลิน่า มุ่งหวังช่วยลดภาวะโลกร้อน พร้อมจัดตั้ง “ศูนย์การเรียนรู้ลดโลกร้อน” เพื่อเป็นแหล่งศึกษาและเผยแพร่ แนวพระราชดำริที่เกี่ยวกับการลดภาวะโลกร้อน โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ ภายใต้หัวข้อ "รวมพลังทำความดีถวายพ่อ" ของกระทรวงพลังงาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ให้เกียรติเป็นประธานพิธีเปิดโครงการฯ และศูนย์เรียนรู้ ณ โรงไฟฟ้าราชบุรี จังหวัดราชบุรี
นายนพพล มิลินทางกูร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในฐานะผู้ผลิตไฟฟ้าชั้นนำของประเทศ บริษัทฯ มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัย ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาคุณภาพของสิ่งแวดล้อม ตามพันธกิจและนโยบายด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของบริษัทฯ จึงได้มีเจตนารมณ์อันแน่วแน่และความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะปรับปรุงกระบวนการ รวมทั้งคิดค้นวิธีการและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะช่วยบรรเทาภาวะโลกร้อน และได้จัดทำ โครงการ “รักษ์โลก...ลดโลกร้อนด้วยสาหร่าย เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔” เพื่อร่วมแสดงความจงรักภักดีและน้อมรำลึกใน พระมหากรุณาธิคุณแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงห่วงใยสภาวะแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติของแผ่นดินมาโดยตลอด
“โครงการ “รักษ์โลก...ลดโลกร้อนด้วยสาหร่าย” มุ่งเน้นการลดผลกระทบจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดในกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เหลือทิ้งจากโรงไฟฟ้าราชบุรีมาใช้เพาะเลี้ยงสาหร่าย สไปรูลิน่า โดยมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมเป็นที่ปรึกษาและปฏิบัติการเพาะเลี้ยงสาหร่าย พร้อมทั้งวิเคราะห์และประเมินผลการดำเนินงานของโครงการฯ”
ผลจากการเพาะเลี้ยงสาหร่ายพบว่า สาหร่ายสไปรูลิน่า 1 ไร่จะช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 9.59 ตัน/ไร่/ปี หรือหากเปรียบเทียบกับการปลูกต้นไม้ในพื้นที่ขนาดเดียวกัน สาหร่ายสไปรูลิน่าสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าต้นไม้ถึง 9 เท่า นอกจากนี้ผลการตรวจสอบและรับรองคุณภาพ โดย กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พบว่าสาหร่าย สไปรูลิน่าที่เพาะเลี้ยงจากบ่อภายในโรงไฟฟ้าราชบุรีมีความปลอดภัย สามารถนำไปใช้เพื่อประโยชน์ในการอุปโภคและบริโภคได้ เช่น ผสมในอาหาร แปรรูปเป็นอาหารสัตว์โปรตีนสูง และผลิตเครื่องสำอาง เป็นต้น
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้จัดสร้าง “ศูนย์การเรียนรู้ลดโลกร้อน” ขึ้น ณ โรงไฟฟ้าราชบุรี เพื่อเป็นแหล่งการศึกษาและเผยแพร่แนวพระราชดำริเกี่ยวกับแนวทางการลดโลกร้อน ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมพลังงานทดแทนรูปแบบต่างๆ สำหรับภายในศูนย์เรียนรู้ฯ มีรูปแบบเป็นอินเทอร์แอคทีฟ เพื่อกระตุ้นความสนใจชวนให้ผู้ชมติดตามและเกิดความเข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น ศูนย์การเรียนรู้ลดโลกร้อนฯ แห่งนี้ แบ่งออกเป็น 4 โซน คือ
โซน A ตามรอยพระบาท รักษ์พลังงานทดแทน: นิทรรศการที่นำเสนอแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและโครงการพลังงานทดแทนในด้านต่างๆ อันเป็นแนวทางหนึ่งในการช่วยลดภาวะโลกร้อน
โซน B ห้องสมุดชุมชนพากเพียร: ห้องสมุดแห่งการเรียนรู้ เยาวชนและประชาชนสามารถค้นคว้าหาความรู้เกี่ยวกับภาวะโลกร้อน และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจากหนังสือ ภายใต้บรรยากาศที่สะดวกสบายและส่งเสริมการอ่านอย่างเพลิดเพลิน
โซน C รักษ์โลก ลดโลกร้อนด้วยสาหร่าย: ห้องที่บอกเล่าเรื่องราวการเพาะเลี้ยงสาหร่ายสไปรูลิน่าด้วย CO2 เหลือทิ้งของโรงไฟฟ้าราชบุรี ซึ่งเป็นนวัตกรรมการผลิตสาหร่ายที่ช่วยโลกดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และเพิ่มอากาศที่เป็นมิตรให้กับสิ่งแวดล้อม
โซน D Learn & Play เล่นเพลิน: กิจกรรมเกมเรียนรู้เกี่ยวกับข้อมูลพลังงานทดแทนที่สร้างความสนุกสนานและให้สาระความรู้
“โครงการ“รักษ์โลก...ลดโลกร้อนด้วยสาหร่าย” และ “ศูนย์การเรียนรู้ลดโลกร้อน” เป็นส่วนหนึ่งของ การดำเนินงานความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของบริษัทฯ ที่มุ่งเน้นการดูแลและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความสมดุลทางธรรมชาติอย่างยั่งยืน อันเป็นหนทางหนึ่งในการช่วยลดภาวะโลกร้อน บริษัทฯ ตระหนักเสมอว่า การดูแลรับผิดชอบต่อชุมชนและสังคมในพื้นที่เป็นหน้าที่อันสำคัญ และเชื่อว่าหากทุกฝ่ายร่วมมือกันอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อมของเรา ปัญหาภาวะโลกร้อนจะลดลง เพื่อสร้างสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดีเพื่อความสุขของลูกหลานในอนาคตข้างหน้า” นายนพพล กล่าวสรุป